ซีอีโอเครือซีพี “ศุภชัย เจียรวนนท์” เตรียมขึ้นเวที “การประชุมสุดยอดผู้นำระดับโลกด้านความยั่งยืน ประจำปี 2564” หรือ “UN Global Compact Leaders Summit 2021” ร่วมเคลื่อนไหวกับผู้นำจากทั่วโลกเพื่อรับมือกับมหันตภัยโลกร้อน ประเด็นสำคัญต่อจากวิกฤตโควิด-19 ดีเดย์ 15-16 มิ.ย.64 นี้ ออนไลน์พร้อมกันทั่วโลก
รายงานข่าวจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) จะเข้าร่วม “การประชุมสุดยอดผู้นำระดับโลกด้านความยั่งยืน ประจำปี 2564” หรือ “UN Global Compact Leaders Summit 2021” ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 15 – 16 มิถุนายน 2564 โดยในปีนี้เป็นการจัดประชุมแบบเสมือนจริงเนื่องจากอยู่ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้จะมีผู้นำด้านความยั่งยืนจากภาคธุรกิจเอกชน ภาครัฐ และนักวิชาการจากทั่วโลกกว่า 25,000 คนร่วมเคลื่อนไหวในระดับโลกเพื่อรับมือกับมหันตภัยโลกร้อน เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญต่อจากวิกฤตโควิด-19 และสอดคล้องกับการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน 17 ข้อ ที่อันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติเรียกร้องให้ทุกภาคส่วน “เร่งเครื่อง” โดยเรียก 10 ปีต่อจากนี้ว่า ทศวรรษแห่งการลงมือทำ (Decade of Action)
ทั้งนี้นายศุภชัย เจียรวนนท์ จะร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในฐานะที่เป็นซีอีโอ เครือเจริญโภคภัณฑ์ บนเวทีหลัก หรือ Main Stage Plenary ของการประชุมสุดยอดผู้นำระดับโลกด้านความยั่งยืน ประจำปี 2564 ในวันอังคารที่ 15 มิถุนายน 2564 นี้ เวลา 11.00-11.45 น. เวลาท้องถิ่น เมืองนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือตรงกับเวลา 22.00-22.45 น. ตามเวลาประเทศไทย ภายใต้หัวข้อ “Light the Way to Glasgow and Net Zero: Credible Climate Action for a 1.5 °C World” หรือ “ มุ่งหน้าสู่การประชุม COP26 Glasgow และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์: แนวทางปฏิบัติเพื่อควบคุมภาวะโลกร้อนให้อยู่ในขอบเขต 1.5 องศาเซลเซียส” ซึ่งถือเป็นหัวใจของการประชุม UN Global Compact Leaders Summit 2021 โดยมี นายกอนซาโล มูนโญส(Gonzalo Muñoz) Chile COP25 High Level Climate Champion และนายไนเจล ทอปปิง (Nigel Topping) UN’s High-Level Climate Action Champion ซึ่งเป็นแชมเปี้ยนในเรื่อง Climate Change เป็นผู้กล่าวนำ และมี Special Remarks จาก นายเซลวิน ฮาร์ท (Selwin Hart) Special Advisor to the Secretary General on Climate Change, Executive Office of the Secretary-General (EOSG) จากนั้นเป็นเสวนาแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ของผู้นำจากประเทศต่าง ๆ ได้แก่ นางสาวดามิลโอลา โอกันบียี (Damilola Ogunbiyi) ซีอีโอจากองค์กร Sustainable Energy for All (SEforALL)และอีกตำแหน่งคือผู้แทนพิเศษเลขาสหประชาชาติด้านพลังงานความยั่งยืนใน UN-Energy, นายศุภชัย เจียรวนนท์ (Suphachai Chearavanont) ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์, นายคีธ แอนเดอร์สัน (Keith Anderson) ซีอีโอจากบริษัทพลังงาน Scottish Power ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกคณะที่ปรึกษาด้านการค้าการลงทุนของรัฐบาลสหราชอาณาจักร นางสาวซานด้า โอเจียมโบ (Sanda Ojiambo) Chief Executive Officer & Executive Director, United Nations Global Compact, นายอโลก ชาร์มา (Alok Sharma) President, COP 26, นางสาวกราเซียล่า ชาลูป โดส ซานโตส มาลูเชลลี่ (Graziela Chaluppe dos Santos Malucelli) COO & Executive Vice President Operations, Supply & Quality, Novozymes ทั้งนี้โดยมีนายพอล ซิมพ์สัน (Paul Simpson) Chief Executive Officer, CDP เป็นผู้ดำเนินรายการ
การประชุมสุดยอดผู้นำระดับโลกด้านความยั่งยืน ประจำปี 2564 ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ถือเป็นวาระสำคัญของประเทศไทยที่ได้มีบทบาทและเจตจำนงในการลดโลกร้อน โดยประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดงานเสวนาบนการประชุมสุดยอดผู้นำระดับโลกด้านความยั่งยืน ประจำปี 2564 ถึง 2 หัวข้อด้วยกัน หัวข้อแรก คือ “การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สู่การปล่อยยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์” หรือ “Southeast Asia’s Net Zero Transformation for Agriculture & Food Sector” จัดโดย เครือเจริญโภคภัณฑ์จากประเทศไทย มีผู้ร่วมเสวนาจากประเทศไทย ได้แก่ นายนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ดร.กลย์วัฒน์ สาขากร (Kollawat Sakhakara) ผู้อำนวยการกลุ่มงานประสานงานกลางอนุสัญญา สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ (Kiatchai Maitriwong) ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) จัดขึ้นในวันที่ 16 มิถุนายน 2564 เวลา 10.30-11.30 น. (ตามเวลาประเทศไทย)
นอกจากนี้สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย หรือ GCNT ได้เป็นเจ้าภาพจัดเสวนาในหัวข้อ “การต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ: ยกระดับแนวทางธุรกิจเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” หรือ “A New Era of Action. Accelerate Climate Action: Raising Business Pathway to Decarbonization” ซึ่งจะมีผู้นำองค์กรธุรกิจ องค์กรภาครัฐจากประเทศไทย เข้าร่วมประชุมเสวนา ได้แก่ นายแดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) และนายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ในวันที่ 16 มิถุนายน เวลา 09.00–09.50 น. (ตามเวลาประเทศไทย)
ในการประชุมนี้ยังมีตัวแทนจากภาครัฐของประเทศไทยที่เข้าร่วมด้วย คือ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี โดยดร.วิษณุจะกล่าวปาฐกถาในเวทีเสวนาเรื่องสิทธิมนุษยชนและหลักปฏิบัติด้านแรงงาน ในโอกาสครบรอบ 10 ปีของหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNGP) ใน วันที่ 16 มิถุนายน 2564 เวลา 14.00 – 14.30 น. ตามเวลาประเทศไทย โดยจะร่วมเวทีกับนักคิดชั้นแนวหน้า เช่น ศาสตราจารย์ จอห์น รักกี้ (John Ruggie) อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้มีส่วนร่างหลักการ UNGP และนางมิเชล บาเชลเลท (Michelle Bachelet) อดีตประธานาธิบดีชิลี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
สำหรับการประชุม UN Global Compact Leaders Summit 2021 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-16 มิถุนายน ในรูปแบบการประชุมเสมือนจริงผ่านทางออนไลน์ที่เปิดให้ผู้นำภาคส่วนต่าง ๆ และผู้สนใจจากทั่วโลกสามารถเข้าร่วมงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นการประชุมมาราธอนยาวตลอด 2 วัน โดยได้รับเกียรติจาก นายอันโตนิโอ กูแทเรส (António Guterres) เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ และนางสาวซานด้า โอเจียมโบ (Sanda Ojiambo) ซีอีโอและผู้อำนวยการบริหาร UN Global Compact กล่าวเปิดงานประชุมอย่างเป็นทางการ ซึ่งไฮไลท์การประชุมนี้จะเป็นเวทีที่ได้นำวิสัยทัศน์และกลยุทธ์จากบรรดาสุดยอดผู้นำจากทั่วโลก มาร่วมสร้างแนวทางองค์กรแห่งความยั่งยืนด้วยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่าง ๆ ที่จะนำไปสู่การลงมือปฏิบัติได้จริงเพื่อสร้างโลกที่น่าอยู่ขึ้น โดยมีทั้งผู้บริหารจากภาครัฐ นายกเทศมนตรี ซีอีโอและผู้บริหารจากภาคธุรกิจชั้นนำในหลายประเทศทั่วโลกร่วมการประชุม อาทิ เครือเจริญโภคภัณฑ์, ยูนิลีเวอร์, ชไนเดอร์ อิเล็คทริค, ลอรีอัล, เนสท์เล่, หัวเว่ย, อิเกีย, ซีเมนส์ เอจี ตลอดจนผู้บริหารจากบริษัทที่ปรึกษา บอสตัน คอนซัลท์ติ้ง กรุ๊ป , ผู้บริหารจากบริษัทกฎหมาย และการจัดการทางธุรกิจระดับโลก เบเคอร์ แอนด์ แม็คเคนซี่ นอกจากนี้ยังมีนักลงทุน นักกิจกรรม องค์กรธุรกิจเพื่อสังคม ผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรด้านความยั่งยืน นักวิชาการ และสื่อมวลชนชั้นนำ เข้าร่วมประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่มาบรรจบกับการระบาดของโควิด-19
ทั้งนี้สื่อมวลชนและผู้สนใจด้านความยั่งยืนสามารถเข้าร่วมรับฟังการเสวนาออนไลน์และติดตามการประชุมครั้งสำคัญที่คนไทยมีบทบาทบนเวทีโลกได้ตลอดงานทั้ง 2 วัน สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานโดยไม่มีค่าใช้จ่ายได้แล้ววันนี้ที่ https://globalcompact-th.com/UNGCLeadersSummit2021