ในต่างประเทศมีการพูดถึง “Long COVID” หรือผลกระทบระยะยาวของโควิด-19 ที่อาจเกิดขึ้นต่อผู้ป่วย โดยระบุว่า ในบางคนโควิด-19 อาจทำให้ร่างกายมีอาการไปอีกหลายสัปดาห์ หรืออาจจะนานเป็นเดือนๆ โดยในแต่ละคนตอบสนองต่อเชื้อไวรัสไม่เท่ากัน
บางคนหลังได้รับการรักษาอาจมีอาการดีขึ้นภายในเวลา 2-3 วัน แต่ในบางคนอาจใช้เวลานานมากถึง 12 สัปดาห์ หรือ 3 เดือนกว่าจะหายจากอาการโควิด-19 เป็นปลิดทิ้ง
ผู้ป่วยที่มีอาการโควิด-19 เป็นระยะเวลานานๆ ไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยคนนั้นจะมีอาการแรกเริ่มที่หนักกว่าคนอื่นเสมอไป ผู้ป่วยที่เริ่มแรกมีอาการไม่มาก แต่ไปๆ มาๆ มีอาการเรื่อยๆ ไม่หายสักที ก็มีโอกาสเป็นไปได้เช่นกัน
อาการระยะยาวของโควิด-19
อาการระยะสั้นที่เรามักใช้สังเกตอาการของตัวเองกันว่าติดหรือไม่ติดโควิด-19 คือ มีไข้ เจ็บคอ ไอแห้ง ปวดเมื่อยเนื้อตัว มีน้ำมูก รวมไปถึงประสาทรับรู้กลิ่นและรสเปลี่ยนไป
สำหรับอาการระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยโควิด-19 คือ
- เหนื่อยล้ามากกว่าปกติ
- หายใจสั้นลง หายใจถี่ขึ้น
- แน่นหน้าอก
- มีปัญหาเกี่ยวกับการจำ และไม่ค่อยมีสมาธิ (brain fog)
- หลับยาก (นอนไม่หลับ)
- หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ
- มึนงง เวียนศีรษะ
- มีอาการเหน็บชา
- ปวดตามข้อต่อต่างๆ
- ซึมเศร้า วิตกกังวล
- หูอื้อ ปวดหู
- มีอาการป่วย เช่น ท้องเสีย ปวดท้อง อยากอาหารน้อยลง
- มีไข้ ไอ ปวดศีรษะ เจ็บคอ รับรู้รสชาติและกลิ่นเปลี่ยนไป
- มีผื่นขึ้น
กลุ่มอาการอักเสบของอวัยวะหลายระบบ
ในกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 มักพบว่าอวัยวะหลายส่วนที่ความผิดปกติ เช่น หัวใจ ปอด ไต ผิวหนัง รวมไปถึงสมอง โดยในผู้ป่วยโควิด-19 อาจพบภาวะว่าที่เรียกว่า “กลุ่มอาการอักเสบของอวัยวะหลายระบบ” หรือ multisystem inflammatory syndrome (MIS) หมายถึงอวัยวะต่างๆ ในร่างกายมีอาการบวมอักเสบ จากการที่ระบบภูมิคุ้มกันโรคในร่างกายทำงานผิดพลาด เข้าไปต่อสู้กับเซลล์ดี จึงทำให้เกิดอาการบวมอักเสบในหลายๆ ส่วนของร่างกาย
ดังนั้นหากตรวจพบอาการปวดบวมบริเวณใดๆ ในร่างกายระหว่างรักษาโควิด-19 อยู่ สามารถแจ้งให้แพทย์ทราบได้ทันทีเช่นกัน
มีอาการมากแค่ไหนถึงควรแจ้งแพทย์
ปกติแล้วในประเทศไทย ผู้ป่วยโควิด-19 มักอยู่ในความดูแลอย่างใกล้ชิดจากทีมแพทย์และพยาบาลที่โรงพยาบาล ฮอสพิเทล (Hospitel) หรือโรงพยาบาลสนาม แต่หากใครดูแลรักษาตัวเองอยู่ที่บ้าน หรือไม่แน่ใจว่าตัวเองมีอาการหนักแค่ไหน ให้ลองสังเกตตัวเองดูว่ามีอาการดังที่กล่าวไว้ด้านบน ว่ามีอาการเหล่านี้เป็นเวลานานกว่า 4 สัปดาห์และยังไม่ดีขึ้นหรือไม่ ถ้าใช่ ให้แจ้งกับทีมแพทย์ที่ดูแลอยู่ทันที
ใส่หน้ากาก ล้างมือ รักษาระยะห่าง ยังคงช่วยได้
ในช่วงเวลาที่โควิด-19 ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่อง หลักการเดิมๆ ที่เราทำกันอยู่ทุกวันจนกลายเป็น New Normal ยังคงจำเป็น เช่น สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ ล้างมือบ่อยๆ หรือก่อนสัมผัสร่างกายตัวเอง และก่อนรับประทานอาหาร หลีกเลี่ยงการอยู่หรือไปในที่ที่มีคนเยอะ หรือเป็นพื้นที่เสี่ยง รวมไปถึงการดูแลตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ กล่าวคือ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ เท่านี้ก็ช่วยลดความเสี่ยงในการติดโควิด-19 ได้มากแล้ว
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : The National Health Service, Centers for Disease Control and Prevention / Sanook