สะเดาน้ำปลาหวานปลาดุกย่าง เป็นอาหารโปรดของคนไทยมาตั้งแต่สมัยอยุธยา และเป็นหนึ่งในเมนูโปรดปรานของผู้เขียนมาตั้งแต่เด็กแล้ว ไม่ใช่มาชอบทีหลังเมื่อวัยถึง แบบ “กินของขม ชมเด็กสาว เล่าความหลัง” แต่อย่างใด
ยังมีอีกคำพังเพยโบราณที่กล่าวไว้ว่า “หวานปานน้ำอ้อย พอกสะเลียม” ก็หมายความถึง คารมหวานๆ ของไอ้หนุ่มตอนจีบสาวใหม่ๆ ไงครับ แรกปิ๊งกันข้างนอกหวานหยดย้อยดุจน้ำผึ้ง พอเล็มน้ำผึ้งที่เคลือบไว้หมดสาวเจ้าก็เจอความขมของสะเดาที่ซ่อนไว้ภายในเข้าให้” หรืออะไรทำนองนี้แหละ เรื่องแบบนี้ตัวใครตัวมัน รายละเอียดเงื่อนไขของหัวใจย่อมต่างกันไปตามแต่ละบุคคลและกาลเทศะครับ
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นไม้ยืนต้น ใบเลี้ยงคู่ สูงได้ตั้งแต่ 5-12 เมตร ทุกส่วนของต้นมีรสขมจัด เปลือกต้นมักแตกล่อนเป็นสะเก็ดร่องๆ ใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับกัน ขอบใบมีหยัก รูปใบเอี้ยวโค้งนิดๆ ดอกออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง สีขาว ผลกลมรี สีเขียว เมื่อสุกจะกลายเป็นสีดำ เมื่อไม่นานมานี้ปรากฏว่ามีสะเดาพันธุ์สีดำออกมาสู่ตลาดด้วย ก็แปลกตาดูสวยงามดี เพราะใบและกิ่งก้านมีสีม่วงอมดำ ต่างไปจากสะเดาสีเขียวธรรมดา
สรรพคุณและการใช้ประโยชน์ คนโบราณเชื่อว่ากินสะเดาช่วงอากาศเปลี่ยน จะช่วยป้องกันโรคไข้หัวลม หากท่านกินขมมากไม่ไหว ก็อาจแก้โดยการนำไปลวกด้วยน้ำข้าวร้อนๆ หรือเผาไฟแบบผ่านๆ เรียกว่า ยอดสะเดาฟาดไฟ ก็จะทำให้ลดความขมลงได้บางส่วน เทคนิคการเก็บยอดสะเดาไว้กินนานๆ ทำได้โดยการนำมาล้างน้ำ แขวนตากลมไว้สัก 2-3 แดด เก็บไว้ในที่ที่อากาศโปร่งถ่ายเทได้ดี เมื่อจะกินก็นำลงมาลวกน้ำร้อนอีกครั้ง ก็จะได้สะเดาที่รสชาติไม่ต่างไปจากเก็บสดๆ เท่าไหร่เลย ยอดอ่อนสะเดารวมทั้งช่อดอก มีสรรพคุณช่วยเรียกน้ำย่อย ทำให้เจริญอาหาร อุดมด้วยสารที่มีประโยชน์มากมาย เช่น เบต้าแคโรทีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามิน บี 1 บี 2 บี 3 วิตามินซี เท่านี้ยังไม่พอ แถมยังมี Liminoids ไว้คอยต้านอนุมูลอิสระแถมให้อีกนะครับ ใบอ่อนยังนำมาตำพอกทารักษาโรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน เชื้อรา ได้สารพัด เปลือกลำต้น มีรสฝาดของแทนนิน แก้ท้องเดิน ท้องเสีย แก้โรคบิดมูกเลือด เมล็ดมีสาร Azadirachtin ออกฤทธิ์ฆ่าแมลง มีน้ำมัน margosa oil ใช้ทำสีย้อมผ้า มีฤทธิ์ฆ่าพยาธิบางตัวได้ด้วย ทั้งใบแก่และเมล็ดนำมาตำโขลกรวมกันปนกับตะไคร้หอม ข่าแก่ หรือยาฉุน ตีกับน้ำสบู่ ทำเป็นยาป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบชีวภาพได้ผลดีเยี่ยม จัดได้ว่า สะเดา เป็นทั้งอาหารและยา แบบ three in one คือ กินก็ได้ ทาก็ได้ กำจัดแมลงก็ได้
ผู้เขียนทดลองเก็บใบแก่ๆ ทั้งกิ่งมาฟาดสะบัดทุบๆ พอช้ำๆ วางไว้บริเวณที่สุนัขนอน เพื่อไล่เห็บ หมัด ก็ได้ผลดีพอสมควร ลดจำนวนหมัดและเห็บลงได้มาก อย่างนี้แล้วจะไม่รับเป็นสมาชิกในสวนหลังบ้านสักต้นหนึ่งเลยเหรอ สะเดานิสัยดีจะตายไป ไม่มีภัยกับคน แต่เป็นภัยกับแมลงร้ายศัตรูพืชผักที่เราปลูกไว้ไงครับ
วิธีการปลูก สะเดาปลูกง่าย โดยการเพาะเมล็ด เก็บเมล็ดแก่มาแช่น้ำอุ่นๆ สัก 4 ชั่วโมง นำไปเพาะในกระบะ หรือถุงชำ บรรจุทรายผสมขี้เถ้าแกลบ รดน้ำให้ชุ่ม วางไว้ในที่ร่ม รอจนต้นกล้างอกขึ้นมา สูงประมาณ 10-12 นิ้ว ก็นำไปปลูกในหลุมที่เตรียมไว้ เหมือนวิธีปลูกไม้ยืนต้นทั่วไป คือหามุมดีๆ อย่าให้ใกล้บ่อน้ำ หรือรางรับน้ำฝน หรือใกล้ตัวบ้านจนเกินไปนัก เว้นระยะห่างไว้สัก 4-5 เมตร เนื่องจากสะเดาเวลาโตใบจะร่วงตลอดเวลา จะได้ไม่ต้องมาคอยเป็นภาระปัดกวาดทุกวัน ขุดหลุม 50×50 เซนติเมตร ลึก 50 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก กาบมะพร้าวสับ แกลบดิบ เศษใบไม้ผุๆ คลุกเคล้าให้เข้ากัน วางต้นกล้าลงไป กลบดินให้แน่น ปักหลักไม้ไผ่ประคอง ผูกเชือกไว้กันลมโยกสักหน่อย เท่านี้ก็รออย่างเดียว หยูกยาก็ไม่ต้องสนใจ เพราะสะเดามีภูมิคุ้มกันตัวเองจากความขมของเขาอยู่แล้ว โรคแมลง ยังแหยงไม่กล้าเข้ามากล้ำกรายเลยจะบอกให้
สำหรับท่านที่อยากเปิบสะเดานอกฤดู เชิญทางนี้ครับ ผู้เขียนจะบอกเคล็ดไม่ลับให้ หากะละมัง อ่าง กระถางปากแตก หรือยางรถยนต์เก่าๆ ก็ยังได้ มาสัก 2-3 อัน หาบริเวณเหมาะๆ เข้า พอได้ที่วางแล้ว ไปหาซื้อดินถุงสำเร็จรูปมาเท เกลี่ยให้เกือบเต็ม หว่านเมล็ดสะเดาลงไปให้ถี่ๆ เลย ชิดกันแค่ไหนก็ได้ ไม่จำกัดจำนวน อย่าให้ถึงกับกองท่วมละกัน เพราะเราไม่ต้องการให้เขาโตอยู่แล้ว หวังแค่ยอดกะใบอ่อนเท่านั้นเองนี่ กลบดินบางๆ รดน้ำเช้าเย็น เพียงแค่ 2 หรือ 3 สัปดาห์ เราก็มีสะเดาอ่อนนอกฤดูไว้หม่ำกะหวานใจแล้ว สลับกันทำเช่นนี้ไป สะเดามั่ง กระถินมั่ง มะขามมั่ง ฯลฯ หมุนเวียนเปลี่ยนกันไป สนุกจะตาย ไม่เบื่อด้วย
ลองไปทำกันดูเองนะครับ พืชผักปลูกเองในบ้าน ปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นการสร้างกิจกรรมร่วมกับคนในครอบครัวด้วย สานสัมพันธ์กะว่าที่แม่ยาย น้องเมีย หรือใช้ง้อแฟนก็ยังได้เลยครับ
ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้าน
ผู้เขียน : สมิทธิชัย สุกปลั่ง