จิตรกรรม พระเจ้าสังขจักรตัดศีรษะถวายพระพุทธเจ้า ที่ศาลาการเปรียญ วัดในกลาง จังหวัดเพชรบุรี [ภาพถ่ายโดยคุณ สิปปวิชญ์ บุณยพรภวิษย์ (ได้รับอนุญาตจากผู้ถ่ายภาพให้ใช้ภาพ)]
จากเรื่องราวที่เป็นประเด็นร้อนในโซเชียลมีเดีย เรื่องการที่อดีตพระสงฆ์ได้ทำการถวายศีรษะเป็นพุทธบูชา โดยได้ทิ้งคำอธิษฐานไว้ว่าจะขอเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าในโลกหน้า ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าได้สร้างความสั่นสะเทือนให้กับวงการพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก และเรหตุการณ์นี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรกในเรื่องของการถวายชีวิตเพื่อเป็นพุทธบูชาในประเทศไทย ในอดีตเองก็ปรากฏเรื่องนี้มาแล้ว อย่างกรณีของนายบุญเรืองและนายนก ที่เผาตัวตายถวายเป็นพุทธบูชาในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นต้น
สำหรับที่มาของการบูชาด้วยเลือดและชีวิตนั้น ถูกระบุไว้ใน “คัมภีร์อนาคตวงศ์” ซึ่งเป็นความเชื่อในเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า 10 พระองค์ ที่จะมาตรัสรู้ในอนาคตกาลเบื้องหน้ามีอยู่ด้วยกัน 2 ฉบับ คือฉบับแรกเป็นกวีนิพนธ์ภาษาบาลียาว 142 คาถา
ส่วนฉบับที่สองเป็นวรรณคดีร้อยแก้ว ประพันธ์ในประเทศไทยมาตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัย แต่ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลมาจากคัมภีร์ “ทสโพธิสัตตุปปัตติกถา” ของลังกา
คัมภีร์อนาคตวงศ์ เป็นคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาที่แต่งขึ้นโดยพระมหากัสปปะเถระ แห่งโจฬะในอินเดียใต้ ราวพุทธศตวรรษที่ 18 โดยมีเนื้อหากล่าวถึงพระอนาคตพุทธเจ้าที่จะมาตรัสรู้ในอนาคต 10 พระองค์ ได้แก่
● พระศรีอริยเมตไตรย
● พระรามสัมพุทธเจ้า
● พระธรรมราชาสัมพุทธเจ้า
● พระธรรมสามีสัมพุทธเจ้า
● พระนารทสัมพุทธเจ้า
● พระรังสีมุนีสัมพุทธเจ้า
● พระเทวเทพสัมพุทธเจ้า
● พระนรสีหสัมพุทธเจ้า
● พระติสสสัมพุทธเจ้า
● พระสุมังคลสัมพุทธเจ้า
ซึ่งภายในมีการเล่าเรื่องการตัดหัวถวายเป็นพุทธบูชา 2 เรื่องด้วยกัน เรื่องแรกเป็นเรื่องราวของพระศรีอาริยเมตไตรย เมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นพระเจ้าสังขจักร ครองนครอินทรปัตถ์ในสมัยของพระสิริมัตพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ทรงได้ฟังธรรมเทศนาแล้วได้เกิดความซาบซึ้ง จึงตัดพระเศียรแล้ววางบนฝ่ามือถวายเป็นเครื่องบูชาพระธรรมที่พระสิริมัตพุทธเจ้าได้แสดงแก่พระองค์
อีกเรื่องหนึ่งเป็น เรื่องของพระสุมังคลสัมพุทธเจ้า เมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นพระเจ้ามหาปนาทะในสมัยของพระกกุสันธพุทธเจ้า ซึ่งได้สละราชสมบัติเพื่อออกบรรพชา ต่อมาได้ฟังธรรมแล้วเกิดความเลื่อมใส จึงได้ตัดเศียรตนเองถวายเป็นพุทธบูชา พร้อมตั้งจิตอธิษฐานให้ได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคต
ทั้งสองเรื่องนี้นับเป็นเรื่องราวที่แต่งขึ้นในสมัยหลัง ไม่ใช่เรื่องราวในพระไตรปิฏกแต่อย่างใด เพราะการฆ่าชีวิต หรือการทำปาณาติบาต ถือเป็นข้อห้ามสำคัญในพุทธศาสนา ดังปรากฏในศีลข้อแรกดังที่เราๆ ท่านๆ ได้ทราบกันดี