อันตรายจาก “เบาหวานลงไต”

Health สุขภาพดีๆ

นอกจากโรคเบาหวานจะเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดแล้ว ยังมีภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายได้อีกด้วย โดย ศ. นพ.ถลิงศักดิ์ กาญจนบุษย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า 1 ใน 3 ของผู้ป่วยเบาหวาน มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคไตเรื้อรังร่วมด้วย หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เบาหวานลงไต

อาการเมื่อเกิดเบาหวานลงไต

เบาหวานลงไต ในช่วงแรกจะไม่มีความผิดปกติปรากฏ นอกจากไตทำงานหนัก อาจจะมีโปรตีนรั่วหรือไข่ขาวรั่วในปัสสาวะ การทำงานของไตลดลง ทำให้มีของเสียคั่ง น้ำคั่ง ทำให้เกิดตัวบวม แขนขาบวม อาจถึงขั้นล้างไตหรือเปลี่ยนไต

กลุ่มเสี่ยงเบาหวานลงไต

กลุ่มผู้ป่วยที่พบได้บ่อย ได้แก่ ผู้ป่วยเบาหวานที่คุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี

  1. มีภาวะความดันโลหิตสูงต่อเนื่อง
  2. อ้วน
  3. สูบบุหรี่
  4. มีเบาหวานขึ้นจอประสาทตา
  5. มีญาติใกล้ชิดในครอบครัวป่วยเป็นโรคไตเรื้อรัง

ความเสี่ยงเมื่อเบาหวานลงไต

  • เมื่อเบาหวานลงไตจะเพิ่มความเสียงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงกว่าคนที่เป็นเบาหวานแต่ไม่ลงไต
  • มีโอกาสทำให้เกิดโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายหรือระยะที่ต้องทำการฟอกไตเพื่อช่วยยืดอายุ
  • ผู้ที่เป็นเบาหวานลงไตจะมีโอกาสติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะได้ง่าย ส่งผลให้ไตทรุดตัวได้เร็วและหากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีอาจทำให้เสียชีวิตได้

การดูแลตัวเองของผู้ป่วยเบาหวาน

ผู้ป่วยโรคเบาหวานต้องรู้จักคำว่า “น้ำตาลสะสม” และเป้าหมายในการรักษาตนเองน้ำตาลสะสม ควรมีระดับที่เท่าไหร่ ซึ่งเป้าหมายแต่ละคนไม่เท่ากัน ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน

สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน อาหารและการควบคุมอาหารเป็นหลักการสำคัญในการดูแลตนเอง ซึ่งจะต้องรับประทานอาหารที่เหมาะสม จำกัดอาหารจำพวก ข้าว แป้ง น้ำตาล เน้นทานผัก ผลไม้ แต่ผลไม้บางชนิดมีน้ำตาลสูง เช่น ทุเรียน สับปะรด มะม่วง ก็ไม่ควรที่จะรับประทานมาก นอกจากนี้การออกกำลังกายก็จะทำให้ควบคุมเบาหวานได้ดีขึ้นและสิ่งที่มักมาคู่กับโรคเบาหวาน คือ ความดันโลหิตและระดับไขมันก็ควรควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม

ข้อมูล : ศ.นพ.ถลิงศักดิ์ กาญจนบุษย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน เกร็ดความรู้สุขภาพ 15 ธันวาคม 2017