พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการทำธนาคารชีวภาพ สำหรับโรคมะเร็งแบบครบวงจร

ประชาสัมพันธ์

พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการทำธนาคารชีวภาพสำหรับโรคมะเร็งแบบครบวงจร ระหว่าง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 16 มีนาคม 2564 ที่ห้องประชุม 1 สำนักงานคณบดี ชั้น 5 อาคารบริหาร คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ จัดงานแถลงข่าวพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการทำธนาคารชีวภาพสำหรับโรคมะเร็งแบบครบวงจร ระหว่าง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ 

. นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มีผู้ป่วยใหม่ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งรายใหม่และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นจำนวนมากกว่า 4,500 รายต่อปี โดยมีผู้ป่วยที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งสมองประมาณปีละ 100 รายต่อปี ซึ่งการรักษาโรคมะเร็งโดยเฉพาะโรคมะเร็งสมอง จัดอยู่ในกลุ่มโรคมะเร็งที่มีความสำคัญ เนื่องจากมีความยากในการรักษา ปัจจุบัน มีชิ้นเนื้อมะเร็งสมองที่จัดเก็บไว้ในธนาคารชีวภาพสำหรับโรคมะเร็งแบบครบวงจร คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล (Ramathibodi Comprehensive Tumor Biobank) จำนวน 52 ราย จากจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด 2,840 ราย ในการดำเนินงาน 6 ปี (พ.ศ. 2557 – 2564) และขณะนี้อยู่ในระหว่างพัฒนาวิธีการเพาะเลี้ยงเซลล์มะเร็งแบบ primary cell culture และ tumor organoid จากชิ้นเนื้อสดผู้ป่วยที่เหลือจากการวินิจฉัยและจัดเก็บอย่างเป็นระบบเพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ในงานวิจัยได้ในระยะยาว

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตระหนักถึงความสำคัญของความร่วมมือทางวิชาการและการบูรณาการความร่วมมือด้านการศึกษาวิจัย รวมถึงแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งสมองร่วมกัน ความร่วมมือในครั้งนี้ จะทำให้ธนาคารชีวภาพสำหรับโรคมะเร็งแบบครบวงจร เกิดการพัฒนารูปแบบบูรณาการทั้งด้านการศึกษา วิจัย และวิชาการ จากการใช้ฐานข้อมูลและตัวอย่างทางคลินิกร่วมกัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการร่วมพัฒนาแนวทางการวินิจฉัยและการรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยโรคมะเร็งชาวไทย รวมทั้งยังสามารถเป็นต้นแบบที่สำคัญให้แก่องค์กรหรือหน่วยงานอื่น ๆ ในด้านการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งสมองและโรคเรื้อรังที่มีค่ารักษาพยาบาลสูงต่อไปได้ในอนาคต

นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กล่าวว่า สถาบันประสาทวิทยาเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านสมองและประสาทไขสันหลังที่รับส่งต่อผู้ป่วยโรคเนื้องอกสมองและระบบประสาททั้งเด็กและผู้ใหญ่ทั่วประเทศ  มีการผ่าตัดเนื้องอกสมองและระบบประสาท ประมาณ 400-500 รายต่อปี จากการศึกษาวิจัยโครงการทะเบียนผู้ป่วยโรคเนื้องอกสมองและไขสันหลังในเด็ก

โดยชมรมโรคมะเร็งเด็กแห่งประเทศไทย ในปี พ.ศ.2554-2555 เพื่อศึกษาอุบัติการณ์เนื้องอกสมองและไขสันหลังในเด็กของประเทศไทย พบว่าสถาบันประสาทวิทยามีจำนวนผู้ป่วยเนื้องอกสมองและไขสันหลังในเด็กคิดเป็นร้อยละ 12.5  จัดเป็นอันดับ 2 ของประเทศ ดังนั้น ตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 สถาบันประสาทวิทยา ได้มีความร่วมมือระหว่างกุมารแพทย์ประสาทวิทยา ประสาทศัลยแพทย์ ประสาทรังสีแพทย์ พยาธิแพทย์ กับ กุมารแพทย์ด้านมะเร็งเด็ก และ แพทย์ด้านรังสีรักษา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในด้านการดูแลโรคเนื้องอกสมองในเด็กครบวงจร มีความร่วมมือด้านวิชาการ และ มีผลงานวิจัยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา

ปัจจุบันการวินิจฉัยและการรักษาโรคเนื้องอกสมองและระบบประสาท มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก มีการพัฒนาการรักษาแบบมุ่งเป้ามากขึ้น ทำให้อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น และความพิการน้อยลง ซึ่งต้องอาศัยพยาธิวิทยาของชิ้นเนื้อของเนื้องอกสมองและระบบประสาทที่มีอยู่ โดยเฉพาะด้านพันธุกรรม เพื่อพัฒนาการวินิจฉัย การรักษา และ การบอกพยากรณ์โรคอย่างชัดเจนมากขึ้น จึงเห็นควรให้มีการเก็บชิ้นเนื้อเนื้องอกสมองและระบบประสาทของเด็กและผู้ใหญ่เพื่อนำไปสู่การวิจัยที่ก้าวหน้าร่วมกันของทั้ง 2 สถาบันต่อไป