Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

เรื่องเล่าสาววัง-เล่นผีถ้วยแก้วในวัง เจอ “สุนทรภู่”

เรื่องราว “ชวนหัว” ในวังจากการบอกเล่าของ ม.ล.เนื่อง นิลรัตน์ ในหนังสือชุด “ชีวิตในวัง” (และนอกวัง) ได้รับความสนใจอย่างมาก ช่วงหนึ่งเล่า “เรื่องลี้ลับ” และกิจกรรมพิสูจน์ข้อสงสัยสิ่งเหนือธรรมชาติในวังด้วยการเล่น “ผีถ้วยแก้ว” ซึ่ง “ผู้ร่วมวง” ถึงกับเจอ “สุนทรภู่” ด้วย

ม.ล.เนื่อง นิลรัตน์ บุตรีของหม่อมราชวงศ์อั้น นิลรัตน์ และนางเผือก นิลรัตน์ ณ อยุธยา ซึ่งสืบราชสกุลจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น 2 กรมหมื่นอลงกฎกิจปรีชา เติบโตในพระราชวังสวนสุนันทา เรียนรู้วิชาการครัวภายในวัง ต่อมาเป็นผู้เขียนบอกเล่าประสบการณ์ในหนังสือ “ชีวิตที่อยู่ร่วมกันในวังสวนสุนันทา” แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ ม.ร.ว.ศรีคำ ทองแถม เมื่อปี 2528

เนื้อหาในหนังสือมีหลากหลายแง่มุมที่น่าสนใจ นิตยสารศิลปวัฒนธรรมจึงติดต่อผ่านทางคุณโอฬาร ไกรฤกษ์ ขอให้ ม.ล.เนื่อง เขียนบอกเล่าเรื่องในวังต่อเนื่อง

เรื่องราวจากฉบับสิงหาคม 2529 ปรากฏเนื้อหาส่วนหนึ่งเล่าเรื่องราวจากเดิมที ม.ล.เนื่อง มีนัดคุยกันกับคนคุ้นเคยที่นอกตำหนักเวลา 5 ทุ่ม แต่น.ส.ฉวี มิลินทจินดา ซึ่งในกลุ่มเรียกกันในนาม “ฉวีใหญ่” (ภายหลังสมรสกับร้อยตรี สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งภายหลังเป็นยศจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์) เอ่ยทานว่า มีของดีมาจากบ้าน อย่าเพิ่งหนีไปเที่ยวนอกตำหนัก

ของดีที่ว่าเป็น “ผีถ้วยแก้ว” ที่จะมาสอนกลุ่มม.ล.เนื่อง โดยฉวี เป็นผู้จัดหากระดาษมาตัดเป็นวงกลมใหญ่ เขียนตัวอักษรก.ไก่ ถึง ฮ.นกฮูก เขียนสระไว้ภายใน จัดแจงเล่าวิธีเล่นเสร็จเรียบร้อย นัดแนะเริ่มเล่นในเวลาตี 1 ผู้เล่นในครานั้นมีหลายคน อาทิ ม.ล.เนื่อง, ฉวีใหญ่, แม่พูล อมาตยกุล และน.ส.เลี่ยม (ผู้เล่าจำนามสกุลไม่ได้) นัดกันเล่นที่เรือนแม่ขนมต้ม อมาตยกุล และยังมีผู้ที่หวาดกลัวขอชมอีกหลายราย อาทิ น.ส.เพิ่ม เดชะคุป (ธิดาพระยาโบราณราชธานิน)

เมื่อลงมือเล่น นิ้วที่กล้าแตะบนแก้วเหลือ 5 นิ้วคือ ม.ล.เลื่อม, ฉวีใหญ่, คุณวงศ์สินธุ์, น.ส.เลี่ยม และแม่สุดา ทันทีที่แก้วเคลื่อน น.ส.เลี่ยม เอ่ยถามว่า “ผีใครมาอยู่ในแก้ว ขอให้บอกชื่อมาด้วย แล้วจะทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้”

ม.ล.เนื่อง เล่าว่า แก้ววิ่งไปที่ตัวอักษร ส.เสือ แล้วไปสระอุ แล้วครอบน.หนู จนกระทั่งสะกดได้ครบว่า “สุนทรภู่” ทำให้เกิดเสียงเอะอะโกลาหล บ้างกลัวรีบกราบลงที่โต๊ะ บ้างก็บอกเชิงเรียกคุณตามาก็ดีนะ ไม่ทำอะไรลูกหลาน เหลือแต่น.ส.เลี่ยม ที่ไม่กลัวถามกลับไปว่า “คุณตาอยู่สบายดีหรือคะ”

แก้วเลื่อนไปที่อักษร สะกดว่า “เออสบาย”

ผู้เล่นในวงเริ่มหายกลัวกัน แม่พูล เอ่ยถามว่า อยากกินอะไร พรุ่งนี้เช้าจะทำไปถวายพระอุทิศให้คุณตา

แก้วเดินไปครอบตัวหนังสือสะกดว่า “ตาอยากกินขนมจีนแกงเนื้อ”

“ได้กินแน่คุณตา พรุ่งนี้แม่พูลเขาจะทำไปถวายพระที่วัดราชา” น.ส.เลี่ยม รีบเอ่ย

หลังจากหายกลัวแล้ว ข้อสงสัยของผู้เล่นในวงเริ่มตามมา “แม่เพิ่ม” ที่ร่วมวงด้วยสงสัยว่า จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นสุนทรภู่จริง สุนทรภู่นั้นแต่งกลอนเก่ง เลยอยากขอให้แต่งกลอนให้เชื่อถือ

ม.ล.เนื่อง เล่าว่า แก้วเริ่มครอบที่ตัวหนังสืออีก คนในนั้นสะกดตามไปได้ใจความว่า

“หลาน-หลานเอ๋ยเลิกเถิดประเสริฐยิ่ง
ตารักหลานทุกๆ คนซนจริงๆ
ตาไม่วิ่งแล้วพับเผื่อย เหนื่อยจะตาย”

ว่าแล้วแก้วก็ล้มลง ไม่เดินต่อ ทุกคนฮาชอบใจกันทั่ว แต่แล้วเมื่อเงยหน้าขึ้นจากโต๊ะจึงรู้สึกใจหายวาบ เหงื่อเย็นออก หัวใจเหมือนตกไปที่ตาตุ่มเมื่อเห็นคุณพระเลื่อน (พระพี่เลี้ยงของสมเด็จเจ้าฟ้านิภานพดล) ยืนหน้าบึ้งกลางประตูห้องเหนือบันได เป็นบุคคลที่ม.ล.เนื่อง เล่าว่า มีอำนาจจะ “เพ็ดทูล” ฟ้องใครๆ ก็ย่อมได้จึงเป็นที่เกรงกลัวทั้งวัง

คราแรกคุณพระเลื่อน เข้าใจว่ามาเล่นพนัน มั่วสุม ส่งเสียงจนได้ยินไปถึงถนนจึงทำให้ขึ้นมาดู จากนั้นจึงกวาดตาไปรอบๆ เสมือนจดจำว่ามีใครบ้าง

เป็นพี่เลี่ยม ที่ไม่ค่อยเกรงกลัวใครเอ่ยขึ้นว่า “ไม่ได้มาพนันแต่เล่นทายหนังสือกัน ใครทายผิดต้องเขกกระดาษ” คุณพระเลื่อนเห็นของจริงก็ไม่เข้าใจว่าเป็นอะไร แค่มองค้อนและว่ากล่าวให้ไปพักผ่อน ห้ามไม่ให้ประชุมแบบนี้อีก ถ้าไม่เชื่อจะกราบทูลให้ทรงทราบ

รุ่งขึ้นแม่พูล ตื่นไปจ่ายเครื่องขนมจีนแกงเนื้อแต่เช้ามืด ผู้ใจบุญเรี่ยไรออกเงินให้แม่พูลอีกต่างหาก ความมาเฉลยเมื่อพี่เลี่ยม แอบเล่าให้ม.ล.เนื่อง ถึงเหตุผลที่ไม่ได้ออกเงินให้แม่พูล เพราะ มันไม่เป็นความจริง!! ม.ล.เนื่อง เขียนเล่าที่ได้ยินพี่เลี่ยมเอ่ยว่า

“ฉันเอานิ้วดันให้ถ้วยมันเดิน ฉันโกหกว่าสุนทรภู่มา ฉันถามฉันตอบแทนสุนทรภู่ทั้งนั้น กลอนนั่นฉันก็แต่งเอาเดี๋ยวนั้นเอง เพราะแม่เพิ่มเขาสงสัยนี่…บอกให้แล้วอย่าเที่ยวแหกปากนะ เดี๋ยวคนอื่นจะรู้ เจ็บใจคุณพระเลื่อนนัก เราจะเล่นอะไร-ทำอะไร เที่ยวสอดรู้สอดเห็นไปเสียหมด                     ดีละ ฝากไว้ก่อน”

ม.ล.เนื่องเขียนลงท้ายใจความส่วนนี้ว่า “ข้าพเจ้าฟังพี่เลี่ยมแล้วงงเลย พูดไม่ออก ได้แต่คิดว่า ผีถ้วยแก้วนี่ที่เขาเล่นเชิญมาจริงๆ มันจะเป็นไปได้ไหม แล้วที่บ้านฉวีใหญ่เขาเล่นกันมันโกหกหรือจริงล่ะ?”

อ้างอิง : นิตยสารศิลปวัฒนธรรม : ตุลาคม 2563/ ม.ล.เนื่อง นิลรัตน์. บทความ “รำลึกความหลังในวังสวนสุนันทา” ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 7 ฉบับที่ 10 สิงหาคม, 2529