กลืน “เมล็ดผลไม้” ลงท้อง อันตรายอย่างไร?

Content พาเพลิน

หลายคนน่าจะเคยกลืนเมล็ดผลไม้ลงท้องโดยไม่ได้ตั้งใจ ตั้งแต่เมล็ดเล็กๆ อย่างส้ม มะนาว ฝรั่ง (ที่บางคนชอบเคี้ยวทาน แต่ไม่ค่อยละเอียดเท่าไรเพราะมันแข็ง) หรือจะเป็นเมล็ดที่ใหญ่ขึ้นอย่างมะขาม น้อยหน่า หรือกระท้อนที่เพิ่งมีข่าวไป จึงมีข้อสงสัยว่า จริงๆ แล้วการกลืนเมล็ดผลไม้เข้าไปในท้อง เป็นอันตรายมากน้อยแค่ไหน ถ้ากลืนลงไปแล้วควรทำอย่างไร เรามีคำตอบค่ะ

กลืนเมล็ดผลไม้ อันตรายอย่างไร?

อันตรายกับทางเดินหายใจ

ก่อนจะยาวไปถึงช่องท้อง เมล็ดผลไม้เหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะติดคอ ปิดทางเดินหายใจ จนทำให้หายใจไม่ออกได้ ในกรณีนี้เสี่ยงชีวิตได้ภายในเวลาไม่กี่นาที หากไม่สามารถเอาเมล็ดที่ติดอยู่ออกได้ทันท่วงที โดยเฉพาะเมล็ดที่มีขนาดใหญ่และแข็ง อาจยิ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตได้อย่างเฉียบพลัน ในกรณีที่ติดอยู่ในทางเดินหายใจ แต่ไม่ได้อุดกั้นจนหายใจไม่ออก แต่ทำให้ทางเดินหายใจติดเชื้อ อักเสบ ไอออกมามีเลือดหรือหนองปน จนอาจมีอาการแทรกซ้อนต่างๆ ตามมา เช่น ปอดบวม ฝีในปอด หนองในโพรงเยื่อหุ้มปอด เป็นต้น

อันตรายกับหลอดอาหาร

ในกรณีที่พ้นทางเดินหายใจมาได้ แต่ก็อาจจะไม่ได้หมายความว่าสิ่งแปลกปลอมอย่างเมล็ดผลไม้เหล่านี้ จะไหลลื่นไปถึงกระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ จนถ่ายออกมานอกร่างกายได้เป็นผลสำเร็จเสมอไป หากเป็นเมล็ดที่มีขนาดใหญ่ หรือมีด้านแหลมคมที่สามารถติดอยู่ในบริเวณหลอดอาหารเป็นระยะเวลานานๆ โดยไม่หลุดออกมา อาจทำให้เยื่อบุบริเวณนั้นมีอาการอักเสบ เป็นแผล จนอาจถึงขั้นหลอดอาหารทะลุได้

อันตรายกับลำไส้

ทีนี้หากเมล็ดผลไม้มีความลื่นอยู่บ้าง อาจไหลไปได้ไกลจนลงไปในลำไส้ กระเพาะอาหาร แต่ระหว่างทางอาจติดอยู่ที่ส่วนใดส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะลำไส้ใหญ่ที่มักพบว่าเข้าไปปิดลำไส้จนทำให้เกิดเป็นภาวะลำไส้อุดตัน หรือหากเป็นเมล็ดที่มีความแหลมคมอย่าง กระท้อน เมื่อผ่านด่านกระเพาะอาหารแล้ว เนื้อผลไม้ลื่นๆ ก็จะหายไป เหลือไว้แต่เมล็ดแข็งๆ ที่มีความแหลมคม ที่อาจทำให้ลำไส้ใหญ่เป็นแผล ลำไส้ใหญ่ทะลุ อุจจาระรั่วซึมออกมาในช่องท้อง ทำให้เกิดอาการติดเชื้อในกระแสเลือด จนทำให้อาการทรุดหนักถึงขั้นเสียชีวิตได้เช่นกัน

ถ้าเผลอกลืนเมล็ดผลไม้ลงไปแล้ว จะต้องทำอย่างไร?

หากเป็นเมล็ดเล็กๆ อย่างส้ม มะนาว เมล็ดฝรั่ง หรือเมล็ดอื่นๆ ที่มีขนาดไม่ใหญ่ไปกว่านี้ หากผ่านหลอดลม และหลอดอาหารไปสู่กระเพาะอาหารได้ก็ไม่น่าจะมีอะไรน่าเป็นห่วง (เว้นแต่จะแจ๊กพอตไปตกอยู่ในไส้ติ่ง จนอุดตันแล้วเป็นไส้ติ่งอักเสบ แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ หรือเกิดขึ้นได้ง่ายขนาดนั้น)

แต่หากเป็นเมล็ดที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาหน่อย เช่น มะขาม น้อยหน่า มังคุด ที่มีความแข็ง และไม่ได้ลื่นมาก อาจมีความเสี่ยงที่จะติดอยู่ในหลอดลม หรือทางเดินหายใจได้ ให้สังเกตอาการของตัวเองว่าสามารถหายใจเข้าออกได้สะดวกหรือไม่ และรอสังเกตอาการ 2-3 วัน ถ้าไม่มีอาการผิดปกติอะไร ก็สามารถดำเนินชีวิตตามปกติได้ แต่หากหายใจไม่สะดวก อึดอัด หรือปวดท้อง ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน

และสุดท้าย หากเป็นเมล็ดขนาดใหญ่ และมีความแหลมคมภายในอย่างกระท้อน แนะนำว่าให้รีบปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ โดยไม่ต้องรอดูอาการอะไร เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะทำอันตรายต่อร่างกายได้มากกว่าเมล็ดผลไม้ขนาดเล็ก พบผู้ป่วยหลายรายที่ต้องรีบเข้ารับการผ่าตัดจากการกลืนเมล็ดผลไม้ประเภทกระท้อนเข้าไปในร่างกาย ดังนั้นหากพบก่อน แล้วคอยติดตามอาการ หรือจัดการผ่าออกตั้งแต่ยังไม่ทำให้เกิดอาการลำไส้ทะลุ หรืออักเสบ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ หรือเสียชีวิตได้

ที่มา : Sanook