บางครั้งเรารู้สึกอ่อนเพลียเปลี้ยร่างเหลือเกินจนต้องอาศัยคาเฟอีนมาช่วยกระตุ้นให้รู้สึกตื่นตัว แต่ทราบไหมคะว่าคาเฟอีนก็มีด้านมืดที่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพเราได้เช่นกัน ซึ่งในคนทั่วไปไม่ควรบริโภคคาเฟอีนเกินวันละ 400 มิลลิกรัม ดังนั้นหากเผลอกินคาเฟอีนในปริมาณที่เกินขนาดก็เสี่ยงไม่น้อยเลยทีเดียว ที่สำคัญอาหารที่มีคาเฟอีนยังไม่ใช่แค่ชาและกาแฟเท่านั้น แต่รวมถึงอาหารมีคาเฟอีนเหล่านี้ด้วยที่ควรต้องระวัง
1. ชา
ชาดูเป็นเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์อ่อนกว่ากาแฟก็จริง แต่ไม่ว่าจะเป็นชาเย็น ชาร้อน ชาไต้หวัน ชาไทย หรือชาเขียวสำเร็จรูปบรรจุขวดรสต่างๆ ก็มีคาเฟอีนแฝงอยู่ไม่น้อย โดยฐานข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตรสหรัฐอเมริกา เผยว่า ชาเขียวร้อนมีปริมาณคาเฟอีนอยู่ที่ 25 มิลลิกรัม ต่อปริมาณบรรจุ 8 ออนซ์ หรือเท่ากับ 236.6 มิลลิลิตร และชาดำร้อนมีคาเฟอีน 47 มิลลิกรัม ต่อปริมาณชาดำ 8 ออนซ์
2. ขนมที่มีส่วนผสมของช็อกโกแลต โกโก้ ชาเขียว
ช็อกโกแลต 1 แท่ง ขนาดบรรจุ 162 กรัม โดยประมาณ จะประกอบไปด้วยคาเฟอีนราว 45-59 มิลลิกรัม ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของผงโกโก้ ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรสหรัฐอเมริกา เผยว่า อาหารที่ให้คาเฟอีนจริงๆ นั้นคือโกโก้ที่เป็นส่วนประกอบหนึ่งในช็อกโกแลตนั่นเอง ฉะนั้นช็อกโกแลตแท่งไหนทำจากโกโก้แท้และยิ่งเข้มข้นเท่าไร ปริมาณคาเฟอีนก็จะยิ่งสูงขึ้น รวมทั้งขนมต่างๆ ที่มีส่วนผสมของช็อกโกแลต โกโก้ ชาเขียว ชานม ด้วยนะ
3. ไอศกรีม
อ๊ะ ! ในไอศกรีมก็มีคาเฟอีนนะคะ โดยเฉพาะไอศกรีมที่มีส่วนผสมของโกโก้ (ช็อกโกแลต) ชาเขียว ชานม และไอศกรีมที่มีส่วนผสมของกาแฟ โดยปริมาณคาเฟอีนในไอศกรีมในถ้วยขนาดบรรจุ 4 ออนซ์ หรือประมาณ 113.4 กรัม จะอยู่ราวๆ 10-45 มิลลิกรัม บอกได้เลยว่าแม้ไอศกรีมจะหวานเย็นชื่นใจแต่อย่าเผลอกินจนเพลินเลยเชียว
4. น้ำอัดลม
รสชาติหวานซ่าของน้ำอัดลมเป็นที่ถูกอกถูกใจของหลายคน เพราะดื่มปุ๊บก็รู้สึกสดชื่นปั๊บ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจหรอกค่ะ เพราะนอกจากในน้ำอัดลมจะมีปริมาณน้ำตาลสูงแล้ว ก็ยังมีคาเฟอีนผสมอยู่ด้วย และแม้คาเฟอีนจะมีอยู่ไม่เยอะเท่าไร แต่อย่าลืมว่าหากดื่มน้ำอัดลมวันละหลายแก้วก็มีโอกาสจะได้รับคาเฟอีนเกินปริมาณที่ร่างกายควรได้ แถมยังอาจเสี่ยงโรคเรื้อรังอื่นๆ เพิ่มขึ้นอีก
5. เครื่องดื่มชูกำลัง
แน่นอนว่าคาเฟอีนจะต้องปะปนอยู่ในเครื่องดื่มชูกำลังไม่มากก็น้อย เพราะเครื่องดื่มที่ให้พลังงานเหล่านี้ชูจุดเด่นในเรื่องคืนความกระปรี้กระเปร่าให้ร่างกาย ซึ่งแต่ละยี่ห้อและชนิดของเครื่องดื่มชูกำลังก็จะให้ปริมาณคาเฟอีนที่ไม่เท่ากัน อีกทั้งเผลอๆ ในฉลากอาจไม่โชว์ส่วนประกอบของคาเฟอีนด้วย โดยเฉพาะหากเครื่องดื่มชนิดนั้นมีคาเฟอีนอยู่น้อยมากและมีปริมาณไม่ถึงเกณฑ์ที่สำนักงานอาหารและยาบังคับให้ต้องแจ้งโชว์ในฉลาก ดังนั้นบางทีเราอาจดื่มเครื่องดื่มและอาหารที่มีคาเฟอีนผสมอยู่แต่ไม่รู้ตัวก็ได้
6. ยาแก้ปวดบางชนิด
แม้ไม่ได้จัดอยู่ในลิสต์อาหาร ทว่าในยาแก้ปวดบางชนิดจะมีคาเฟอีนผสมอยู่ด้วย และยาแก้ปวด 2 เม็ดจะมีปริมาณคาเฟอีนสูงถึง 130 มิลลิกรัม ส่วนเหตุผลที่เราเจอคาเฟอีนในยาแก้ปวดแบบนี้ก็เนื่องจากคาเฟอีนมีฤทธิ์ระงับอาการปวดได้ เพียงแต่ต้องใช้ในปริมาณที่ฉลากหรือเภสัชกรกำหนดเท่านั้น หากรับตัวยาเกินกว่าปริมาณที่ร่างกายจะรับไหวก็จะได้ผลลัพธ์ในทางตรงกันข้าม ซึ่งก็คืออาการปวดหัวอย่างรุนแรงนั่นเอง ดังนั้นไม่ควรกินยาแก้ปวดเกินขนาดที่แพทย์แนะนำนะคะ
รู้จักโทษของคาเฟอีน
คาเฟอีนแก้ง่วงได้ก็จริง แต่อย่างที่บอกว่าหากรับคาเฟอีนเข้าร่างกายมากเกินไปจะส่งผลเสียต่อสุขภาพแน่นอน เบาะๆ ก็ทำให้นอนไม่หลับ ซึ่งก็กระทบต่อการทำงานของสมองและฮอร์โมน เพิ่มความเสี่ยงโรคอ้วน ลดประสิทธิภาพการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย และหากสร้างความเคยชินให้ร่างกายติดคาเฟอีนอย่างหนักก็อาจจะรู้สึกปวดหัวขั้นรุนแรง หงุดหงิด กระสับกระส่าย ซึมเศร้า น้ำมูกไหล คลื่นไส้ ง่วงซึม ถ้าไม่ได้เติมคาเฟอีนก็เหมือนสมองไม่แล่น นอกจากนี้หากโด๊ปคาเฟอีนเข้าไปมากๆ ก็เสี่ยงต่อการเสียชีวิตอย่างกะทันหันได้เลยนะ
หากอยากรอดพ้นจากโทษของคาเฟอีน ก็อย่าลืมเลี่ยงอาหารที่มีคาเฟอีนข้างต้นด้วย หรืออย่างน้อยก็ควรกินในปริมาณที่จำกัด จะได้ไม่เสี่ยงอันตรายจากคาเฟอีนกันนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : หมอชาวบ้าน, Live Strong, Health.com