ผักพื้นบ้านอีสาน เป็นผักที่มีกลิ่นและรสเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ หาทานยากเพราะออกตามฤดูกาล นอกจากนั้นยังเป็นผักที่ให้คุณค่าทางด้านสุขภาพอนามัย โดยแต่ละชนิดก็มีสรรพคุณแตกต่างกัน สามารถนำไปประกอบอาหารประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหารประเภทลาบ ก้อย ต้ม แกง อ่อม ล้วนต้องใช้ผักพื้นบ้านเป็นส่วนประกอบทั้งสิ้น หรือผักบางชนิดก็สามารถทานแบบสดได้เลย วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับผักพื้นบ้านเหล่านี้ให้มากขึ้นกันค่ะ
ตาลปัตรฤๅษี หรือ ผักพาย หรือ ผักก้านจอง
เป็นไม้น้ำ พบบริเวณนาข้าว และบริเวณที่มีน้ำขัง ลำต้นเหง้าฝังจมอยู่ในโคลนเจริญเป็นต้น บางครั้งมีไหลสั้นๆ จำนวนมาก
คุณค่าทางอาหาร
ผักตาลปัตรฤๅษี 100 กรัม ให้พลังงานต่อร่างกาย 14 กิโลแคลอรี่ ประกอบด้วยเส้นใย 0.8 กรัม แคลเซียม 7 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 2 มิลลิกรัม เหล็ก 0.5 มิลลิกรัม เบต้า-แคโรทีน 501 ไมโครกรัม วิตามินบีหนึ่ง 0.03 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง 0.08 มิลลิกรัม ไนอาซีน 1.2 มิลลิกรัม วิตามินซี 13 มิลลิกรัม
ส่วนการนำมาประกอบอาหาร สามารถนำมาทำอาหารได้หลายอย่างค่ะ ทั้งลวก ผัดน้ำมันหอย จิ้มน้ำพริก แกงส้ม หรือจะทานแบบสดๆ ก็ได้ค่ะ
ใบมะกอก
ยอดอ่อนและใบใช้รับประทานเป็นผักรสเปรี้ยว นิยมนำมาเป็นผักจิ้ม ทานกับน้ำพริก มีรสชาติฝาด-มัน
สรรพคุณทางยา แก้เลือดออกตามไรฟัน และต้านอนุมูลอิสระ (วิตามินสูง) แก้ธาตุพิการ แก้บิด แก้ดีพิการ ทำให้ชุมคอ แก้กระหาย เป็นยาบำรุงธาตุ บำรุงสายตา แก้กระหายน้ำทำให้ชุ่มคอ และเลือดออกตามไรฟัน
ผักชีล้อม
เป็นเครื่องเทศที่มีลักษณะใบสีเขียวสด ต้นอ่อนใช้รับประทานเป็นผักสด หรือจิ้มน้ำพริก ขึ้นในน้ำหรืออาจปลูกในอ่างบัวก็ได้ นิยมใช้แพร่หลายมาช้านาน ปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก ดอกผักชีล้อมนั้นสีขาว เป็นพืชปรุงรสที่สำคัญอย่างหนึ่ง มีกลิ่นฉุนรสร้อนแรง ใช้ปรุงอาหารหลายชนิด เชื่อว่ายังช่วยรักษาโรคตา และรักษาสายตาด้วย
ผักชีลาว
เป็นพืชล้มลุกตระกูลเดียวกับผักชี ลำต้นมีสีเขียวเข้มขนาดเล็ก ลักษณะใบเป็นใบประกอบแบบขนนกมีสีเขียวสดออกเรียงสลับกัน ดอกมีขนาดเล็กสีเหลืองออกเป็นช่อ ก้านช่อดอกมีลักษณะคล้ายกับซี่ร่ม ผลแก่เป็นรูปไข่แบนมีสีน้ำตาลอมเหลือง ถ้านำไปใช้เป็นเครื่องเทศจะเก็บได้ก็ต่อเมื่อดอกเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล แต่ส่วนใหญ่จะพบในรูปของการทานสดเป็นผักมากกว่า ซึ่งควรเก็บก่อนที่จะออกดอก
ในประเทศไทยมีการปลูกเพื่อใช้ทานเป็นผักมากกว่าปลูกเพื่อใช้ผลมาทำเครื่องเทศเพราะมีคุณภาพน้อยกว่าประเทศอินเดีย
ใบสดและใบแห้งใช้โรยบนอาหารประเภทปลาเพื่อดับกลิ่นคาว ใบใส่แกงอ่อม แกงหน่อไม้ ห่อหมก แกล้มแกงเนื้อ น้ำพริกปลาร้า ยอดใบรับประทานกับลาบ
ผักกาดหิ่น
คือผักกาดเขียวชนิดพื้นเมือง กาบใบไม่ห่อเป็นปลี มีทั้งชนิดต้นอวบใหญ่ใบหนากว้าง และชนิดต้นเล็กแกร็น ก้านแดง ลักษณะผิวใบจะหยิก ย่น บางชนิดใบจะแยกเป็นร่องหลายแฉก ขอบใบหยัก ที่สำคัญคือ รสชาติเมื่อกัดกินสดๆ จะได้กลิ่นฉุนแรง แทงขึ้นจมูก คล้ายกับกินวาซาบิ
มีสารอาหารสูง ช่วยบำรุงสายตา โดยเฉพาะเบต้าแคโรทีนที่จะเปลี่ยนเป็นวิตามิน A ให้แก่ร่างกายทำให้ป้องกันโรคตาฟาง (Blurred vision) ตาบอดกลางคืน (Night blindness) หรือต้อตาชนิดต่างๆ ในผู้สูงอายุได้ และยังช่วยต้านการเกิดโรคมะเร็ง มีแคลเซียม วิตามินซี เส้นใยอาหารสามารถป้องกันโลหิตจาง ทั้งยังมีเส้นใยที่มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้ ช่วยกระตุ้นการบีบตัวของอวัยวะดังกล่าวทำให้ระบบขับถ่ายเป็นไปอย่างปกติ สุขภาพจึงดีตามไปด้วย
ผักติ้ว
เป็นไม้ผลัดใบขนาดเล็ก เปลือกต้นสีเทา เปลือกชั้นในมียางสีน้ำตาล ใบเดี่ยว ใบอ่อนสีชมพูอ่อนหรือแดง กลีบดอกบางสีชมพู ออกดอกในฤดูหนาว พบได้ตั้งแต่พม่า ลาว เวียดนาม จีนตอนใต้ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย
ยอดและใบอ่อนรับประทานเป็นผักได้ ยางและใบใช้เป็นยาสมุนไพร เปลือกใช้เป็นสีย้อมผ้า ให้สีน้ำตาล ในประเทศลาว ใช้เผาถ่าน และใช้กินเป็นผัก
เสม็ดแดง หรือ ผักเม็ก
เป็นไม้ยืนต้น ไม่ผลัดใบ ขนาดกลาง มีความสูงโดยทั่วไป 7 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลม ใบอ่อนสีแดง เปลือกสีน้ำตาลแดง แตกสะเก็ดแผ่นบางๆ โคนต้นที่มีอายุมากมักเป็นพูพอน ใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม ใบรูปหอกแกมรูปไข่สีเขียว ใบด้านบนเป็นมัน ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลม ดอกสีขาว ออกเป็นช่อแบบช่อกระจุกแยกแขนงตามซอกใบและปลายกิ่ง ออกดอกเดือนมีนาคม-เมษายน ผลสีขาวทรงกลมขนาดเล็ก มีเนื้อเมล็ดเดี่ยว ออกผลเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน
ยอดอ่อน ใบอ่อน มีรสเปรี้ยวอมฝาด ลวก หรือใช้รับประทานเป็นผักสดกับน้ำพริก ขนมจีนหรือข้าวยำ ในใบเสม็ดแดง (ผักเม็ก) มีสารออกซาเลต (Oxalate) สูง การรับประทานสดหรือจำนวนมากอาจเสี่ยงต่อการเป็นนิ่วในไตได้
ใช้ใบสดตำพอกแก้เคล็ดขัดยอกฟกบวม ตำรับยาพื้นบ้านอีสาน ยอดอ่อน กินเป็นยาขับลม แก้ท้องขึ้น ท้องอืด ท้องเฟ้อในเด็ก
รู้ถึงประโยชน์และสรรพคุณของผักพื้นบ้านอีสานแล้ว ลองเลือกทานกันดูนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : วิกิพีเดีย / ภาพประกอบจาก : ร้านแซ่บคัก