“วังหน้า” ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

Culture ศิลปวัฒนธรรม

เรื่องราวของ “วังหน้า” ถูกนำมาเล่ากล่าวขานกันก่อนหน้านี้ โดยกรมศิลปากรจัดทำเป็นนิทรรศการเผยแพร่แก่ประชาชน อย่างไรก็ดี เรื่องราวของวังหน้าก็ยังเป็นที่ “ใคร่รู้” ของคนทั่วไปในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “คอประวัติศาสตร์” และยิ่งเป็นเรื่องของ “อาถรรพ์” หรือ “คำสาป” ด้วยแล้ว ความใคร่อยากรู้ก็ยิ่งเพิ่มเป็นทวีคูณ

ย้อนไปเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2325 เป็นฤกษ์งามยามดีที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ทรงขึ้นครองราชย์เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และทรงแต่งตั้งสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าพระยาสุรสีห์ ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือตำแหน่ง “วังหน้า” ออกพระนามว่า “กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท” ต่อมาภายหลังในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้ออกพระนามว่า สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ถือเป็นวังหน้าพระองค์แรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ คำว่า “วังหน้า” หมายถึงส่วนหน้าของวังหลวง และมีนัยยะถึงหน้าที่ที่จะต้องพิทักษ์วังหลวงด้วย

เจ้าพระยาสุรสีห์ มีพระนามเดิมว่า “บุญมา” ประสูติแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี รับราชการในตำแหน่ง “นายสุจินดาหุ้มแพร” สังกัดกรมมหาดเล็ก ในปี พ.ศ. 2310 เมื่อกรุงศรีอยุธยาพ่ายแพ้แก่พม่า ทรงหนีภัยสงครามไปสมทบกับรัชกาลที่ 1 ซึ่งขณะนั้นรับราชการเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี และไปร่วมทัพกับสมเด็จพระเจ้าตากสินกอบกู้บ้านเมืองจนได้เอกราช และมีการสถาปนาราชวงศ์จักรีขึ้น บุคลิกลักษณะของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เล่ากันว่าทรงดุ เด็ดขาด น่ายำเกรง เพราะทรงเป็นนักรบและเป็นแม่ทัพ ทรงร่วมรบสร้างบ้านสร้างเมืองมาด้วยกันกับรัชกาลที่ 1 ดังนั้น พระราชอำนาจใกล้เคียงจนเกือบจะเท่าเทียมกัน

เมื่อได้รับการสถาปนา รัชกาลที่ 1 พระราชทานที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศเหนือของวัดสลัก ปัจจุบันคือ วัดมหาธาตุ ขึ้นไปจนถึงคูเมืองหรือคลองหลอดในปัจจุบัน เพื่อสร้างเป็นวังให้กับกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท และยังทรงขอพื้นที่บางส่วนของวัดมหาธาตุ มาผนวกเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของวังอีกด้วย ถ้าเทียบระหว่าง “วังหลวง” กับ “วังหน้า” ในสมัยรัชกาลที่ 1 แล้วก็ถือว่าครึ่งๆ ใหญ่เกือบๆ จะเท่ากัน การก่อสร้างวังหน้าดำเนินไป 3 ปีจึงแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2328 ได้ทำพิธีสมโภชพระนครพร้อมกับพระบรมมหาราชวัง

พื้นที่วังหน้าเดิมนั้นใหญ่โตมาก กินเนื้อที่เข้าไปในครึ่งหนึ่งของสนามหลวงขณะนั้นด้วย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เกือบทั้งหมดก็เป็นพื้นที่ของวังหน้า พื้นที่ภายในวังหน้าแบ่งออกเป็นเขตพระราชฐานชั้นนอก ชั้นกลาง และชั้นใน เช่นเดียวกับวังหลวง สิ่งปลูกสร้างต่างๆ ล้วนใช้ไม้เป็นหลัก มีเพียงป้อมปราการป้องกันเมืองเท่านั้นที่ก่ออิฐถือปูน เพื่อความคงทนแข็งแรง โดยอิฐที่ใช้ก็รื้อมาจากกำแพงกรุงเก่าที่อยุธยา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้นทรงเคยรับราชการในราชสำนักอยุธยา เมื่อทรงสร้าง

เมืองใหม่จึงยึดราชสำนักอยุธยาเป็นแบบอย่าง สืบทอดทั้งคติความเชื่อ รวมไปถึงรูปแบบสถาปัตยกรรม ตำแหน่งที่ตั้งของสิ่งปลูกสร้าง อาคารพระที่นั่งต่างๆ

การที่วังหน้าตั้งอยู่ข้างหน้าวังหลวง มีข้อสันนิษฐานแตกต่างกันไป บ้างว่าตำแหน่งที่ตั้งของพระราชวังสอดคล้องกับรูปแบบการตั้งทัพเวลาออกศึกไปรบ บ้างก็ว่าเป็นด่านแรกที่ปะทะกับข้าศึกระวังไม่ให้ข้าศึกจู่โจมเข้าถึงวังหลวงได้โดยง่าย วังหน้าสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จึงตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านหน้าของพระบรมมหาราชวังหรือวังหลวง หากมีข้าศึกบุกเมืองก็มองเห็นก่อนใคร ป้องกันได้รวดเร็วทันท่วงที ดังนั้น บทบาทของผู้ครองวังหน้าจึงยิ่งใหญ่และสำคัญไม่น้อย

ช่วงปีแรกของการตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ บ้านเมืองยังไม่เป็นปึกแผ่นเท่าใดนัก เศรษฐกิจก็ยังไม่เข้าที่เข้าทาง สิ่งปลูกสร้างต่างๆ เมื่อแรกสร้างกรุงจึงใช้เครื่องไม้เป็นหลัก ด้วยเหตุนี้พระราชมณเฑียรที่ประทับ หรืออาคารต่างๆ ที่กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงสร้างขึ้น จึงหักพังหรือถูกรื้อปรับเปลี่ยน จนไม่อาจบอกรูปพรรณสัณฐานเดิมได้ แต่สิ่งหนึ่งที่สถาปัตยกรรมในวังหน้าไม่มี คือ อาคารทรงปราสาท เพราะธรรมเนียมและคติความเชื่อของการสร้างอาคารทรงปราสาทนั้น ถือเป็นอาคารเฉพาะพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น

มีเรื่องเล่าว่าในสมัยก่อสร้างวังหน้าช่วงแรก กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท โปรดให้สร้างพระที่นั่งทรงปราสาทเหมือนกับพระที่นั่งบรรยงค์รัตนาสน์ ที่กรุงศรีอยุธยา แต่สร้างยังไม่ทันเสร็จก็เกิดเหตุขึ้น มีคนคิดกบฏลอบเข้าไปในวังหน้าหมายจะทำร้ายพระองค์ แต่โดนเจ้าพนักงานจับได้คนหนึ่ง ส่วนอีกคนหนึ่งโดนไล่ฟันจนไปตายอยู่บริเวณที่กำลังสร้างพระที่นั่งทรงปราสาท กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทจึงทรงดำริว่าวังหน้าสมัยกรุงศรีอยุธยาก็ไม่มีอาคารทรงปราสาท ทว่า พระองค์กลับมาสร้าง เห็นจะเป็นสิ่งเกินวาสนา จึงทำให้เกิดเหตุร้ายขึ้น ดังนั้นจึงทรงระงับการก่อสร้างนั้นเสีย

กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงสร้างพระบวรราชวังนี้อย่างยิ่งใหญ่และประณีตบรรจง ด้วยหวังจะได้ทรงอยู่อย่างเป็นสุขในบั้นปลายพระชนมชีพ แต่การณ์มิได้เป็นอย่างที่ทรงหวัง เพราะหลังจากดำรงพระยศกรมพระราชวังบวรฯ ได้ 21 ปี พระชนมายุ 60 พรรษา ก็ประชวรพระโรคนิ่ว เล่ากันว่าทรงทั้งห่วงและหวงพระบวรราชวังที่โปรดให้สร้าง

มีเหตุการณ์ช่วงก่อนที่จะสวรรคตนี่เอง กลายเป็นตำนานวังหน้าที่เล่าสืบกันมาโดยมีปรากฏความอยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดารบ้าง พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 4 บ้าง เนื้อเรื่องตรงกันส่วนหนึ่ง ว่าเมื่อกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงเริ่มประชวรหนักขึ้นเรื่อยๆ จนปลงพระทัยว่า อย่างไรเสียจะต้องสวรรคตแน่ๆ ทรงเศร้าหมอง กำลังพระราชหฤทัยใดๆ

ก็ไม่มี อยู่มาวันหนึ่งมีรับสั่งว่าพระองค์ทรงสร้างพระราชวังบวรฯ ไว้ใหญ่โตงดงามวิจิตร แต่เพราะประชวรมานานจึงไม่ได้ทอดพระเนตรอย่างถี่ถ้วน ทรงใคร่อยากชมพระราชวังบวรฯ ให้สบายพระทัย จึงโปรดให้เชิญพระองค์ขึ้นเสลี่ยงบรรทมพิงพระเขนย เชิญเสด็จรอบพระราชมณเฑียร

ระหว่างเสด็จรอบๆ พระราชมณเฑียร ทรงมีรับสั่งที่เล่าต่อๆ กันมา ว่าทรงหวังจะได้อยู่ชมที่นี่ให้นานๆ แต่ก็จะไม่ได้อยู่แล้ว ต่อไปก็จะเป็นของผู้อื่น ดังนั้น เมื่อประชวรหนัก ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานต่อสมเด็จพระเชษฐา ให้พระโอรสธิดาของพระองค์ได้ประทับอยู่ในวังหน้าต่อไป พร้อมกับมีเรื่องเล่าลือถึงพระเนตรพระกรรณ ว่ากรมพระราชวังบวรฯ ได้ออกพระโอษฐ์ตรัสสาปแช่งไว้ว่า “–ของเหล่านี้ กูอุตส่าห์ทำด้วยความคิดและเรี่ยวแรงเป็นหนักหนา หวังจะอยู่ชมนานๆ ก็ไม่ได้ชม ของใหญ่ของโตของกูดีๆ ของกูสร้าง ใครไม่ได้ช่วยเข้าทุนอุดหนุน กูสร้างขึ้นด้วยกำลังข้าเจ้าบ่าวนายของกูเอง นานไปใครไม่ใช่ลูกกู เข้ามาเป็นเจ้าของครอบครองขอผีสางเทวดาจงบันดาลอย่าให้มีความสุข–”

เมื่อสมเด็จพระราชวังบวรฯ เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 โปรดตั้ง สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระองค์ที่ 2 ครั้งนั้นคุณเสือพระสนมเอก ได้กราบทูลขอให้เชิญเสด็จกรมพระราชวังบวรฯ พระองค์ใหม่ไปประทับ ณ พระบวรราชวังแทน แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ไม่ทรงเห็นด้วย เพราะทรงรำลึกถึงคำตรัสสาปแช่ง จึงมีพระราชดำรัสว่า “–ไปอยู่บ้านช่องของเขาทำไม เขารักแต่ลูกเต้าของเขา เขาแช่งเขาชักไว้เป็นหนักเป็นหนา–” โปรดให้กรมพระราชวังบวรฯ ใหม่ ประทับอยู่ที่พระราชวังเดิมจนเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ จึงนับเป็นกรมพระราชวังบวรฯ พระองค์เดียวที่ไม่ได้เสด็จประทับอยู่ที่วังหน้า และเป็นกรมพระราชวังบวรฯ เพียงพระองค์เดียวอีกเช่นกันที่ภายหลังได้สืบราชบัลลังก์ต่อ เป็น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ เป็น กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ และทรงมีพระราชดำริว่าควรย้ายไปประทับที่พระราชวังบวรสถานมงคล ด้วยเป็นพระราชวังสำหรับพระมหาอุปราช สร้างใหญ่โตให้เป็นสถานที่สำคัญของแผ่นดิน ซึ่งในช่วงรัชกาลที่ 2 นี้ บรรยากาศและสภาพการณ์ต่างๆ ระหว่าง วังหลวง และ วังหน้า กล่าวได้ว่าราบรื่น ไม่มีเหตุขัดแย้ง ทั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ทรงเป็นเจ้าพี่เจ้าน้องที่สนิทเสน่หากันมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ แม้เมื่อทรงดำรงตำแหน่งวังหน้าแล้วก็ยังเสด็จเข้าวังหลวง ทรงปฏิบัติข้อราชการและเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยไม่ได้ขาด กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ดำรงพระยศอยู่ 8 ปี ก็ประชวร และอยู่เพียงเดือนเศษเท่านั้นก็เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2360 มีพระชนมายุเพียง 44 พรรษา หลังจากกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์เสด็จสวรรคต รัชกาลที่ 2 ไม่ทรงสถาปนาผู้ใดขึ้นมาดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือตำแหน่งพระมหาอุปราชอีก

หลังจากวังหน้าแผ่นดินที่ 2 สวรรคต พระราชวังบวรสถานมงคลก็ว่างเว้นเจ้าของมา 7 ปี กระทั่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 2367 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ “กรมหมื่นศักดิพลเสพ” พระราชโอรสในรัชกาลที่ 1 และมีศักดิ์เป็นสมเด็จอา ได้ดำรงพระยศเป็น “สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ” พระมหาอุปราชในรัชกาลที่ 3 ครองวังหน้าต่อ สำหรับคำสาปแช่งที่หวาดๆ กันนั้น ไม่เป็นปัญหาต่อกรมพระราชวังบวรฯ พระองค์ใหม่ ด้วยทรงอภิเษกกับพระองค์เจ้าดาราวดี พระราชธิดาในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทอยู่ก่อนแล้ว ทรงอยู่ในตำแหน่งกรมพระราชวังบวรฯ ได้เพียง 8 ปี ก็เสด็จสวรรคตเมื่อพระชนมายุได้เพียง 47 พรรษา และมิได้ทรงแต่งตั้งพระราชวงศ์พระองค์ใดเป็นกรมพระราชวังบวรฯ จนสิ้นรัชกาล

วังหน้าในแผ่นดินที่ 3 นี้เอง เป็นช่วงเวลาแห่งการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงภายในพระราชวังบวรสถานมงคล กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ทรงซ่อมแซมพระวิมานทั้ง 3 หลัง และทรงสร้างพระที่นั่งเป็นท้องพระโรงใหม่อีก 1 องค์ ถ่ายแบบอย่างพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยในพระบรมมหาราชวัง ทรงขนานนามว่า “พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย” ปัจจุบันกลายเป็นที่จัดแสดงของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจุธามณีกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรฯ แต่โปรดให้เพิ่มพระเกียรติยศเทียบเท่าพระมหากษัตริย์อีกพระองค์หนึ่ง เป็น พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีวิธีผ่อนปรนเลี่ยงพระดำรัสสาปด้วยการโปรดให้พราหมณ์ทำพิธีฝังอาถรรพ์ใหม่ทุกป้อมทุกประตูรวม 80 หลัก ก่อนที่จะโปรดให้สร้างพระราชมณเฑียรพระที่นั่ง และพระตำหนักต่างๆ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับ ณ พระบวรราชวัง 18 ปี จึงเสด็จสวรรคต ช่วงที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ประทับในพระราชวังบวรสถานมงคล เป็นช่วงที่วังหน้าขยายตัวจนมีพื้นที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ และยังนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางความคิดครั้งใหญ่เกี่ยวกับพระราชฐานะของพระมหากษัตริย์ เป็นเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญในเชิงสถาปัตยกรรมของวังหน้า คือ ต้องสะท้อนพระเกียรติยศที่เสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดิน

สมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยาบรมมาหาศรีสุริยวงศ์ในฐานะผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน รวบรัดแต่งตั้งพระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเป็น กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ มีเรื่องเชื่อกันว่าเป็นอาถรรพ์ของวังหน้าอีกครั้ง เมื่อเกิดความขัดแย้งกันระหว่าง วังหลวง กับ วังหน้า ซึ่งหากเหตุการณ์ยืดเยื้อต่อไปอาจร้ายแรงถึงเสียเอกราชให้แก่จักรวรรดินิยมตะวันตก กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญอยู่ในตำแหน่ง15 ปี จึงทิวงคต ทำให้ยิ่งตอกย้ำความเชื่อว่าตำแหน่งวังหน้านี้มีอาถรรพ์อันเกิดจากพระดำรัสสาปแช่งของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักพระทัยถึงปัญหายุ่งยากที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จึงประกาศให้ยกเลิกตำแหน่งวังหน้า และโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาตำแหน่ง “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร” ขึ้นเป็นตำแหน่งรัชทายาทที่จะขึ้นสืบราชบัลลังก์ต่อไป เรื่องราวของความเชื่อเกี่ยวกับ “คำสาป” กรมพระราชวังบวรฯ ก็เสื่อมคลายสูญสิ้นไปตั้งแต่นั้นมา

พระราชวังหน้าที่เคยสำคัญและยิ่งใหญ่ ค่อยๆ ลดความสำคัญลง พื้นที่ส่วนหนึ่งตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 5 ทรงไม่ปรารถนาให้กลายเป็นที่ร้างไปเปล่าๆ เช่น โปรดให้เขตวังชั้นนอก เป็นโรงทหารรักษาพระองค์ วังชั้นกลางโปรดให้จัดเป็นพื้นที่ของพิพิธภัณฑสถาน ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย, พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ส่วนวังชั้นใน ซึ่งยังมีเจ้านายฝ่ายใน พระธิดาของวังหน้าพระองค์ก่อนๆ ประทับอยู่ ก็โปรดให้จัดเป็นพระราชวังต่อไป