ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ลงพื้นที่สำรวจย่านธุรกิจการค้าสำคัญที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย ได้แก่ ย่านถนนนิมมานเหมินท์ ย่านถนนช้างคลาน ย่านถนนท่าแพ ย่านถนนลอยเคราะห์ และย่านเขตคูเมืองเชียงใหม่ พบว่า ส่วนใหญ่ห้างร้านปิดให้บริการ และบางส่วนเริ่มเห็นการติดป้ายประกาศเซ้งกิจการ ขาย และให้เช่าจำนวนมากนับเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
สำหรับธุรกิจส่วนใหญ่ที่มีการติดป้ายเซ้ง ขายกิจการ และปิดกิจการ อาทิ ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านบุฟเฟต์หมูกระทะ โรงแรม-โฮสเทล โดยเฉพาะร้านหลายแห่งที่อาศัยรายได้จากกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนเป็นลูกค้ากลุ่มหลัก ซึ่งสะท้อนได้ถึงสถานการณ์ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของธุรกิจในพื้นที่ที่พึ่งพาการท่องเที่ยวมากกว่า 60-70% ของมูลค่าเศรษฐกิจมวลรวมในพื้นที่อันจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเป็นโดมิโน
โดยเฉพาะย่านถนนนิมมานเหมินท์ ซึ่งถือเป็นย่านเศรษฐกิจและท่องเที่ยวก็พบว่า มีร้านอาหารที่รองรับชาวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ติดป้ายเซ้งกิจการ และมีร้านค้าหลายโซนติดป้ายว่างให้เช่า ขณะที่ย่านถนนลอยเคราะห์ ซึ่งเป็นย่านที่เคยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติคึกคักมากที่สุดอีกย่านหนึ่งก็พบว่าตลอดถนนทั้งสายร้านค้าปิดให้บริการเป็นส่วนใหญ่ และติดป้ายขาย-ให้เช่าจำนวนหลายร้าน ย่านถนนท่าแพ ก็มีร้านอาหารติดป้ายเซ้งเช่นกัน รวมถึงย่านไนท์บาซาร์ ร้านค้าปิดร้านกันเป็นส่วนใหญ่ และบางร้านติดป้ายให้เช่า เป็นต้น
600 ร้านอาหารปิดถาวร
นายธนิต ชุมแสง นายกสมาคมร้านอาหารและสถานบันเทิงเชียงใหม่ และเจ้าของร้านอาหารเดอะกู๊ดวิว วิลเลจ เชียงใหม่ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ร้านอาหารในจังหวัดเชียงใหม่มีจำนวนมากกว่า 12,000 แห่ง ล่าสุดพบว่าเริ่มมีการติดป้ายเซ้งกิจการ คาดว่าขณะนี้มีร้านอาหารที่ปิดกิจการถาวรแล้ว ประมาณ 5%
ทั้งนี้ กรณีของร้านอาหารเดอะกู๊ดวิว วิลเลจ ซึ่งในช่วงระยะเวลา 10 วัน หลังจากเปิดให้บริการอีกครั้งพบว่า ลูกค้าเข้ามาใช้บริการค่อนข้างน้อยมาก โดยยอดขายลดลงอย่างมากราว20% จากยอดขายปกติ กล่าวคือ ยอดขายปกติเดิมก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 อยู่ที่ราว 200,000 บาทต่อวัน แต่ตอนนี้ยอดขายอยู่ที่ราว 40,000 บาทต่อวันเท่านั้น
โดยทางร้านได้ยกระดับด้านสุขอนามัยภายในร้านทั้งหมดอย่างเข้มข้น ตามมาตรฐานสาธารณสุขทุกด้าน แต่ลูกค้ายังมีสัดส่วนที่น้อยมาก ประกอบกับต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น เมื่อของขายได้น้อย ทุกวันนี้จึงไม่คุ้มทุน แต่จะเปิดให้บริการต่อไปเพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจมีการหมุนเวียน
Q1 รายได้ท่องเที่ยวสูญหมื่น ล.
นายพัลลภ แซ่จิว รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่พึ่งพิงรายได้จากภาคบริการท่องเที่ยวถึง 65% ในปีที่ผ่านมา (2562) มีนักท่องเที่ยวเดินทางมายังจังหวัดเชียงใหม่มากกว่า 10 ล้านคน เป็นนักท่องเที่ยวคนไทย 70% และนักท่องเที่ยวต่างชาติ 30% ซึ่งในสัดส่วน 30% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ มีสัดส่วนนักท่องเที่ยวจีนถึง 30%
ล่าสุด ได้มีการประเมินว่า ในช่วงไตรมาสแรกปี 2563 ภาคการท่องเที่ยวของเชียงใหม่สูญเสียรายได้ไปแล้วราว 10,650 ล้านบาท จากยอดรายได้ปกติของช่วงไตรมาสแรก จะอยู่ที่ราว 30,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ จากสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 พบว่าโรงแรมในจังหวัดเชียงใหม่ที่มีจำนวนราว 60,000 ห้อง ต้องปิดกิจการชั่วคราว ไกด์ 12,000 คน ต้องว่างงาน ธุรกิจรถเช่ามีจำนวนกว่า 100 แห่ง มีรถเช่าราว 2,500 คัน มีร้านอาหารจำนวนราว 12,800 แห่ง ร้านขายของที่ระลึกมีราว 10,000 แห่ง ธุรกิจสปาได้รายงานตัวเลขของการสูญเสียรายได้ราว 1,500 ล้านบาท และปางช้างที่มีกว่า 900 เชือก ในจังหวัดเชียงใหม่ รายได้หายไปราว 3,000-4,000 ล้านบาท
นายพัลลภกล่าวว่า ผู้ประกอบการในจังหวัดเชียงใหม่ได้เตรียมความพร้อมสำหรับวันที่รัฐบาลจะมีการผ่อนคลายมาตรการ โดยทุกภาคธุรกิจจะร่วมมือกับสาธารณสุข ในการดำเนินมาตรการเข้มข้นในการป้องกันด้านสุขอนามัย และเตรียมพร้อมที่จะยกระดับเมืองในช่วงไตรมาสที่ 4 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้เข้าสู่ช่วงไตรมาสที่ 2 แล้ว จากปกติยอดรายได้การท่องเที่ยวของเชียงใหม่ ในไตรมาสที่ 2 จะอยู่ที่ราว 20,000 ล้านบาท ซึ่งรายได้ 20,000 ล้านบาท กำลังจะหายไปหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ทั้งนี้ โดยปกติรายได้ด้านการท่องเที่ยวของเชียงใหม่เฉลี่ยอยู่ที่ราว 180,000 ล้านบาท
ร้านอาหาร-กาแฟเลิกกิจการ
นายเสกสรร อภิชัย เจ้าของโฮสเทล (Pause Hostel) ย่านถนนนิมมานเหมินท์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้เปิดให้บริการ Pause Hostel มาเป็นเวลา 5 ปี เป็นโฮสเทลขนาด 2 อาคารพาณิชย์ ขนาด 10 ห้อง จำนวน 50 เตียง โดยตัดสินใจเลิกกิจการ และเพิ่งประกาศเซ้งกิจการไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากในช่วง 1-2 ปีมานี้ ธุรกิจโรงแรมประเภทโฮสเทลเกิดขึ้นจำนวนมาก การแข่งขันค่อนข้างสูง ในตลาดมีซัพพลายมากกว่าดีมานด์ ซึ่งลูกค้ากลุ่มหลักคือชาวต่างชาติและคนไทยบางส่วน มีอัตราการเข้าพักลดลงอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเจอกับสถานการณ์โควิด-19 นักท่องเที่ยวหายไป 100% ทำให้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตัดสินใจง่ายขึ้นในการเลิกกิจการ เพราะไม่สามารถแบกภาระต้นทุนต่อไปได้ และมองว่าสถานการณ์โควิด-19 จะต้องใช้เวลาอีกค่อนข้างนานกว่าที่ทุกอย่างจะกลับมาเหมือนเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการท่องเที่ยว ซึ่งไม่สามารถคาดเดาได้ว่าฐานลูกค้านักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาเหมือนเดิมหรือไม่
ด้านเจ้าของร้านบุฟเฟต์หมูกระทะ “ซุ้มสบาย” ย่านถนนทิพย์เนตร ตำบลหายยา กล่าวว่า ทำกิจการร้านบุฟเฟต์หมูกระทะซุ้มสบาย ในจังหวัดเชียงใหม่ มานานกว่า 20 ปี มีทั้งหมด 3 สาขา มีลูกค้ากลุ่มหลัก คือ คนไทยในพื้นที่เชียงใหม่ และนักท่องเที่ยวจีน แต่จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ต้องตัดสินใจเลิกกิจการร้านหมูกระทะย่านถนนทิพย์เนตร โดยประกาศเซ้งกิจการ และเตรียมเลิกกิจการอีก 2 สาขา เนื่องจากร้านได้ปิดให้บริการมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 รายได้หายไป 100% แม้ตอนนี้จะสามารถเปิดบริการใหม่ได้ แต่ด้วยมาตรการหลายอย่างที่ร้านอาหารต้องปฏิบัติตามที่ภาครัฐกำหนดซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้นทุนของทางร้านจะเพิ่มขึ้นหลายเท่า และคาดว่าลูกค้าที่มาใช้บริการจะมีจำนวนลดลง ดังนั้น การเลิกกิจการเป็นการหยุดค่าใช้จ่ายได้
อย่างไรก็ตาม มีภาพของการปรับตัวของผู้ประกอบการหลายด้านในพื้นที่ที่พร้อมจะเดินหน้าต่อ โดยเฉพาะด้านธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร ที่พัก ที่พร้อมจะลงทุนในด้านการรักษามาตรการด้านสุขอนามัย เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้มาใช้บริการ แม้จะเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์