คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าว เปิดหลักสูตรร่วม “แพทยศาสตรบัณฑิต – การจัดการมหาบัณฑิต” และ พิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ ระหว่างคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดวงพร อาภาศิลป์คณบดีวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมแถลงข่าวและลงนามในบันทึกความร่วมมือ
โดยที่มาของหลักสูตรควบ2ปริญญาเกิดจากปัจจุบันโลกเผชิญกับภาวะผันแปรจากโรคอุบัติใหม่ ถึงแม้การรักษาพยาบาลและการให้บริการด้านสาธารณสุขของประเทศไทยจะมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ว่ามีคุณภาพติดอันดับต้นๆ ของโลก แต่ก็มีการใช้งบประมาณและทรัพยากรของประเทศอย่างมหาศาลและมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นทุกปี เพื่อที่จะรักษาคุณภาพของระบบสาธารณสุขไทยให้ยั่งยืนได้ เราจึงต้องมีการบริหารจัดการที่ดีในทุกระดับเพื่อให้สามารถใช้ทรัพยากรทั้งที่เป็นบุคคลากร อุปกรณ์ทางการแพทย์ หรืองบประมาณอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุด
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีโรงเรียนการบริหารงานโรงพยาบาลจัดการฝึกอบรมผู้บริหารองค์กรด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศมาอย่างยาวนานเกือบ 50 ปี จึงได้ผนึกกำลังกับวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดลที่เป็นสถาบันการศึกษาทางด้านการบริหารจัดการชั้นนำของประเทศ เป็นหนึ่งในสี่สถาบันการศึกษาของประเทศไทยที่ได้การรับรองมาตรฐาน AACSB ในระดับนานาชาติ จัดทำหลักสูตรร่วม “แพทยศาสตรบัณฑิต-การจัดการมหาบัณฑิต” นี้ขึ้นโดยมุ่งหวังผลิตแพทย์นักบริหารที่มีภาวะผู้นำและมีความรู้ความสามารถทางการบริหารจัดการในระดับสากล ที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อสุขภาวะของสังคมไทยได้ กล่าวคือบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษานอกจากจะมีความรู้ ความสามารถ คุณธรรมและจริยธรรมทางวิชาชีพในฐานะแพทย์อย่างเต็มที่แล้ว ยังจะมีสมรรถนะและทักษะทางด้านการบริหารจัดการและภาวะผู้นำที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับระบบสาธารณสุขของประเทศอีกด้วย
นักศึกษาในโครงการจะได้เรียนหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี 6 ปีเต็ม และเพิ่มการเรียนในหลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต (นานาชาติ) อีก 1 ปี รวมเวลาศึกษา 7 ปี โดยจะมีการบูรณาการของ 2 หลักสูตร ในช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะเกิดประโยชน์กับผู้เรียนมากที่สุด และเปิดโอกาสให้มีการวิจัยสร้างองค์ความรู้มุ่งไปสู่การพัฒนาหรือแก้ปัญหาด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศเป็นสำคัญ เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วนักศึกษาจะได้รับปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต (พ.บ.) (Doctor of Medicine, M.D.) และการจัดการมหาบัณฑิต (นานาชาติ) (กจ.ม.) (Master of Management, M.M. – Healthcare And Wellness Management)
โดยหลักสูตรนี้จะเริ่มรับนักศึกษาเข้าศึกษาในปีการศึกษา 2564 เปิดรับปีละ 20 คน ผ่านการรับตรงระบบ TCAS รอบ Portfolio (TCAS I) ของ ทปอ. โดยผู้สมัครต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้น ดังนี้ ผลการศึกษามีคะแนนสะสมเฉลี่ย > 3.50 ผลคะแนนการสอบ Biomedical Admission Test (BMAT) > 12.0 ผลคะแนนการสอบภาษาอังกฤษ TOEFL (IBT) > 8.0 หรือ IELTS (Academic modules) > 6.5
ทั้งนี้หลังจบการศึกษา บัณฑิตแพทย์มีเส้นทางอาชีพที่หลากหลาย อาจจะเป็นแพทย์ทั่วไปหรือแพทย์เฉพาะทางที่มีทักษะและสมรรถนะของการบริหารจัดการ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำที่สามารถเรียนรู้ต่อยอด นำไปสู่ความสำเร็จในชีวิตได้ดีขึ้น อีกทั้งยังสามารถนำพาทีมงาน หน่วยงาน หรือองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนไปสู่วิสัยทัศน์และเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ