“วันตรุษจีน” เป็นมาอย่างไร?

Culture ศิลปวัฒนธรรม
ฮั่นอู่ตี้

"วันตรุษจีน" หรือ "ชุนเจี๋ย" หรือ "วันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน"

ในสมัยก่อนนั้นมีความแตกต่างกันไปในแต่ละแคว้น แต่ละยุคสมัย นั่นเป็นเพราะว่าปฏิทินที่ใช้ในแต่ละยุคสมัยของจีนมีการกำหนดวันตรุษจีนแตกต่างกัน บางยุคใช้แบบสุริยคติ  บางยุคใช้แบบจันทรคติ  จึงทำให้วันขึ้นปีใหม่ของชาวจีนไม่ตรงกันเลย

ในสมัยจีนยุคโบราณจะให้ความสำคัญกับ “วันลี่ชุน” ซึ่งถือกันว่าเป็นวันเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ มากกว่าวันที่ 1 เดือน 1 วันลี่ชุนจะนับช่วงเวลาตามสุริยคติ ในวันนี้จะมีการเฉลิมฉลองและอัญเชิญเทพเจ้า ถือเป็นวันบวงสรวงสวรรค์ ประกอบพิธีเข้าเฝ้าจักรพรรดิ รวมถึงมีการเสี่ยงทายการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และขอพรจาก “เทพเจ้าการเกษตร” ให้การเก็บเกี่ยวอุดมสมบูรณ์

ส่วนจุดเริ่มต้นที่กำหนดให้วันที่ 1 เดือน 1 ของทุกๆ ปี ตามปฏิทินจีน เป็นวันเริ่มต้นปีใหม่ของจีนและใช้กันมาจนถึงทุกวันนี้ กำเนิดขึ้นในยุคสมัยราชวงศ์ฮั่น ราวปี พ.ศ.439(ก่อนคริสต์ศักราชประมาณ 104 ปี)  “จักรพรรดิฮั่นอู่ตี้”ทรงประกาศใช้ปฏิทิน “ไท่ซู”  ซึ่งกำหนดให้เอา วันที่ 1 เดือนอ้าย(เดือนแรกของปี) ให้เป็นวันเริ่มต้น นับจากนั้นปฏิทินไท่ซู ถูกใช้แทนปฏิทินอื่นๆ และต่อเนื่องมาเป็นเวลานานกว่า 2,000 ปี ซึ่งถือเป็นจุดกำเนิดของวันตรุษจีนที่ชาวจีนในไทยยึดถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีนในปัจจุบัน

ตามปฏิทินจีน “วันตรุษจีน” หรือวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน จะอยู่ช่วงระหว่างปลายเดือนมกราคม ถึงช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งแต่ละปีอาจคลาดเคลื่อนแตกต่างกันไป (เนื่องจากจำนวนวันในเดือนของปฏิทินจีน บางเดือนมี 29 วัน บางเดือนมี 30 วัน แตกต่างกับปฏิทินสากล) ด้วยเหตุนี้วันขึ้นปีใหม่ของชาวจีนในแต่ละปีไม่จึงไม่ตรงกันเลย

เรื่อง “วันชุนเจี๋ย” นี้ มีเรื่องเล่ากึ่งนิทานของชาวบ้าน คำว่า “ชุนเจี๋ย” เกี่ยวโยงกับ “ซิ่ว” หรือ “ซิ่วแช” เทพแห่งอายุวัฒนะ ที่เป็น 1 ใน 3 เทพมงคลของคนจีน คือ ฮก ลก ซิ่ว

เรื่องราวเกิดขึ้นในยุคสมัยของพระเจ้าจูอี่ ซึ่งเป็นฮ่องเต้องค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์ซาง ในสมัยนั้นมีชายหนุ่มชื่อ “ว่านเหนียน” สนใจเกี่ยวกับวิชาดาราศาสตร์ เขาศึกษาจนกระทั่งมีความชำนาญ ในยุคนั้นปฏิทินที่ใช้กันยังไม่มีความแม่นยำ ฤดูกาลที่กำหนดไว้คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ก่อให้เกิดผลเสียหายต่อการเกษตร  ส่วนการควบคุมฤดูกาลนั้น ควบคุมโดย “อำมาตย์เหิง”  ซึ่งไม่ยอมรับว่าตนด้อยไม่มีความรู้ กลับไปโทษผีสางเทวดา อำมาตย์เหิงกราบทูลพระเจ้าจู่อี่ให้สร้างหอขนาดมหึมาเพื่อทำพิธีบวงสรวงฟ้าดิน 

เมื่อเรื่องนี้รู้ไปถึงว่านเหนียน เขาเห็นว่าการกระทำเช่นนี้ไม่อาจแก้ปัญหาได้  จึงขอเข้าเฝ้าพระเจ้าจู่อี่ อธิบายถึงสาเหตุที่ทำให้การคำนวณปฏิทินแบบเก่าผิดพลาด เมื่อได้ฟังเหตุผลของว่านเหนียน พระเจ้าจูอี่จึงระงับการสร้างหอบวงสรวง แล้วเปลี่ยนไปสร้างหอดาราศาสตร์ให้ว่านเหนียนศึกษาค้นคว้าเพื่อปรับปรุงปฏิทินให้ถูกต้อง  เรื่องนี้ทำให้อำมาตย์เหิงไม่พอใจ และกลัวว่าถ้างานของว่านเหนียนสำเร็จ  ตนจะถูกปลด  จึงส่งคนไปลอบฆ่าว่านเหนียน แต่คนที่ส่งไปถูกจับเสียก่อน  เมื่อเรื่องไปถึงพระเจ้าจูอี่ ทรงสอบสวนจนทราบเรื่องทั้งหมด และรับสั่งลงโทษอำมาตย์เหิงอย่างหนัก  และคืนนั้นพระเจ้าจูอี่ได้เสด็จไปเยี่ยมว่านเหนียน ที่หอดาราศาสตร์ 

เมื่อไปถึงว่านเหนียนกราบบังคมทูล ว่าขณะนี้เป็นเวลาเที่ยงคืนพอดี ปีเก่ากำลังจะผ่านพ้นไป วสันต์ใหม่กำลังจะเริ่มต้น ขอพระองค์ทรงโปรดตั้งชื่อวันนี้ไว้เป็นที่ระลึกเถิด พระเจ้าจูอี่รับสั่งว่า “วสันต์เป็นต้นปี จงเรียกวันนี้ว่า ตรุษวสันต์(ชุนเจี๋ย) เถิด” ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของคำว่า ชุนเจี๋ย

เทพไท้ส่วยเอี้ย หรือ เทพเจ้าคุ้มครองดวงชะตา
เทพเสินหนง หรือเทพกสิกรรม

ขณะเดียวกัน วันคืนผ่านไป ว่านเหนียนใช้เวลาปรับปรุงปฏิทินจนถูกต้องแม่นยำและพากเพียรทำงานจนสำเร็จ พระเจ้าจูอี่ทรงตื้นตันพระทัย จึงทรงตั้งชื่อปฏิทินใหม่นั้นว่า “ปฏิทินของว่านเหนียน” หรือ “ว่านเหนียนลี่”  ทั้งยังทรงแต่งตั้งให้ว่านเหนียนเป็น “โส้วซิง” หรือ “ซิ่วแช” เทพแห่งอายุวัฒนะ ซึ่งหมายถึงการมีอายุมั่นขวัญยืน สุขภาพแข็งแรง ในเทศกาลตรุษจีนชาวบ้านนิยมแขวนภาพเทพแห่งอายุวัฒนะ เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของว่านเหนียนนั่นเอง

ปัจจุบันคำว่า” ว่านเหนียนลี่” หมายถึง “ปฏิทินร้อยปี” ของจีน