หลายคนอาจจะเคยได้ยินมาว่า การดื่มชานั้นดีและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ เพราะในน้ำชานั้นนอกจากจะมีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด แล้วยังสามารถดื่มเพื่อให้รู้สึกสดชื่น กระฉับกระเฉง เป็นเครื่องดื่มทางเลือกสำหรับผู้ที่ไม่ชื่นชอบกาแฟได้ แต่เครื่องดื่มอย่างชาเย็น หากดื่มมากเกินไป ก็อาจกลายเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ วันนี้เราจะมาตอบข้อสงสัยว่า ดื่มชาเย็นมากเกินไป เสี่ยงไตวายได้จริงหรือไม่
ดื่มชาเย็นมากเกินไป เสี่ยงไตวาย จริงหรือ?
เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2014 มีรายงานพบชายสูงอายุผู้หนึ่ง เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล เนื่องจากมีอาการอ่อนแรง คัน และปวดเมื่อยตามตัว แพทย์ตรวจดูก็พบว่ามีอาการไตวาย และจำเป็นต้องทำการฟอกไต แต่ผู้ป่วยรายนี้ไม่เคยมีปัญหาเกี่ยวกับไต หรือมีญาติที่มีประวัติเป็นโรคไตมาก่อน เมื่อแพทย์ทำการซักประวัติ จึงได้ทราบว่า ชายคนนี้ดื่มชาเย็นวันละ 16 แก้ว เป็นประจำทุกวัน
ในน้ำชา โดยเฉพาะชาดำนั้นจะอุดมไปด้วยสารออกซาเลต (Oxalate) สารประกอบที่สามารถพบได้ในพืชบางชนิด สารออกซาเลตนี้มีฤทธิ์ในการยับยั้งการดูดซึมแคลเซียมและแร่ธาตุต่างๆ และร่างกายจะกำจัดสารออกซาเลตส่วนเกินนี้ผ่านทางไตและปัสสาวะ หากเรารับประทานสารออกซาเลตมากเกินไป จะทำให้ไตต้องทำงานหนักเพื่อกำจัดสารออกซาเลตนี้ จึงอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดนิ่วในไต และนำไปสู่อาการไตวายได้ในที่สุด
สารอาหารอะไรบ้างที่อาจเป็นอันตรายต่อไต?
นอกเหนือไปจากการดื่มชามากเกินไปที่อาจจะส่งผลอันตรายต่อไตได้นั้น ยังมีสารอาหารอื่นๆ อีกมาก ที่อาจจะส่งผลที่อันตรายต่อไตได้ บทความนี้จะขอยกตัวอย่างมาดังต่อไปนี้
โซเดียม (Sodium)
หรือก็คือเกลือที่เราคุ้นเคยกันดีนั่นเอง โซเดียมนั้นสามารถส่งผลกระทบต่อความดันโลหิต และความสมดุลของระดับน้ำในร่างกายได้ ร่างกายของเราจะทำหน้าที่ในการกำจัดโซเดียมส่วนเกินออกจากร่างกาย แต่หากเราบริโภคโซเดียมมากเกินไป จะทำให้ไตไม่สามารถกำจัดโซเดียมออกไปได้หมด แล้วทำให้ระดับความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น และทำให้เกิดความเสียหายต่อไตได้
ตัวอย่างอาหารที่มีโซเดียมสูง ได้แก่
- เครื่องปรุงรสต่างๆ
- น้ำปลา
- ซีอิ๊วขาว
- ซอสหอยนางรม
- บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
- เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม หรือเบคอน เป็นต้น
- อาหารกระป๋องพร้อมรับประทาน
- ขนมขบเคี้ยว
- มันฝรั่งทอด
- อาหารฟาสต์ฟู้ดต่างๆ
โพแทสเซียม (Potassium)
แม้ว่าโพแทสเซียมนั้นจะมีความสำคัญต่อการทำงานของกล้ามเนื้อและหัวใจ แต่การรับประทานโพแทสเซียมมากเกินไปก็อาจส่งผลให้ระดับความดันโลหิตเพิ่มขึ้นสูงมากเกินไปได้เช่นกัน
ตัวอย่างอาหารที่มีโพแทสเซียมสูง ได้แก่
- ผักและผลไม้บางชนิด เช่น กล้วย ส้ม มันฝรั่ง มะเขือเทศ
- ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น นมสด เนย ชีส โยเกิร์ต
- ถั่วต่างๆ
- สารทดแทนเกลือ
ฟอสฟอรัส (Phosphorus)
ฟอสฟอรัสเป็นอีกหนึ่งแร่ธาตุที่พบได้มากในอาหารส่วนใหญ่ ธาตุฟอสฟอรัสนั้นมีความสำคัญในการช่วยดูดซึมแคลเซียมและช่วยบำรุงรักษากระดูกและฟันให้แข็งแรง แต่หากตับเกิดความเสียหาย อาจทำให้
ไม่สามารถจัดการกับปริมาณของฟอสฟอรัสได้อย่างเพียงพอ แล้วทำให้มีฟอสฟอรัสสะสมในเลือดมากเกินไป จนอาจทำให้กระดูกอ่อนแอลง และหักได้ง่ายขึ้น
ตัวอย่างอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง ได้แก่
- ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น นมสด โยเกิร์ต เนย ชีส เป็นต้น
- ถั่วต่างๆ และธัญพืช
- เครื่องในสัตว์
- อาหารทะเลแช่แข็ง
- อาหารที่ทำจากยีสต์ เช่น ขนมปัง
ไม่เพียงแต่เฉพาะชาเย็น แต่อาหารทุกชนิด หากรับประทานในปริมาณที่ไม่เหมาะสม ก็ล้วนแต่อาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ทั้งสิ้น ทางที่ดีที่สุดคุณจึงควรเลือกรับประทานอาหารให้พอเหมาะ รับประทานอาหารให้หลากหลาย และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอันตรายต่อร่างกายของเรา และทำให้เรามีสุขภาพดียิ่งขึ้น
ที่มา : Sanook.com