เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 25 กันยายน ที่ห้องโถง ศูนย์อาชีพและธุรกิจมติชน(มติชนอคาเดมี) มติชนอคาเดมี จัดเสวนา “ไขปริศนา เศียรใหญ่” ศิลปะหลังรัฐประหารสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โดยวิทยากร รศ.พิชญา สุ่มจินดา อาจารย์ภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในประเด็น “ไขปริศนา เศียรใหญ่” ศิลปะหลังรัฐประหารสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และ อ.ปริญญา สัญญะเดช ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธไทยโบราณ ในประเด็น เศียรใหญ่ไม่ได้ถูกเผา แต่ถูกยิงด้วยปืนใหญ่
โดย รศ.พิชญา นำเสนอข้อสันนิษฐานใน 5 ประเด็น คือ 1.เศียรใหญ่ เคยประดิษฐานที่วัดพระศรีสรรเพชญหรือไม่ โดยมีข้อสันนิษฐานว่า เป็นไปได้ที่เศียรใหญ่อาจเคยประดิษฐานที่วัดพระศรีสรรเพชญ แต่ไม่รู้ว่าวิหารไหน โดยประเมินจากพระอุณาโลม 2.เศียรใหญ่ เคยเป็นพระพุทธรูปยืนหรือประทับและมีขนาดเท่าใด สันนิษฐานว่า เศียรใหญ่ถ้าเป็นพระยืน จะสูงไม่เกิน 8 เมตร หรือสูงสุดๆไม่เกิน 9 เมตร ถ้าเป็นพระนั่ง จะสูงไม่เกิน 5.52 เมตร เพราะฉะนั้นเศียรใหญ่ไม่มีทางเป็นพระศรีสรรเพชญได้เลย
3.เศียรใหญ่ มีพระพักตร์สอดคล้องกับพระพุทธรูปในช่วงที่สร้างพระศรีสรรเพชญหรือไม่ สันนิษฐานว่าพระพุทธรูปปีใกล้เคียงกับช่วงที่หล่อพระศรีสรรเพชญหน้าตาไม่ใกล้เคียงกับเศียรใหญ่เลย 4.เศียรใหญ่ มีพระพักตร์สอดคล้องกับพระพุทธรูปในช่วงเวลาใด สันนิษฐานว่า เศียรใหญ่มีพระพักตร์ไม่สอดคล้องกับพระพุทธรูปที่สร้างช่วงเวลาเดียวกับพระศรีสรรเพชญ แต่สอดคลอ้งกับพระพุทธรูปที่สร้างใกล้รัชกาลพระเจ้าปราสาททอง อาทิ หลวงพ่อยอ มีจารึกพ.ศ. 2198 จึงเป็นไปได้ที่จะเป็นเศียรวัดป่าเลไลยก์ ช่วงพระเจ้าปราสาททอง
และ 5. เศียรใหญ่ เคยประดิษฐานที่ใดในวัดพระศรีสรรเพชญ สันนิษฐานว่า จากขนาดและความแข็งแรงของฐาน น่าจะอยู่ที่วิหารพระปาลิไลยก์
ด้าน อ.ปริญญา กล่าวว่า จากการศึกษาร่อยรอยที่เกิดจากกระสุนปืนใหญ่ พบว่าบริเวณหน้าพระอุโบสถและหน้าวิหารปาลิไลยก์ มีใบเสมาล้ม และร่องรอยจากกระสุนปืนใหญ่ ใบเสมาแตก หินแตกจากการปะทะ โดยเศียรใหญ่ที่พระศรีสรรเพชญ มีรอยบุบและกระแทกจากด้านซ้ายอย่างแรงและเร็ว วิถีกระสุนปืนใหญ่เข้ามาทางด้านข้าง แนวกระสุนเป็นวิถีโค้งมาจากวัดหน้าเมรุ ซึ่งเป็นที่ตั้งฐานหนึ่งของพม่า ในสงครามยิงปืนใหญ่กันเป็นพันเป็นหมื่นลูก บ่งชี้ว่าเศียรใหญ่ถูกยิงด้วยกระสุนปืนใหญ่ ซึ่งความยิ่งใหญ่ของอยุธยาเริ่มจากดินปืนและกระบอกปืน และจบด้วยดินปืนและกระบอกปืน
ทั้งนี้ หลังจากฟังเสวนา“ไขปริศนา เศียรใหญ่” ศิลปะหลังรัฐประหารสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง แล้ว ในวันเสาร์ที่ 26 กันยายน 2563 ทัวร์มติชนอคาเดมี จะพาไป ทัวร์ ศิลปะหลังรัฐประหาร ของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง จ.พระนครศรีอยุธยา นำชมโดย รศ.พิชญา สุ่มจินดา
ทริปนี้ คณะทัวร์จะได้ชม ศิลปะ วัด วัง ที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง สร้างขึ้น ประกอบด้วย ปราสาทนครหลวง พระราชมณเฑียรที่ประทับในฤดูร้อน เดิมเชื่อว่าสร้างเลียนแบบปราสาทนครวัด แต่ปัจจุบันเชื่อว่าถ่ายจำลองและปรับปรุงแบบจากปราสาทบาปวนใกล้กับพระราชวังหลวง เมืองพระนคร ร่วมค้นหาว่าเหตุใดพระองค์จึงเลือกจำลองปราสาทบาปวนแทนที่จะจำลองปราสาทนครวัดที่ใหญ่โตและน่าจะมีความสำคัญมากกว่า
วัดหน้าพระเมรุ สันนิษฐานว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงสร้างเป็นพระอารามขนาดใหญ่ ชมความงดงามของ พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญบรมไตรโลกนาถ พระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ขนาดใหญ่ที่สุดในศิลปะอยุธยา ปางมารวิชัย ภายในพระอุโบสถ ที่น่าจะมีนัยสื่อถึงสมเด็จพระเจ้าปราสาททองในฐานะที่ทรงเป็นทั้งพระอนาคตพุทธเจ้าและพระเจ้าจักรพรรดิราช พร้อมชม พระพุทธรูปประทับห้อยพระบาทสลักศิลา ภายในพระวิหารน้อย ซึ่งอัญเชิญมาจากวัดพระเมรุ จ.นครปฐม แต่เดิมเคยประดิษฐานที่วัดมหาธาตุ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นต้นแบบให้กับการสร้างพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ในรัชกาลของพระองค์ซึ่งเริ่มสร้างเป็นพระพุทธรูปประทับห้อยพระบาทเช่นกัน
วัดไชยวัฒนาราม พระอารามสำคัญอันเปรียบได้กับเพชรยอดมงกุฎแห่งรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทรงสถาปนาเมื่อปลายรัชกาลบนสถานที่ถวายพระเพลิงสมเด็จพระราชชนนี พระอารามแห่งนี้มีความหมายถึง ‘ความรุ่งเรืองแห่งชัยชนะ’ พุทธสถาปัตยกรรมของที่นี่รวมความหมายทั้งคติจักรวาลตามคัมภีร์โลกศาสตร์พุทธศาสนา, คติทักษาตามคัมภีร์โหราศาสตร์และตำราพิชัยสงครามเข้าไว้ด้วยกัน
ชมปรางค์ประธานขนาดใหญ่ที่เคยหุ้มทองจังโกทั้งองค์ ล้อมรอบด้วยปรางค์มุมบริวารทั้ง 4 มุม และระเบียงคดที่เชื่อมเมรุทิศ ทั้ง 8 เข้าด้วยกัน พร้อมชมการวางตำแหน่งของพระอุโบสถ ที่สื่อถึงชมพูทวีปที่ตั้งของพระมหาโพธิบัลลังก์ ซึ่งพระพุทธองค์ทรงมีชัยเหนือพญามาราธิราช และตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปหินทราย 3 องค์ เพื่อสื่อความหมายถึงพระอดีตพุทธเจ้า พระปัจจุบันพุทธเจ้า และพระอนาคตพุทธเจ้า ที่น่าจะหมายถึงพระองค์เองในอนาคต ซึ่งได้ตรัสรู้หรือจะมาตรัสรู้บนพระมหาโพธิบัลลังก์ศูนย์กลางแห่งชมพูทวีปดุจเดียวกัน
พระราชวังหลวง หรือพระราชวังโบราณ อยุธยา ชมร่องรอย พระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ ที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงสร้างและพระราชทานนามไว้ว่า พระที่นั่งศิริยศโสธรพิมานบรรยงก์ ให้สอดคล้องกับนามของเมืองพระนคร หรือยโศธรปุระ อดีตราชธานีของกัมพูชา
วัดพระศรีสรรเพชญ์ อดีตวัดหลวงประจำพระราชวังโบราณ อยุธยา ชมปูนปั้นครุฑแบก สิงห์แบก ที่ฐานชุกชีในพระวิหารหลวง และที่ฐานของพระมณฑปหลังกลางระหว่างพระเจดีย์ประธานสามองค์ อันเป็นประจักษ์พยานของงานช่างตามแบบอย่างศิลปะกัมพูชา ก่อนจะถูกครอบไว้ด้วยฐานใหม่ในสมัยต่อมา จากนั้นชมพระวิหารพระปาลิไลยก์ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าปราสาททองได้เคยทรงสร้างเป็นมณฑปเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ ด้วยความเชื่อว่าพระองค์เคยเสวยพระชาติเป็นช้างปาลิไลยก์ปรนนิบัติพระพุทธเจ้า
วิหารพระมงคลบพิตร แต่ก่อนมีนามเดิมว่า วัดสุมงคลบพิตร เข้านมัสการ พระมงคลบพิตร หรือพระนามอย่างเป็นทางการว่า พระสยมภูวญาณโมลี ภายในพระวิหาร ซึ่งแต่เดิมเป็นพระมณฑปที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงสร้างถวาย หลังจากชะลอพระพุทธรูปองค์นี้มาจากวัดพระชีเชียงของสมเด็จพระชัยราชาธิราช เพื่อสร้างความหมายใหม่ให้กับพระพุทธรูปองค์นี้ว่าเปรียบได้กับพระอนาคตพุทธเจ้า ในฐานะที่พระองค์จะทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตพระนามว่า พระสุมังคลพุทธเจ้า