ก่อนโควิด-19 ระลอก 3 จะมาเยือนอย่างทุกวันนี้ ย้อนหลังกลับไปไม่นานผู้คนกำลังฮือฮา สนอกสนใจอยู่กับพืชยอดฮิตติดชาร์ตอย่าง กั-ญ-ช-า เป็นอย่างมาก ไม่ว่าผู้ประกอบการร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรม เกษตรกร ชาวไร่ชาวนาไปจนถึงประชาชนทั่วไป ต่างอยากรู้เรื่องและอยากปลูก กั-ญ-ช-า กันแทบทั้งนั้น
กั-ญ-ช-า แต่เดิมเป็นพืชต้องห้าม จัดอยู่ในหมวดยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 แต่หลังจากรัฐบาลตอบรับนโยบายปลดล็อก กั-ญ-ช-า ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้สามารถนำ กั-ญ-ช-า ไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ตลอดจนใช้ในการประกอบอาหารได้ กั-ญ-ช-า จึงเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจที่จะสามารถสร้างรายได้ให้กับคนไทย ดังนั้น เพื่อเป็นแนวทางให้กับประชาชน กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ริเริ่ม “โครงการปลูก กั-ญ-ช-า 6 ต้น” ขึ้น ที่บ้านโนนมาลัย ตำบลหินเหล็กไฟ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ เรียกว่า “โนนมาลัยโมเดล”
“บ้านโนนมาลัย” ตำบลหินเหล็กไฟ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ห่างจากตัวเมืองบุรีรัมย์ 35 กิโลเมตร กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้การปลูก กั-ญ-ช-า 6 ต้น ในชื่อ “โนนมาลัยโมเดล”
รูปแบบของการปลูกที่นี่เป็นวิสาหกิจชุมชนที่ทำ MOU กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต. โดยมีผู้ได้รับอนุญาตให้ปลูกได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย 4 ครอบครัว จึงนับเป็นพื้นที่แห่งแรกสำหรับโครงการปลูก กั-ญ-ช-า 6 ต้นของกระทรวงสาธารณสุข และใช้เป็นโมเดลให้จังหวัดอื่นๆ ได้ไปศึกษาดูงานด้วย กั-ญ-ช-า ที่ปลูกที่นี่รับต้นแม่พันธุ์ กั-ญ-ช-า สายพันธุ์หางกระรอก จากโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร นำมาปลูก 1.เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์โดยการนำช่อดอกมอบให้กับทางโรงพยาบาล 2.ให้ชาวบ้านขายใบเป็นรายได้เสริม
วิไล คำพิมูล หนึ่งในสมาชิกวิสาหกิจชุมชนบ้านโนนมาลัย เล่าความเป็นมาของ “บ้านโนนมาลัยโมเดล” ว่าประธานวิสาหกิจชุมชน (กิตติ โรจน์สุวรรณรัตน์) ได้รับโครงการจากกระทรวงสาธารณสุขให้งบประมาณมาดำเนินการ 250,000 บาท ปลูก กั-ญ-ช-า 6 ต้นให้เกิดให้ได้ จะด้วยวิธีไหนก็ตาม จึงประสานกับ รพ.สต.โนนมาลัย เมื่อคุยกันเรียบร้อยเข้าใจตรงกันแล้วได้เริ่มดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่แจ้งชาวบ้าน ประกาศว่าใครจะสมัคร ทำประชาคม โดยประชุมผู้นำหมู่บ้านทั้ง 9 หมู่บ้านในเขตบริการของ รพ.สต. แต่ละหมู่บ้านใครจะปลูกบ้างให้ลงชื่อสมัครเป็นสมาชิก เสร็จเรียบร้อยมี 4 หมู่บ้านที่อาสาปลูก ได้แก่ บ้านโนนมาลัย บ้านหัวฝาย ท่าม่วง และบ้านโศกนาค รวม 4 หมู่บ้านมี 10 ครอบครัว
“ตอนทำประชาคมได้แจ้งชาวบ้านอย่างละเอียด ตั้งแต่ผลประโยชน์อะไรจะเกิดขึ้นกับท่าน ความปลอดภัยเป็นอย่างไร ด้านสุขภาพ ทาง รพ.สต.ก็แจ้งให้ชาวบ้านทราบ เมื่อชาวบ้านยินยอมก็ส่งเรื่องไปที่ สสอ. ตรวจสอบความถูกต้องถ้าไม่มีอะไรก็ส่งต่อไปที่ สสจ. ตรวจสอบอีกครั้ง ถ้าสงสัยตรงไหนก็ลงพื้นที่ตรวจสอบ เสร็จแล้วส่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตรวจสอบ เมื่อถูกต้องดีทุกอย่างก็ส่งกลับไปที่ สสจ. ซึ่งจะเป็นผู้ส่งต่อไปยัง อย. จากนั้น อย.ส่งไปที่ ปปส.ตรวจสอบ เมื่อถูกต้องแล้วก็อนุมัติโดยเลขา อย. อนุมัติการปลูก สำหรับโครงการที่บ้านโนนมาลัยเริ่มมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 ดำเนินการมาเรื่อย พวกที่จะต้องปลูกก็ไปเรียนรู้ไปอบรม จนกระทั่งมาปลูกเอาราวๆเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ท่านอนุทินไปเป็นประธานเปิดโครงการนั่นแหละ…”
สำหรับแม่พันธุ์ กั-ญ-ช-า ที่นำมาปลูก “วิไล” บอกว่าขอความอนุเคราะห์จากโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ให้มาเป็นสมบัติของวิสาหกิจชุมชน 10 ต้นเพื่อปักชำ “ทางอภัยภูเบศรไม่คิดเงิน ถ้าเขาขายก็ตกต้นละหมื่นบาท ตอนนี้ที่ปลูกอยู่ขายครอปแรกไปแล้วเมื่อกลางเดือนมีนาคม 2564 เป็นการขายใบสดทั้งหมดรวมได้กิโลครึ่ง ถ้ามีช่อดอกเราไม่มีสิทธิ์ขายจะต้องส่งมอบให้กับ รพ.สต. ช่อดอกและเมล็ดขายไม่ได้ยังผิดกฎหมายอยู่ ขั้นตอนทั้งหมดเป็นอย่างนี้ ซึ่งอย่างน้อยถือว่าเราได้ครอบครอง กั-ญ-ช-า ที่ถูกต้องตามกฎหมาย…”วิไลกล่าว และเพิ่มเติมว่าสำหรับการปลูก กั-ญ-ช-า นั้นไม่ใช่ว่าเมื่อปลูกครอปนี้จบแล้ว จะปลูกต่อกันไปเลยไม่ได้ ถ้าปลูกต้องไปขออนุญาตเพื่อทำการปลูกใหม่ไม่ใช่ปลูกต่อได้เลย เหมือนนับ 1 ใหม่ เขาให้ปลูกครอบครัวละ 1 แปลงต่อ 6 ต้น ต่อ 1 บ้านเลขที่ (1 แปลงเท่ากับ 50 ตรม.)
ส่วนความคืบหน้าของโครงการ กั-ญ-ช-า 6 ต้นบ้านโนนมาลัย เวลานี้อยู่ในช่วงของการวิจัยสภาพดินที่จะนำมาปลูก กั-ญ-ช-า ว่าจะเหมาะสมและเจริญเติบโตได้ดีในดินแบบไหน ซึ่งดินที่นำมาวิจัยมี 3 แหล่งด้วยกัน คือ 1.ดินจากเพ-ลา เพลิน เป็นดินที่นำมาจากเนเธอร์แลนด์เพื่อปลูกดอกทิวลิป ขายกิโลกรัมละ 44 บาท 2.ดินภูเขาไฟ (เขากระโดง) อ.ประโคนชัย 3.ดินในหมู่บ้านหรือดินในพื้นที่บ้านโนนมาลัย ทั้งหมดนี้อยู่ระหว่างการวิจัย คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปีจึงจะสรุปได้
กิตติ โรจน์สุวรรณรัตน์ ประธานวิสาหกิจชุมชนโนนมาลัย อธิบายเพิ่มเติมว่า กั-ญ-ช-า เป็นพืชที่ปลูกง่าย ไม่มีอุปสรรคอะไรมากนัก ที่ยากหน่อยคือการขออนุญาตตามกฎหมาย ทุกอย่างหากทำตามขั้นตอนของกฎหมายแล้วก็เรียบร้อย ในเรื่องวิธีการปลูกของโนนมาลัย ใช้ปุ๋ยชีวภาพ ไม่มีสารเคมี ส่วนยาฆ่าแมลงก็ใช้สะเดาเป็นหลัก “…ที่ผ่านมาขายไปบ้างแล้ว ใบสดกิโลกรัมละ 15,000 บาท แต่ก็ยังมีคนมาติดต่อเพื่อมาทำเอ็มโอยูตลอด ล่าสุดก็เป็นร้านสุกี้โคคาที่กรุงเทพฯ ขายไปราคา 30,000 บาท คิดว่าที่หมู่บ้านเราสามารถทำเป็นพืชเศรษฐกิจได้ และทำให้ชาวบ้านมีรายได้ที่ดีขึ้น