“ไตรกลีเซอไรด์” เป็นไขมันที่มักพบในร่างกาย และหลายคนมักพยายามลดปริมาณไตรกลีเซอไรด์ในร่างกายเพราะเข้าใจว่าเป็นไขมันที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่อาจยังไม่ทราบว่าไตรกลีเซอไรด์อันตรายจริงหรือไม่ และอันตรายอย่างไรบ้าง
ไตรกลีเซอไรด์ คืออะไร?
ผศ.พญ.ดรุณีวัลย์ วโรดมวิจิตร หัวหน้าสาขาวิชาโภชนวิทยาและชีวเคมีทางการแพทย์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล ให้ข้อมูลไว้ในรายการของ Mahidol Channel ว่า ไตรกลีเซอไรด์ คือ ไขมันประเภทหนึ่งในร่างกายที่เกิดขึ้นได้จากการรับประทานอาหารประเภทไขมันในปริมาณมาก เช่น ขาหมู มันหมู เราจึงพบค่าไตรกลีเซอไรด์ที่สูงในคนอ้วนเป็นส่วนมาก
แต่ปัญหาก็คือผู้ป่วยส่วนใหญ่มักละเลยในค่าไตรกลีเซอไรด์ที่สูงเพราะไม่อาจควบคุมอาหารที่รับประทานได้ จึงทำให้ผู้ป่วยประสบปัญหากับโรคต่างๆ ตามมาทั่วร่างกายทั้ง ตับ ไต หัวใจ สมอง
สาเหตุไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง
- รับประทานอาหารที่มีน้ำตาลมากเกินไป น้ำตาลในเลือดที่สูงจะเปลี่ยนรูปเป็นไตรกลีเซอไรด์ได้ โดยเฉพาะอาหารประเภทข้าว แป้ง น้ำตาล กลุ่มที่สามารถดูดซึมได้อย่างรวดเร็ว เช่น น้ำหวาน เป็นต้น
- ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
- ผลข้างเคียงจากการรับประทานยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ ยาคุมกำเนิด ยารักษาไทรอยด์ เป็นต้น
ระดับไตรกลีเซอไรด์ที่ปกติ
เมื่อเรางดน้ำงดอาหาร 8-10 ชั่วโมง แล้วมาตรวจร่างกายที่โรงพยาบาล ระดับไตรกลีเซอไรด์ที่ปกติควรน้อยกว่า 150 mg/dl หากมีไตรกลีเซอไรด์สูงกว่า 500 หรือ 1000 mg/dl อาจเสี่ยงตับอ่อนอักเสบได้
ปกติแล้วคนเรามี “อินซูลิน” ที่ทำหน้าที่ช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ เอาน้ำตาลไปเก็บ ถ้าไตรกลีเซอไรด์สูง อินซูลินจะทำงานหนักมากและเริ่มทำงานไม่ไหว เมื่อนั้นอาจทำให้ไตรกลีเซอไรด์ค่อยๆ เริ่มสูงขึ้นได้ ดังนั้นปริมาณของไตรกลีเซอไรด์ในร่างกายจะสูงขึ้นเมื่อเรารับประทานอะไรเท่าไรอย่างไรในแต่ละคนจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับการทำงานของอินซูลินของแต่ละคนด้วย
สัญญาณอันตราย “ไตรกลีเซอไรด์” สูง
หากร่างกายมีไตรกลีเซอไรด์สูง อาจไม่มีอาการใดๆ แสดงให้เห็นก็ได้ แต่คนที่มีไตรกลีเซอไรด์สูงเป็นเวลานาน หรือมีความผิดปกติมาจากกรรมพันธุ์ อาจมีอาการบางอย่างแสดงออกให้เห็นอยู่บ้าง เช่น
- ตุ่มเล็กๆ ที่ข้อศอก แขน หรือลำตัว แต่อาจจะเจอไม่บ่อย
- หากไตรกลีเซอไรด์สูงมากจนเสี่ยงตับอ่อนอักเสบ อาจแสดงอาการบางอย่าง เช่น ปวดท้องบริเวณกลางท้องอย่างรุนแรงจนอาจทะลุไปด้านหลัง
4 โรคอันตรายจาก “ไตรกลีเซอไรด์” สูงเกินไป
หากยังปล่อยให้มีปริมาณไตรกลีเซอไรด์ในร่างกายสูงเกินไป อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคอันตรายต่างๆ ได้ ดังนี้
- หลอดเลือดแข็ง
- หลอดเลือดสมอง
- หลอดเลือดหัวใจ
- ตับอ่อน
ดังนั้นจึงจำแนกได้ว่า อันตรายที่อาจเกิดขึ้นเมื่อไตรกลีเซอไรด์สูง จะเกิดขึ้นกับ ตับ ไต หัวใจ และสมอง
อาหารลดไตรกลีเซอไรด์
น้ำมันปลา
น้ำมันปลา (ไม่ใช่ น้ำมันตับปลา) หรือ fish oil มีกรดไขมันโอเมก้า-3 โดยปกติแล้วร่างกายต้องการเพียง 500 มก. – 1 กรัม แต่หากจะ
กินน้ำมันปลาเพื่อลดไตรกลีเซอไรด์ ต้องบริโภคราว 2-4 กรัมต่อวัน ดังนั้นจะต้องกินในปริมาณที่มากกว่าปกติถึง 4-8 เท่า เพื่อประสิทธิภาพในการลดไตรกลีเซอไรด์โดยเฉพาะ
อาหารที่ไม่ได้ช่วยลดไตรกลีเซอไรด์
กระเทียม – ช่วยลดความดันโลหิตสูง แต่ไม่ได้ช่วยลดไตรกลีเซอไรด์
น้ำผึ้ง – รับประทานมากๆ อาจเพิ่มไขมันไตรกลีเซอไรด์ได้
กินอย่างไร ถึงจะช่วยลดไตรกลีเซอไรด์
- ลดการรับประทานอาหารที่ไม่มีไขมันสูง รวมถึงแป้งและน้ำตาลสูงด้วย
- กินอาหารตามปกติ แต่ควบคุมไม่กินมากเกินไป
- ใครที่น้ำหนักเกินมาตรฐานอยู่ ควรลดน้ำหนักลงมาให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ หรือลดลงมา 5% จากน้ำหนักเดิม
- ออกกำลังกาย 3-5 ครั้ง หรือ 150 นาทีต่อสัปดาห์ (วันละ 30-50 นาที)
- ลดการดื่มแอลกอฮอล์
ข้อมูล : ผศ.พญ.ดรุณีวัลย์ วโรดมวิจิตร หัวหน้าสาขาวิชาโภชนวิทยาและชีวเคมีทางการแพทย์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล ในรายการของ Mahidol Channel