นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่ากรมศิลปากร โดยสำนักหอสมุดแห่งชาติ ได้พัฒนาฐานข้อมูลจารึก คัมภีร์ใบลาน หนังสือสมุดไทย และตู้พระธรรม (เอกสารโบราณ) ให้บริการสืบค้นข้อมูลทางด้านเอกสารโบราณออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ http://manuscript.nlt.go.th เพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และเป็นการให้บริการวิถีใหม่ ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19)
กรมศิลปากร ได้พัฒนาระบบฐานข้อมูลจารึก คัมภีร์ใบลาน หนังสือสมุดไทย และตู้พระธรรม เป็นฐานข้อมูลสืบค้นเกี่ยวกับเอกสารโบราณ อยู่ในความรับผิดชอบของกลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลรักษา ลงทะเบียน จัดเก็บ และให้บริการเอกสารโบราณที่มีอายุนับ 100 ปีขึ้นไป โดยในระยะแรก ผู้ใช้บริการสามารถสืบค้นข้อมูลจารึกในประเทศไทย จำนวน 179 รายการ ผ่านทาง http://manuscript.nlt.go.th/publicsearch
โดยข้อมูลประเภทจารึก ผู้ใช้บริการสามารถดาวน์โหลดข้อมูลได้ในรูปแบบไฟล์ pdf ข้อมูลประเภทหนังสือสมุดไทยและคัมภีร์ใบลาน ผู้ใช้บริการสามารถจดเลขทะเบียนเอกสารเพื่อขอใช้บริการอ่านต้นฉบับหนังสือสมุดไทยและคัมภีร์ใบลานได้ที่ ห้องบริการเอกสารโบราณ กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ นอกจากนี้ ยังมีการเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับเอกสารโบราณ ได้แก่ คู่มือการอ่านถ่ายถอดอักษรขอม คู่มือการอ่านถ่ายถอดอักษรธรรมอีสาน คู่มือการอ่านถ่ายถอดอักษรไทยน้อย คู่มือสำรวจ จัดหา รวบรวมทรัพยากรสารสนเทศเอกสารโบราณประเภทจารึก โดยผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดหนังสือในรูปแบบไฟล์ pdf ได้เช่นเดียวกับข้อมูลประเภทจารึก
อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวต่อไปว่า ในปีงบประมาณ 2564 นี้ อยู่ระหว่างการพัฒนาฐานข้อมูลตู้พระธรรมหรือตู้ลายทอง ในขั้นตอนถ่ายภาพตู้พระธรรมและนำเข้าภาพถ่ายลงในฐานข้อมูลจารึก คัมภีร์ใบลาน
หนังสือสมุดไทย และตู้พระธรรม (เอกสารโบราณ) รวม 405 รายการ และในอนาคตผู้ใช้บริการจะสามารถศึกษาค้นคว้าข้อมูลเอกสารโบราณจากสำนักหอสมุดแห่งชาติ ส่วนกลาง และหอสมุดแห่งชาติส่วนภูมิภาค 11 แห่งทั่วประเทศ
ทั้งนี้ กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ มีข้อมูลจารึก คัมภีร์ใบลาน หนังสือสมุดไทย และตู้พระธรรม (เอกสารโบราณ) อยู่ในความดูแลกว่า 322,000 รายการ ผู้สนใจสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ อาคาร 2 ชั้น 4 สำนักหอสมุดแห่งชาติ ถนนสามเสน แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300 เปิดบริการ จันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00 – 16.00 น.
นายประทีปกล่าวเพิ่มเติมว่าสำหรับฐานข้อมูลจารึก คัมภีร์ใบลาน หนังสือสมุดไทย และตู้พระธรรม (เอกสารโบราณ) เป็นฐานข้อมูลสืบค้นเกี่ยวกับเอกสารโบราณ อยู่ในความรับผิดชอบของกลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลรักษา ลงทะเบียน จัดเก็บ และให้บริการ แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1. จารึก คือ เอกสารประเภทที่มีรูปอักษรเป็นร่องรอยลึกลงในเนื้อวัตถุต่างๆ ซึ่งสำเร็จด้วยกรรมวิธีจารึก เช่น รูปอักษรที่ปรากฏบนแผ่นศิลา เรียกว่า ศิลาจารึก รูปอักษรที่ปรากฏบนแผ่นไม้ เรียกว่า จารึกบนแผ่นไม้ รูปอักษรที่ปรากฏบนแผ่นโลหะมีลักษณะสี่เหลี่ยมคล้ายใบลาน เช่น แผ่นทอง แผ่นเงิน แผ่นนาค เรียกว่า จารึกลานทอง จารึกลานเงิน จารึกลานนาค เป็นต้น
2. คัมภีร์ใบลาน คือ หนังสือที่จารตัวอักษร หรือการเขียนตัวอักษรด้วยเหล็กแหลมลงบนใบลาน ซึ่งเป็นใบของต้นไม้ชนิดหนึ่ง เรียกว่า ต้นลาน คัมภีร์ใบลานส่วนใหญ่ใช้จารคำสอนทางพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะพระไตรปิฎก นอกจากนี้ ยังจารเรื่องราวเกี่ยวกับกฎหมาย ตำราเวชศาสตร์ ตำราโหราศาสตร์ และตำราไสยาศาสตร์ เป็นต้น
3. หนังสือสมุดไทย คือ เอกสารโบราณที่ทำจากเปลือกไม้ชนิดต่างๆ ที่สามารถนำมาใช้ทำเป็นกระดาษได้ เช่น เปลือกข่อย เปลือกปอ เปลือกสา เป็นต้น ทำให้หนาพอสมควรและเป็นแผ่นยาวๆ ติดต่อกันพับกลับไปกลับมาได้ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เขียนได้ทั้ง 2 ด้าน และมี 2 สี ได้แก่ หนังสือสมุดไทยดำ และหนังสือสมุดไทยขาว เรื่องราวที่ปรากฏในหนังสือสมุดไทย จะเป็นตำราเวชศาสตร์ ตำราโหราศาสตร์ กฎหมาย และยังไม่สมุดภาพต่างๆ เช่น สมุดภาพสัตว์หิมพานต์ สมุดภาพโคลงฤาษีดัดตน สมุดภาพปฤษณาธรรม เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังได้ดูแลรักษาและให้บริการตู้ไทยโบราณหรือตู้ลายทอง ซึ่งอาจเรียกว่า ตู้ลายรดน้ำหรือตู้พระธรรม ก็ได้ ลักษณะของตู้ไทยโบราณ เป็นตู้ทรงสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ มีชั้นวางหนังสือเฉลี่ย 2-3 ชั้น
สำหรับเก็บรักษาพระไตรปิฎกซึ่งเป็นหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนาจะมีการตกแต่งตู้ด้วยลวดลายที่ประณีตงดงามทำให้มีการเรียกประเภทของตู้ไปตามลักษณะของการตกแต่งที่เกิดขึ้น เช่น ลายรดน้ำ เป็นต้น ลวดลายที่นิยมตกแต่ง เช่น ลายกนกเปลวเพลิง ลายกนกรวงข้าว เป็นต้น รูปภาพที่ใช้เขียนบนตู้ลายทอง เช่น รูปรามเกียรติ์ รูปสัตว์หิมพานต์ รูปเทวดา หรือรูปเรื่องราวจากชาดกต่างๆ เป็นต้น ทั้งนี้ นอกจากตู้ไทยโบราณแล้ว ยังดูแลหีบพระธรรม หีบหนังสือสวด หรือหีบพระมาลัย และหีบหนังสือเทศน์ เพื่อให้บริการศึกษา ค้นคว้า ทางด้านศิลปะลายไทย และการประดิษฐ์ลายรดน้ำอีกด้วย