วัดราชบูรณะ
เป็นเรื่องน่าสนใจอย่างยิ่งในแวดวงวิชาการด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี เมื่อ ศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์ จากภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ศึกษาวิจัยและวิเคราะห์เกี่ยวกับพระพุทธรูป พระพิมพ์ ในกรุวัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมทั้งรวบรวมข้อมูลทั้งหมดสรุปออกมาเป็นงานเขียนในหนังสือชื่อ “พระพุทธรูป พระพิมพ์ จากกรุพระปรางค์ วัดราชบูรณะ พระนครศรีอยุธยา” ซึ่งเนื้อหาบางตอนขอนำมากล่าวไว้ ณ ที่นี้ ในเรื่องของ “พระพุทธรูป”
วัดราชบูรณะ พระนครศรีอยุธยา เป็นวัดที่มีประวัติการสร้างและเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของกรุงศรีอยุธยา กล่าวคือ ประวัติวัดนี้สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) โปรดเกล้าฯ ให้ก่อพระเจดีย์ขึ้นบริเวณป่าถ่าน ที่เจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยาทรงชนช้างกันจนสิ้นพระชนม์ และทรงสถาปนาพระอารามขึ้นใน พ.ศ.1967 ถวายพระนามว่า “วัดราชบุณ” คือ วัดราชบูรณะ ดังนั้น วัดนี้จึงมีความสำคัญต่อการศึกษาประวัติศาสตร์และงานศิลปกรรมในสมัยอยุธยาอย่างมาก
ด้วยเหตุ คือ 1.มีประวัติการก่อสร้างที่แน่นอน 2.มีรูปแบบของพระปรางค์ที่ยังคงรักษารูปแบบดั้งเดิมไว้ได้มากที่สุด โดยไม่มีการบูรณะในสมัยหลัง 3.ทั้งระบบของแผนผังวัดและรูปแบบของพระปรางค์จัดเป็นงานศิลปกรรมสมัยอยุธยาตอนต้น ที่สำคัญคือการค้นพบสิ่งของเครื่องใช้ที่บรรจุไว้ในกรุพระปรางค์เมื่อครั้งแรกสร้างซึ่งเหลือหลักฐานเพียงวัดเดียว ส่วนวัดอื่นๆ ถูกลักลอบขุดกรุเจดีย์ไปหมดแล้ว
จิตรกรรมในพระปรางค์
อย่างไรก็ตาม วัดราชบูรณะได้ถูกคนร้ายเจาะกรุและขโมยสมบัติไปบางส่วน เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 26-27 ตุลาคม พ.ศ.2500 มีคนร้ายลักลอบขุดหาสมบัติในกรุพระปรางค์และได้ขโมยสมบัติต่างๆ ส่วนหนึ่งออกไป ส่วนใหญ่เป็นสิ่งของมีค่าและอัญมณี
เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถติดตามจับกุมคนร้ายและนำสมบัติกลับคืนมาได้ส่วนหนึ่ง กรมศิลปากรจึงได้เปิดกรุสำรวจและนำสมบัติในกรุมาเก็บรักษา นอกจากนี้ ยังพบว่ามีกรุที่อยู่ด้านข้างอีกหลายกรุที่ยังไม่ได้เปิด กรมศิลปากรจึงเปิดกรุทั้งหมด บรรดาสิ่งของที่พบสูงด้วยมูลค่าและคุณค่าอย่างมิอาจประเมินค่าได้
สิ่งของที่พบหลักๆ ได้แก่ พระบรมสารีริกธาตุและสถูปจำลอง เครื่องพุทธบูชา เช่น เครื่องสูง ข้าวของเครื่องใช้ที่เป็นเครื่องทอง เครื่องแก้ว สำริด ที่สำคัญคือเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ชุดเครื่องราชูปโภคที่เป็นเครื่องประดับจำพวกเครื่องทอง อัญมณี น่าจะสร้างขึ้นเพื่อการอุทิศถวาย อีกส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญและพบจำนวนมาก คือ พระพุทธรูปและพระพิมพ์ อาจสร้างขึ้นตามคติโบราณเรื่องการสืบพระศาสนา
ในเรื่องของพุทธรูปและพระพิมพ์นี้ อาจารย์ศักดิ์ชัย สายสิงห์ ได้วิเคราะห์รูปแบบ การจัดหมวดหมู่ของพระพุทธรูปพระพิมพ์ เพื่ออธิบายลักษณะที่มาของรูปแบบ แนวทางการกำหนดอายุ สมัยที่สร้างให้ชัดเจนขึ้น โดยสามารถอธิบายถึงที่มาของรูปแบบที่เป็นหลักฐานสำคัญในการกำหนดอายุสมัยการสร้างพระปรางค์วัดราชบูรณะ ซึ่งพบว่าเป็นงานการสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น
เครื่องทองกรุ วัดราชบูรณะ
อย่างไรก็ตาม มีผู้เสนอแนวคิดใหม่ว่าสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ และมาสร้างขึ้นใหม่อีกในสมัยของสมเด็จพระเจ้ายู่หัวบรมโกศ ดังนั้น โบราณวัตถุที่พบอยู่ภายในกรุพระปรางค์ จะเป็นหลักฐานในการไขปริศนาข้อนี้ได้ดีที่สุด เนื่องจากนับตั้งแต่แรกสร้างพระปรางค์เพิ่งจะมีการเปิดกรุเป็นครั้งแรกในพ.ศ.2500 จากการศึกษาและวิเคราะห์ของอาจารย์ศักดิ์ชัยยังไม่พบว่ามีงานศิลปกรรมใดที่มีอายุในสมัยอยุธยาตอนกลาง ส่วนใหญ่เป็นงานศิลปกรรมก่อนสมัยอยุธยาและสมัยอยุธยาตอนต้นเท่านั้น
ยังมีประเด็นที่น่าสนใจอื่นๆ อีก เช่น รูปแบบและคติการสร้างพระพิมพ์ พิธีกรรมการบรจุพระบรมสารีริกธาตุที่สัมพันธ์กับการบรรจุสิ่งของเพื่อพุทธบูชา สิ่งของที่อุทิศถวาย จำพวกเครื่องทองที่เป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์มีความสัมพันธ์กับงานจิตรกรรม ซึ่งเขียนเรื่องชาดก พระอดีตพุทธเจ้า พุทธประวัติอาจมีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่อง “หน่อพุทธางกูร” ที่ว่าพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ทรงเป็นหน่อพุทธางกูร เมื่อสวรรคตไปแล้วจะบังเกิดเป็นพระโพธิสัตว์และอนาคตพระพุทธเจ้าองค์ต่อๆ ไป
จากการศึกษาของอาจารย์ศักดิ์ชัย พบว่าพระพุทธรูปและพระพิมพ์ทั้งหมดของกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ เป็นงานศิลปกรรม 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่มีมาก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา(ก่อนพุทธศตวรรษที่ 20 ) 2.เป็นงานที่สร้างขึ้นใหม่โดยเลียนแบบศิลปะที่มีมาก่อนสมัยอยุธยา เช่น ศิลปะสุโขทัย ที่พบมากคือ พระพิมพ์ ซึ่งน่าจะสร้างขึ้นใหม่ตามพิมพ์เดิมเพื่อการบรรจุในคราวสร้างปรางค์
3.เป็นงานศิลปกรรมที่สร้างขึ้นใหม่ในสมัยอยุธยาตอนต้น ได้แก่ กลุ่มพระพุทธรูปที่พบจำนวนมากที่สุด คือ พระพุทธรููปแบบอู่ทองรุ่นที่ 3 รองลงมาคือแบบอู่ทองรุ่นที่ 2 แสดงให้เห็นว่าพระพุทธรูปทั้งสองแบบนี้จัดเป็นงานศิลปกรรมในสมัยอยุธยาตอนต้น โดยไม่พบพระพุทธรูปที่จัดอยู่ในสมัยอยุธยาตอนกลางเลย เช่น พระพุทธรูปทรงเครื่องน้อย หรือพระพุทธรูปที่มีฐานสิงห์ เป็นต้น
การพบพระพุทธรูปแบบลพบุรีและแบบอู่ทองจำนวนมากในกรุพระปรางค์ วัดราชบูรณะ แสดงให้เห็นว่าศิลปะทั้งสองแบบนี้ได้รับความนิยมมากในสมัยอยุธยาตอนต้น ทั้งแบบอู่ทองรุ่นที่ 2 และ รุ่นที่ 3 ส่วนพระพุทธรูปแบบลพบุรี ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นศาสนวัตถุซึ่งรวบรวมมาบรรจุมากกว่าที่จะเป็นความนิยมสร้างขึ้นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่ม พระพุทธรูป พระโพธิสัตว์สำริดทรงเครื่องในศิลปะเขมรแบบนครวัดและบายน ไม่ควรเป็นงานที่สร้างขึ้นใหม่ เพราะทั้งรูปแบบและคติการสร้างไม่ใช่ยุคสมัยของศิลปะดังกล่าว มีหลายองค์ที่สร้างขึ้นตามคติของพุทธศาสนามหายาน
ประเด็นที่น่าสนใจเพิ่มเติมคือ พบพระพุทธรูปในกลุ่มที่เรียกว่า “แบบอยุธยา(แท้)” แต่พบจำนวนไม่มากนัก เป็นกลุ่มที่พัฒนารูปแบบซึ่งในสมัยต่อมาจะกลายเป็นรูปแบบเฉพาะของศิลปะอยุธยาตอนกลางอย่างแท้จริง
พระพุทธรูปปางมารวิชัย แบบอู่ทองรุ่นที่ ๒ ศิลปะสมัยอยุธยา
(ภาพ : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา)
พระพุทธรูปปางสมาธิ แบบอู่ทองรุ่งที่ ๓ ศิลปะสมัยอยุธยา