เครือซีพีร่วมขับเคลื่อนพันธกิจลดโลกร้อนบนเวทีระดับโลก บนเวทีการประชุมสุดยอดผู้นำระดับโลกด้านความยั่งยืน UN Global Compact Leaders Summit 2021

ประชาสัมพันธ์

การประชุมสุดยอดผู้นำระดับโลกด้านความยั่งยืน ประจำปี 2564 ปีนี้ หรือ UN Global Compact Leaders Summit 2021 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-16 มิถุนายน 2564 ในรูปแบบการประชุมเสมือนจริงทางออนไลน์ ที่มีผู้นำองค์กรธุรกิจ ภาครัฐ และองค์กรความยั่งยืนตลอดจนนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนจากทั่วโลกเข้าร่วมงานกว่า 25,000 คน

สำหรับปีนี้ถือเป็นวาระสำคัญของประเทศไทยที่ได้แสดงบทบาทและเจตจำนงในการร่วมลดโลกร้อนกับนานาประเทศ โดยมีตัวแทนผู้บริหารองค์กรธุรกิจชั้นนำของประเทศไทย นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ร่วมขึ้นเวทีหลักร่วมแบ่งปันวิสัยทัศน์ภาคเอกชนไทยต่อเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์  นอกจากนี้เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้รับเชิญให้ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดเสวนาบนเวทีระดับโลก

ในหัวข้อ “การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์” หรือ Southeast Asia’s Net Zero Transformation for Agriculture & Food Sector” เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา โดยมี นายนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหาร ด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมแสดงวิสัยทัศน์กับตัวแทนภาครัฐจากประเทศไทย ได้แก่ ดร.กลย์วัฒน์ สาขากร ผู้อำนวยการกลุ่มงานประสานงานกลางอนุสัญญา สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)  พร้อมด้วย นายโบ ดาเมน เจ้าหน้าที่ด้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ จากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก นายโอเล่ เฮนริกสัน ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ โครงการไทย ไรซ์ นามา (Thai Rice NAMA) ซึ่งดำเนินกิจกรรมด้านการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน นายซันนี่ แวร์คีส ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอบริษัท โอแลม อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งทำธุรกิจด้านอาหารและเกษตร เพื่อช่วยกันผลักดัน และแสวงหาความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในระดับนานาชาติที่จะขับเคลื่อนแผนกลยุทธ์เพื่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารในภูมิภาคอาเซียนให้เป็นไปตามเป้าหมายการลดโลกร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมี น.ส.กีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ

น.ส.กีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ผลิตอาหารและการเกษตรที่สำคัญ มีแรงงานประมาณ 30% ทำงานในภาคอุตสาหกรรมนี้  เมื่อพิจารณาในเชิงเศรษฐกิจพบว่า เกษตรกรรายย่อยจำนวนมากได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อีกทั้งการพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตของภาคการเกษตรและอาหาร ยังดำเนินการได้ช้ากว่าภาคส่วนอื่นๆ ของระบบเศรษฐกิจ จึงจำเป็นต้องจัดการกับความท้าทายเหล่านี้  ด้วยการนำการเกษตรอัจริยะด้านสภาพภูมิอากาศไปใช้ในการปรับปรุงการผลิตทางด้านอาหารและการเกษตรกร เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกรในภูมิภาคนี้มากขึ้นและจะยังเป็นการบรรลุเป้าหมาย SDGs ด้วย

ขณะที่ นายนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหาร ด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า เครือซีพีมีบทบาทในการดำเนินธุรกิจอาหารและเกษตรในระดับภูมิภาคอาเซียน โดยตระหนักถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากภาคธุรกิจเกษตรและอาหาร จึงได้กำหนดเป้าหมายที่จะต้องลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้สุทธิเป็นศูนย์ตลอดห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของเรา ทั้งยังได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับเกษตรกรและคู่ค้าทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน อาทิ กัมพูชา ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยมลพิษตั้งแต่ระดับต้นน้ำ นำกลยุทธ์การดำเนินการตามแนวทางการทำเกษตรกรรมที่เท่าทันต่อสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Smart Agriculture มาใช้ในการดำเนินธุรกิจของซีพี โดยใช้เทคโนโลยีมาขับเคลื่อนกระบวนการผลิตทั้งห่วงโซ่อุปทานแบบยั่งยืนเพื่อลดของเสียและเพิ่มประสิทธิภาพ อาทิ ซีพีใช้พลังงานหมุนเวียนรูปแบบต่างๆในธุรกิจเกษตรเช่นข้าวโพด ฟาร์มกุ้ง หมู และไก่ การพัฒนาสูตรอาหารสัตว์ที่ลดก๊าซไนตรัสออกไซด์จากมูลสัตว์ มีการใช้มาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ที่มีคุณภาพมาใช้เพื่อลดการสูญเสียชีวิตและเจ็บป่วยของสัตว์ ใช้เทคโนโลยีเฝ้าติดตามปศุสัตว์แบบดิจิทัล การจัดการคุณภาพน้ำ และโดรนเพื่อการเกษตร นอกจากนี้ยังได้พัฒนาและปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์ตลอดจนกระบวนการผลิตและเทคนิคทางการเกษตร ซึ่งนำไปสู่การจัดการเชิงนิเวศในผลิตภัณฑ์ของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายนพปฎล กล่าวว่า ซีพีดำเนินแนวทางดังกล่าวคู่ขนานไปกับความพยายามในการกักเก็บคาร์บอนด้วยการจัดโครงการปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่ป่าในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก โดยเริ่มต้นปลูกต้นไม้ในประเทศไทยและจีน ตลอดจนขยายไปยังประเทศอื่นๆที่ซีพีเข้าไปดำเนินธุรกิจ ซึ่งพนักงานของซีพีกว่า 450,000 คน ทั่วโลกได้ร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวเข้ามาร่วมโครงการปลูกต้นไม้ที่จะช่วยลดโลกร้อนเพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้สำเร็จให้ได้

ดร.กลย์วัฒน์ สาขากร ผู้อำนวยการกลุ่มงานประสานงานกลางอนุสัญญา สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวว่า การเข้าร่วมร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำระดับโลกด้านความยั่งยืนในครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นและความพร้อมของประเทศไทยในการเข้าร่วมประชาคมโลกในการมุ่งมั่นลงมือทำจริงเพื่อลดผลกระทบจากสภาวะเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในการจัดทำนโยบายเพื่อลดภาวะโลกร้อน ที่ผ่านมาประเทศไทยได้สนับสนุนข้อตกลงปารีสอย่างเต็มที่ และยังได้ทำงานร่วมกับเพื่อนสมาชิกอาเซียนผ่านเครือข่าย AWGCC (ASEAN Working Group on Climate Change) ในการหาทางออกลดผลกระทบร่วมกัน ซึ่งมองว่าธุรกิจการผลิตอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตรเป็นภาคธุรกิจที่มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ควรเน้นไปในเรื่องของ Climate Smart Agriculture ผ่านการสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อวางแผนการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกัน

นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กล่าวว่า การทำงานขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ได้ร่วมกับ สผ. ในการสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินการภาครัฐและเอกชนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาโดยตลอด โดยอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตรของประเทศไทยนั้นถือว่ามีศักยภาพในการลดการปล่อยมลพิษและการกักเก็บคาร์บอน ซึ่งยังต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่อง โดยอบก. ได้จัดตั้ง Carbon Neutral Network เพื่อส่งเสริมให้บริษัทและองค์กรธุรกิจต่างๆ ให้คำมั่นและประกาศแผนปฏิบัติการเพื่อเปลี่ยนประเทศไทยให้เกิดระบบเศรษฐกิจที่มีคาร์บอนต่ำอีกด้วย

นายโบ ดาเมน เจ้าหน้าที่ด้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ จากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความมั่นคงทางด้านอาหารและการเกษตรสูงมาก แต่ในขณะเดียวกันก็ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน ดังนั้นการร่วมปฏิบัติการลดโลกร้อนในภูมิภาคนี้จะต้องลงทุนในกลุ่มเกษตรกรและการจัดการใช้ที่ดิน รวมไปถึงการนำนวัตกรรมรูปแบบใหม่มาใช้ในกระบวนการเพื่อเพิ่มผลผลิตและนำไปสู่การเกษตรที่ทันสมัยและเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ในภูมิภาคนี้ได้

ขณะที่นายโอเล่ เฮนริกสัน ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ โครงการไทย ไรซ์ นามา (Thai Rice NAMA) กล่าวถึงกรณีศึกษาการทำนาในวิถียั่งยืนที่ได้เปลี่ยนแปลงวิธีการปลูกข้าว เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแก้ปัญหาโลกร้อน ซึ่งการมีเทคนิควิธีการปลูกข้าวที่ทำให้เกิดคาร์บอนต่ำเหล่านี้ได้เพิ่มผลผลิต และยังช่วยลดต้นทุนการผลิตทั้งในส่วนของการใช้น้ำ การใช้ปุ๋ย  โดยเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเพาะปลูกข้าวคาร์บอนต่ำ ได้แก่ การปรับระดับที่ดินโดยใช้เลเซอร์ การจัดการฟางเพื่อป้องกันการเผาไหม้ในพื้นที่ การทำนาข้าวให้เปียกและแห้งสลับกัน และการจัดการสารอาหารเฉพาะพื้นที่ ทั้งนี้จะมีการพัฒนาเพื่อนำไปสู่นโยบายระดับชาติเพื่อสนับสนุนกรณีศึกษาเหล่านี้ต่อไป

นายซันนี่ แวร์คีส ซีอีโอบริษัท โอแลม อินเตอร์เนชั่นแนล บริษัทธุรกิจด้านอาหารและเกษตร กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหารและเกษตรมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นสัดส่วนเป็น 1 ใน 3 ของโลก รวมทั้งมีการใช้น้ำถึง 71% ของโลก สิ่งที่จะช่วยลดผลกระทบได้จะต้องนำระบบดิจิทัลมาร่วมสร้างความยั่งยืนให้โลก โดยบริษัทโอแลมได้นำเทคโนโลยี AtSource แพลทฟอร์มที่ติดตามตัวชี้วัดความยั่งยืนใน 10 หัวข้อความยั่งยืนที่สำคัญมาใช้รวบรวมและจัดการข้อมูลในทุกขั้นตอนของห่วงโซ่คุณค่า เพื่อสนับสนุนการเกษตรที่ส่งผลดีต่อโลก และเตรียมขยายความร่วมมือกับผู้ผลิตอาหาร เจ้าของแบรนด์ ผู้ค้าปลีก และองค์กรพัฒนาเอกชนเข้ามาร่วมใช้แพลทฟอร์มนี้ รวมทั้งยังนำระบบ AI มาให้คำแนะนำแก่เกษตรกรรายย่อยถึงวิธีจัดการฟาร์มเพื่อเพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพสูงสุด ขณะเดียวกันองค์กรธุรกิจด้านอาหารและเกษตรก็ต้องช่วยให้เกษตรกรรายย่อยที่ถือเป็นผู้จัดหาวัตถุดิบทางการเกษตร 80% ให้กับโลก ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นก้าวพ้นเส้นความยากจนโดยเฉลี่ยเพื่อสร้างสภาพความเป็นอยู่ที่ดีให้กับทุกคนตลอดจนรักษาสุขภาพของโลกใบนี้ไปพร้อมกัน