แกงเลียงพริกขี้หนู+ยำผักกูด เมนูไม่ลับสำหรับหน้าฝน
ตารางอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา หากนับเอาเดือนมิถุนายนที่กำลังดำเนินอยู่เวลานี้ ก็ต้องเรียกว่าเข้าสู่ “ฤดูฝน” มาระยะหนึ่งแล้ว แต่เพราะอากาศเมืองไทยวิปริตผิดจากที่เคยเป็นมา จึงทำให้ความเป็นฤดูฝนกลายเป็นไอร้อนผะผ่าว จนจะสิ้นเดือนแล้วฝนเจ้าก็ยังไม่โปรยลงมา แต่ถึงฝนไม่มาฟ้าไม่เป็นใจชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไปด้วยการ “รับประทาน” โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนที่ผักพื้นบ้านหลากหลายชนิดผลิดอกออกใบเต็มไปหมด เลือกกินกันไม่หวาดไม่ไหว ผักบ้านๆ ที่ขึ้นอยู่ตามริมรั้ว ริมคลอง หรือตามที่ต่างๆ สามารถนำมาประกอบเป็นอาหารอันโอชะของคนไทยได้อย่างมากมายหลายอย่าง ที่สำคัญยังมีคุณค่าทางโภชนาการมากด้วย อุดมด้วยแร่ธาตุ แคลเซียม ฟอสฟอรัส และเหล็ก รวมทั้งสารต้านอนุมูลอิสระในธรรมชาติ ได้แก่ เบต้าแคโรทีน วิตามินซี วิตามินอี ฯลฯ
การใส่ใจการรับประทานอาหารในหน้าฝนก็มีส่วนช่วยปกป้องร่างกายจากโรคได้ อาทิ โรคหวัด แค่กินแกงเผ็ดหรืออาหารรสเผ็ดก็ช่วยบรรเทาอาการได้ เพราะสมุนไพรในแกงที่มีรสเผ็ดร้อนอย่าง “แกงเลียง” หรือ “ต้มส้ม” มีส่วนผสมของพริกไทย พริกสดที่ช่วยทำให้จมูกโล่ง หอมแดงช่วยรักษาอาการคัดจมูก ขิงช่วยขับเสมหะ มีกระชายที่ทำให้ร่างกายอบอุ่น เป็นต้น
ดังนั้น เมื่อหน้าฝนมาถึงเราจึงมีเมนูอาหารที่ควรจะต้องรับประทานมานำเสนอ 2 รายการ ได้แก่ ยำผักกูด และ แกงเลียง
ผักกูด เป็นชื่อของผักชนิดหนึ่งที่อยู่ในตระกูลเฟิร์น สามารถนำมาปรุงเป็นอาหารและเป็นสมุนไพรได้อีกด้วย ผักกูดมักขึ้นอยู่ตามริมน้ำหรือพื้นที่ชุ่มน้ำมากกว่าในป่าทึบ พบมากในช่วงฤดูฝนเพราะเป็นช่วงเจริญเติบโตได้ดีที่สุด ใบของผักกูดใช้ต้มน้ำดื่มหรือกินสด ช่วยแก้ไข้ ตัวร้อน แก้พิษอักเสบ บำรุงสายตา บำรุงโลหิต แก้โลหิตจาง ป้องกันเลือดออกตามไรฟัน และขับปัสสาวะเด็ดขาดมาก ยังสามารถลดความดันโลหิตสูง ลดคอเลสเตอรอลในเม็ดเลือด มีสารเบตาแคโรทีน และธาตุเหล็กสูง
เมนูนำเสนอ คือ ยำผักกูด
มีส่วนผสมดังนี้ กุ้งสดปอกเปลือกผ่าหลังดึงเส้นดำออก/ หมูสับ/ ผักกูดลวกสุก/ พริกขี้หนูโขลกละเอียด/ หอมแดงเจียว/ ถั่วลิสงคั่ว/ น้ำมะนาว/ น้ำปลา/ น้ำตาลทราย
วิธีทำ
- ลวกกุ้ง หมูสับ ให้สุก ตักขึ้นพักให้สะเด็ดน้ำ
- ผสมน้ำมะนาว น้ำปลา น้ำตาลทราย พริกขี้หนู คนจนส่วนผสมเข้ากัน
- ใส่กุ้งลวด หมูสับ ผักกูดและน้ำยำในข้อ 2 คลุกเคล้าให้เข้ากัน ตักใส่ภาชนะ โรยด้วยหอมแดงเจียว ถั่วลิสง เป็นอันเสร็จตักใส่จานรับประทานได้
เมนูที่สอง แกงเลียงพริกขี้หนูสวน
วัตถุดิบหลัก คือ เครื่องแกง จะอัดแน่นด้วยสมุนไพร กระชาย พริกไทยดำ หอมแดง มีความเผ็ดร้อนทำให้โล่งจมูก พริกขี้หนูสวนสดซึ่งมีสรรพคุณลดอาการคัดจมูก ลดความเหนียวของเสมหะทำให้ขับเสมหะออกมาได้ง่ายขึ้น มีสารแคปไซซินช่วยขยายช่องจมูกให้โล่งหายใจสะดวกขึ้น
การเลือกวัตถุดิบมาทำเครื่องแกงนั้นต้องใช้กะปิ กุ้งแห้งที่มีคุณภาพดี เพราะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้น้ำแกงอร่อยหรือไม่อร่อย
ส่วนผสมในการทำเครื่องแกง ได้แก่ พริกขี้หนูสวน/ พริกไทย/ หอมแดงเล็ก/ กะปิอย่างดี/ เกลือ/ น้ำปลาดี/ กุ้งแห้ง/ กุ้งสดใช้ไม่ต้องมากแค่ 5-7 ตัวสำหรับโขลกกับเครื่องแกง และอีก 1/2 กก. สำหรับใส่ในแกง
ส่วนผักนั้นสามารถใช้ได้หลายชนิด เช่น ฟักทอง ข้าวโพดอ่อน ผักหวาน บวบ น้ำเต้าอ่อน ผักหวาน หรือบางคนก็ชอบใส่เห็ดฟาง ที่ขาดไม่ได้เลยคือ ใบแมงลัก
วิธีทำ
1.แช่กุ้งแห้งจนนิ่ม
2.ตำเกลือและพริกไทยให้ละเอียด ตามด้วยพริกขี้หนูสวน กุ้งแห้ง หอมแดง กุ้งลวก(5-7ตัว) ตำจนละเอียด
3.ใส่น้ำในหม้อยกขึ้นตั้งไฟให้เดือด นำกุ้งลงลวกในน้ำเดือดพักไว้ ใส่กะปิและเครื่องแกงที่ตำไว้แล้วลงในหม้อ พอเดือดใส่ผักที่เตรียมไว้ โดยให้นำผักที่สุกยากลงไปก่อน เช่น ฟักทอง ข้าวโพดอ่อน ปรุงรสด้วยเกลือหรือน้ำปลา แล้วจึงตามด้วยด้วยผักที่สุกง่าย เช่น ผักหวานและใบแมงลัก ใส่กุ้งลวกสุก ต้มอีกสักพักตักใส่ชามเสิร์ฟได้
แกงเลียงสามารถแบ่งรับประทานได้หลายมื้อ โดยแบ่งน้ำแกงสำหรับรับประทานแต่ละมื้อแยกใส่ถุงหรือกล่องพลาสติกแช่ไว้ในตู้เย็น มื้อไหนจะรับประทานก็นำน้ำแกงออกมาอุ่นในหม้อ แล้วค่อยใส่ผักลงไปต้มให้สุก