เวลาไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับสาวๆ โดยเฉพาะในหมวดเครื่องประดับโบราณที่เรามักเห็นเป็นประจำก็คือ “ต่างหู” ในพิพิธภัณฑ์เราจะเห็นมีต่างหูรูปแบบหนึ่งเป็นเครื่องประดับมีปุ่ม 3 ปุ่ม ทำจากหินหยก หรือ เนฟไฟรต์ (Nephrite) ซึ่งเป็นหินกึ่งรัตนชาติ ต่างหูแบบนี้เรียกกันว่า “ลิง-ลิง-โอ” ภาษาอังกฤษเขียน “Ling-Ling-O” ต่างหูลิง-ลิง-โอ เป็นเครื่องประดับของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์เมื่อประมาณ 2000 ปีมาแล้ว มีลักษณะเป็นห่วงกลม มีปุ่มยื่นออกมา 2 ถึง 4 ปุ่ม ทำด้วยวัสดุหลากหลายชนิดทั้งหิน แก้ว และดินเผา คำว่า “ลิง-ลิง- โอ” เป็นคำที่ชาวพื้นเมืองของฟิลิปปินส์ใช้เรียกต่างหูที่พวกเขาสวมใส่อยู่
การพบเนฟไฟรต์ในหลายภูมิภาค ทำให้สันนิษฐานได้ว่า น่าจะเป็นการผลิตที่แหล่งนั้นๆ โดยนำวัตถุดิบจากแหล่งเฟงเทียนในไต้หวันมาใช้ทำเครื่องประดับในชุมชนต่างๆ ซึ่งหลักฐานคือมีการพบจี้ห้อยคอรูปสัตว์สองหัวชิ้นหนึ่งที่เขาสามแก้ว จ.ชุมพร แต่ยังผลิตไม่เสร็จ ซึ่งที่เขาสามแก้วนี้ ก็เป็นแห่งแรกที่ขุดพบเครื่องประดับที่ทำจาก “หยกมินโดโร” ซึ่งเป็นหยกที่พบมากที่ฟิลิปปินส์ มาเลย์ตะวันออก และเวียดนามตอนใต้ หยกชนิดนี้จะอ่อนนุ่มกว่าหยกจากแหล่งเฟงเทียนในไต้หวัน และการขุดพบที่เขาสามแก้วนี้ก็แสดงว่า น่าจะมีการผลิตต่างหูลิงลิงโอที่หมู่เกาะฟิลิปปินส์ แล้วนำมาแลกเปลี่ยนกับสินค้าที่เขาสามแก้วในคาบสมุทรสยาม
ปัจจุบัน ลิง-ลิง-โอ เป็นเครื่องประดับที่พบมากในวัฒนธรรมซาหุญ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่พบมากในแถบชายฝั่งทะเลทางตอนกลางและใต้ของเวียดนาม มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 1-5 ลักษณะเด่นของวัฒนธรรมซาหุญ คือการฝังศพในภาชนะดินเผาและจะมีของอุทิศให้กับศพ เช่น เครื่องมือเครื่องใช้ และเครื่องประดับต่างๆ เป็นต้น เครื่องประดับที่เป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมซาหุญ คือ ต่างหูลิง-ลิง-โอ และต่างหูรูปสัตว์สองหัว มีการค้นพบต่างหูลิง-ลิง-โอ ในประเทศอื่นๆ ด้วยเช่นกัน เช่น ไต้หวัน ฟิลิปปินส์
สำหรับประเทศไทย ค้นพบที่แหล่งโบราณคดีอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี แหล่งโบราณคดีท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี และที่แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว จ.ชุมพร รวมทั้งกระจายทั่วไปในเขตชายฝั่งและหมู่เกาะในบริเวณทะเลจีนใต้หรือแปซิฟิก
การพบต่างหู ลิง-ลิง-โอ ที่แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว จ.ชุมพร แสดงให้เห็นถึงการติดต่อระหว่างคนในภาตใต้และเวียดนามมาตั้งแต่อดีต ลิง-ลิง-โอ อาจจะเป็นสินค้าหรือเครื่องประดับที่พ่อค้าชาวซาหุญนำติดตัวเข้ามาให้คนในภาคใต้ได้รู้จัก อาจจะนำมาโดยการล่องเรือ เพราะยังพบต่างหู ลิง-ลิง-โอ กระจายอยู่ตามหมูเกาะต่างๆ ด้วย แสดงให้เห็นว่าคนในสมัยนั้นสามารถผลิตเครื่องประดับ มีความรู้ในการออกแบบ และเผยแพร่ให้เครื่องประดับที่มีเอกลักษณ์ของตนเองให้เป็นที่ยอมรับของดินแดนอื่นๆ ต่างหูลิง-ลิง-โอ ที่มีปุ่มสามปุ่มทำจากหินหยกนั้น พบว่ากระจายตัวมากที่สุดในพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเล แนวการเดินเรือเลียบชายฝั่ง มักมีรูปแบบและขนาดใกล้เคียงกันคือราว 30-35 เซนติเมตร
ลิง-ลิง-โอ ยังพบอีกว่ายังคงเหลืออยู่เป็นเครื่องรางไว้ห้อยคอ เพื่อความโชคดีและได้รับโชคลาภ ร่ำรวย ในกลุ่ม “ชาวอิฟูเกา” ซึ่งเป็นกลุ่มคนบนที่สูง และเป็นชื่อจังหวัดในเขตปกครองของเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ จนถึงทุกวันนี้