ภาษิตโบราณมีว่า “รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี” ซึ่งน่าจะเหมาะกับสถานการณ์การท่องเที่ยวของเมืองไทยในเวลานี้ หลังจากเกิดวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ซัดถล่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของโลกให้ทรุดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ผลกระทบที่เกิดขึ้นมากมายมหาศาล ทำให้แต่ละประเทศ แต่ละรัฐบาลเลยต้อง “รู้รักษาตัวรอด” ไปตามๆ กัน ประเทศไทยเองก็เช่นกัน แม้วิกฤตโรคระบาดจะผ่อนคลายลงไปบ้างแล้ว แต่ผลพวงที่เกิดจากวิกฤติดังกล่าวยังคงส่งผลอย่างต่อเนื่อง ทำการท่องเที่ยวฟุบหนัก เนื่องจากคนไม่เดินทาง และบางประเทศยังไม่อนุญาตให้มีการเดินทางหรือเปิดประเทศตามปกติ นักท่องเที่ยวผู้พิศมัยเมืองไทย ไม่ว่าจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน เลยพลอยหายเข้ากลีบเมฆ เมื่อนักท่องเที่ยวหาย เม็ดเงินใช้จ่ายก็เลยหด การค้าการขายพลอยเจ็บตัวไปด้วย รัฐบาลเลยต้องหาทางฟื้นฟู รณรงค์ระดมกำลัง เพื่อทำให้การท่องเที่ยวในประเทศพลิกฟื้นขึ้นมาให้ได้
ดังนั้น เวลานี้ใครเดินทางเข้าไปย่านใจกลางเมือง หรือภายในเกาะรัตนโกสินทร์ จะพบเห็นการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างทั้งการปรับภูมิทัศน์จัดระเบียบใหม่ การปลูกต้นไม้ดอกไม้ให้สวยงาม หรือแม้แต่การฟื้น “ถนนคนเดิน” เพื่อจูงใจให้คนไทยด้วยกันไปเที่ยวกันมากขึ้น เช่น ที่ คลองโอ่งอ่าง ย่านชายขอบระหว่างเขตพระนครและเขตสัมพันธวงศ์ ที่จัดระเบียบปรับภูมิทัศน์ให้สวยงามเป็น “ถนนคนเดิน” ให้คนไทยได้ไปเที่ยวกัน คลองโอ่งอ่างโฉมใหม่ไฉไลกว่าเดิม และน้ำในคลองยังสะอาดสะอ้าน เพิ่มบรรยากาศให้น่าเดินเที่ยว รอบๆ บริเวณถนนคนเดินนั้น นอกจากยังคงสภาพให้เป็นย่านที่อยู่อาศัยตามปกติของชาวชุมชนแล้ว ยังมีมีสตรีทอาร์ตเป็นไฮไลท์จุดเช็คอินแห่งใหม่ของนักท่องเที่ยวอีกด้วย
คลองโอ่งอ่างเป็นส่วนหนึ่งของคลองรอบกรุง ขุดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ที่โปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองคูเมืองเดิมเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาตอนเหนือที่ตำบลบางลำพู ไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาตอนใต้ใกล้กับวัดจักรวรรดิราชาวาส คลองรอบกรุงนี้มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปหลายชื่อ อาทิ คลองวัดเชิงเลน , คลองบางลำพู และชื่อ “คลองโอ่งอ่าง” เป็นชื่อคลองในช่วงสุดท้ายก่อนจะไปบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากบริเวณนี้เคยเป็นแหล่งค้าขายโอ่งเเละเครื่องดินเผาของชาวมอญและชาวจีน ปัจจุบันคลองโอ่งอ่างเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างเขตพระนครกับเขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร ซึ่งในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาคลองโอ่งอ่างได้มีการปรับปรุงพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับปรุงทางเท้าในปี 2562 ที่มีการติดตั้ง “ฝาท่อลายศิลป์” ตั้งแต่ช่วงสะพานดำรงสถิตถึงสะพานโอสถานนท์ เป็นจุดที่น่าสนใจในบริเวณคลองแห่งนี้
การขุดคลองโอ่งอ่างในสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2328 ก็เพื่อขยายอาณาเขตของพระนครให้กว้างใหญ่ และใช้เป็นเส้นทางสายใหม่ในการคมนาคม การขุดได้ระดมแรงงานทหารเกณฑ์ชาวเขมรจำนวนถึง 10,000 คน เพื่อขุดคลองสายประวัติศาสตร์สายนี้ จุดเริ่มต้นของคลองโอ่งอ่างอยู่ที่แม่น้ำเจ้าพระยาตรงหน้าวัดสังเวช ขุดผ่านไปถึงวัดสะแก แล้วอ้อมผ่านกลับลงไปทางด้านใต้ของโค้งน้ำเจ้าพระยาตรงบริเวณวัดเชิงเลน และสิ้นสุดที่วัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร หรือวัดสามปลื้ม รวมระยะทางที่ขุดมากกว่า 3 กิโลเมตร รัชกาลที่ 1 พระราชทานนาม เรียกว่า “คลองรอบกรุง”
คลองรอบกรุง มีชื่อเรียกแตกต่างกันเป็นตอนๆ ตามสถานที่สำคัญที่คลองผ่าน เช่น ตอนต้นผ่านตำบลบางลำพู เรียก “คลองบางลำพู” เมื่อผ่านสะพานหันเรียก “คลอง
สะพานหัน” เมื่อผ่านวัดเชิงเลนเรียก “คลองวัดเชิงเลน” และช่วงสุดท้ายเรียก “คลองโอ่งอ่าง” เพราะเคยเป็นแหล่งค้าขายโอ่ง อ่าง กระถาง และภาชนะต่างๆ ที่ปั้นด้วยดินเผาของชาวมอญและชาวจีนที่เข้ามาค้าขายกับสยามในสมัยนั้น