สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเหนื่อยล้านั้นมีอยู่มากมาย ไม่ว่าจะมาจากโรคประจำตัว การทำงาน หรือความเครียด แต่คุณรู้หรือเปล่าว่าลักษณะนิสัยและพฤติกรรมบางอย่าง อาจกลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เรามีอาการเหนื่อยล้าได้ วันนี้เราจะพาทุกคนมารู้จักกับ พฤติกรรมที่จะนำไปสู่ความเหนื่อยล้าว่ามีอะไรบ้าง เพื่อให้ทุกคนสามารถหลีกเลี่ยงได้อย่างทันท่วงที
พฤติกรรมที่นำไปสู่ความเหนื่อยล้า
พักผ่อนไม่เพียงพอ
หนึ่งในพฤติกรรมเจ้าปัญหา ที่ส่งผลให้เรามีอาการเหนื่อยล้าได้ง่ายกว่าปกติ ก็คือการพักผ่อนไม่เพียงพอ ร่างกายของเรานั้นจะทำงานอยู่ตลอดเวลาที่เราตื่น และจะอาศัยช่วงที่เรานอนหลับในการฟื้นฟูส่วนที่สึกหรอ หากเราพักผ่อนไม่เพียงพอ ไม่ว่าจะมาจากการนอนน้อย อยู่ทำงานดึก หรือเป็นเพราะนอนไม่หลับ ล้วนแล้วแต่ก็ส่งผลให้ร่างกายของเราขาดพลังงาน ไม่มีสมาธิ และทำให้เรารู้สึกเหนื่อยง่ายขึ้นในวันถัดมา เนื่องจากร่างกายไม่ได้พักผ่อนนั่นเอง
โดยปกติแล้วคนเราควรจะนอนหลับกันวันละประมาณ 7-8 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายได้มีโอกาสในการพักผ่อนและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ควรพยายามนอนให้เป็นเวลา และอย่าออกกำลังกาย ดูทีวี เล่นมือถือ หรือดื่มกาแฟก่อนเวลานอน การดื่มนมอุ่นๆ สักแก้วก่อนนอน ก็สามารถช่วยให้เราสามารถนอนหลับได้สนิทยิ่งขึ้นอีกด้วย
นอนมากเกินไป
ตรงกันข้ามกันกับการพักผ่อนไม่เพียงพอ การนอนมากเกินไป ก็อาจกลายเป็นปัญหา ที่นำไปสู่อาการเหนื่อยล้าได้เช่นกัน การนอนนานเกินกว่า 11 ชั่วโมงต่อคืน อาจนำไปสู่การเกิดภาวะง่วงนอนมากผิดปกติในเวลากลางวัน (Excessive daytime sleepiness) ที่จะทำให้เรารู้สึกง่วงนอน และเหนื่อยล้าอย่างมากในเวลากลางวัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการทำงาน การขับขี่ยานพาหนะ หรืออาจนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุได้
การนอนอย่างพอดี คือการนอนวันละประมาณ 7-8 ชั่วโมง และควรจะลุกทันทีหลังจากที่ตื่นนอนแล้ว ไม่นอนเกลือกกลิ้งต่อบนเตียง หรือนอนหลับต่อไป เพราะการนอนมากเกินไปนั้นนอกจากจะทำให้เกิดอาการเหนื่อยล้าได้แล้ว ยังอาจทำให้เรามีอาการปวดหัว และไม่สดชื่นในระหว่างวันได้อีกด้วย
การรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม
การรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ และไม่มีคุณค่าทางสารอาหาร โดยเฉพาะพวกคาร์โบไฮเดรตและโปรตีน ที่จะถูกแปรเปลี่ยนเป็นพลังงาน และทำให้เรามีแรงในการทำกิจกรรมต่างๆ หากเราขาดสารอาหารเหล่านี้ อาจทำให้ร่างกายได้รับพลังงานไม่เพียงพอ และทำให้รู้สึกเหนื่อยล้าได้
หากคุณต้องการพลังงาน ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตหรือโปรตีนสูง เช่น ขนมปัง ข้าว เนื้อสัตว์ ไข่ นม และผักผลไม้บางชนิด แต่อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น น้ำอัดลม หรือกาแฟ เพราะแม้ว่าอาหารเหล่านี้อาจจะสามารถช่วยเพิ่มพลังงานได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็เป็นเพียงแค่ระยะสั้นเท่านั้น แถมยังอาจทำให้อาการเหนื่อยล้าของคุณรุนแรงขึ้นได้อีกด้วย
การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นมีฤทธิ์เป็นยากดประสาท (Depressant) ทำให้การทำงานของระบบประสาทและสมองช้าลง ซึ่งนอกจากจะทำให้เรามีอาการ
ซึมๆ เหนื่อยๆ แล้ว ยังอาจรบกวนการนอนหลับ ทำให้เรานอนหลับไม่ตรงตามกิจวัตรที่ควรจะเป็น และอาจนำไปสู่อาการเหนื่อยล้าได้
การไม่ออกกำลังกาย
การออกกำลังกายนั้นจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของกล้ามเนื้อและอวัยวะส่วนต่างๆ ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ให้เลือดสูบฉีด ลดความเครียด และยังช่วยทำให้รู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า และเพิ่มพลังงานในร่างกายได้ การออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยวันละ 30 นาที จะช่วยให้ร่างกายของคุณแข็งแรง และไม่เหนื่อยง่าย แถมยังช่วยให้นอนหลับสบายอีกด้วย
ปัจจัยเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสาเหตุอาการเหนื่อยล้าที่มาจากลักษณะพฤติกรรมและการใช้ชีวิตเท่านั้น ยังมีสาเหตุอีกมากที่อาจทำให้เกิดอาการเหนื่อยล้าได้ ทั้งจากการทำงาน ความเครียด หรือแม้แต่โรคที่อาจจะแฝงอยู่ หากคุณสังเกตพบว่าตัวเองมีอาการเหนื่อยล้ามากผิดปกติ และไม่ยอมหายไปเสียที แม้ว่าจะได้พักผ่อนอย่างเต็มที่แล้ว อย่าลืมไปพบคุณหมอเพื่อทำการตรวจร่างกาย เพราะอาการเหนื่อยล้านั้น อาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยอื่นที่อันตรายได้นั่นเอง
ที่มา : Sanook.com