รองศาสตราจารย์ ดร.ศานติ ภักดีคำ
“สมโบร์ไพรกุก” หรือ “ซ็อมโบร์เปร็ยกุก” ในภาษาเขมรหมายถึง “ป่าที่สมบูรณ์ไปด้วยปราสาท” ชื่อนี้ไม่ใช่ชื่อเดิมของเมืองโบราณแห่งนี้ หากแต่ชื่อเดิมตามที่ปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกคือ “อีศานปุระ” หรือ “เมืองของพระเจ้าอีศานวรมัน” ผู้เป็นโอรสของพระเจ้ามเหนทรวรมัน หรือ “จิตรเสน” ดังที่ปรากฏหลักฐานในบันทึกของจีนในสมัยราชวงศ์สุย หรือ “สุยซู” ว่า
“…(เจินล่า) อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของหลินอี้ (จามปา) เดิมเป็นเมืองในการปกครองของอาณาจักรฟูนัน หากเดินทางด้วยเรือต้องใช้เวลาหกสิบวันโดยทางทิศใต้อยู่ติดกับเมืองเชอฉวีกวั๋ว ทิศตะวันตกมีเมืองจูเจียงกวั๋ว
มีกษัตริย์ตระกูลซาลี่ ชื่อจื้อตัวซือน่า (จิตรเสน) โดยปฐมกษัตริย์ได้สถาปนาอาณาจักรขึ้นจนเข้มแข็งมาจนถึงสมัยจื้อตัวลี่น่าถึงได้กลืนอาณาจักรฟูนัน เมื่อสิ้นพระชนม์ลงบุตรที่ชื่ออีเส่อน่า (อีศาน) ได้สืบตำแหน่งต่อมา ได้ตั้งเมืองชื่อว่าเมืองอีเส่อน่า (อีศานปุระ)
ภายในกำแพงเมืองมีสองหมื่นกว่าครัวเรือน (หมายถึงทั้งอาณาจักร-ผู้แปล) ในเมืองมีพระราชวังใหญ่และเป็นที่ว่าราชการของกษัตริย์ และมีเมืองทั้งสิ้นสามสิบเมืองในเมืองมีนับพันครัวเรือน ในแต่ละเมืองมีเจ้าเมืองขุนนางดูแลเหมือนเมืองหลินอี้
กษัตริย์ออกว่าราชการสามวันครั้งโดยประทับนั่งอยู่บนตั่งไม้หอมประดับอัญมณี ข้างบนมีฉัตรกาง ฉัตรนั้นมีไม้กฤษณาเป็นก้านมีงาช้างและแผ่นทองกั้น สันฐานคล้ายห้องขนาดย่อม แสงทองอร่ามตา เบื้องหน้ามีกระถางกำยานทำด้วยทองคำ มีมหาดเล็กสองคนคอยเฝ้าแหน
ทุกเดือนห้าถึงเดือนหกของแต่ละปีจะมีมลภาวะ ดังนั้นจึงใช้หมูขาว วัวขาว แพะขาวไปเซ่นสรวงที่ศาลนอกกำแพงเมืองทางทิศตะวันตก มิฉะนั้นจะถือว่าพืชพันธุ์ธัญญาหารไม่สมบูรณ์ ปศุสัตว์ทั้งหลายอาจล้มตายเสียหายผู้คนอาจเกิดโรคระบาด
ที่ใกล้ๆ กับเมืองนั้นมีภูเขาหลิงกาโปวโผว (ลิงคบรรพต) บนเขามีศาลเจ้า โดยมีทหารเฝ้ารักษาห้าพันนายทางทิศตะวันออกมีเทพชื่อโผวตัวลี่ (ภัทเรศวร) ที่ต้องใช้เนื้อคนเซ่นสรวง โดยกษัตริย์จะฆ่าคนเพื่อใช้ในการเซ่นสรวงทุกปี และทำพิธีเซ่นในคืนนั้น โดยมีทหารเฝ้าที่ศาลนี้พันนาย ซึ่งการเซ่นนี้เหมือนกับการเซ่นผี โดยมากแล้วจะมีพิธีพุทธประกอบ โดยมีนักพรตประกอบพิธี พระและนักพรตจะยืนประจำในหอแห่งนั้น
ต้าเย่ปีที่สองได้ส่งทูตเข้ามาถวายเครื่องราชบรรณาการ ทางพระจักรพรรดิทรงรับและตอบแทน เครื่องราชบรรณาการนั้นอย่างถึงขนาด แต่หลังจากนี้ก็ขาดส่งไป…”
จากหลักฐานในสุยซูนี้เองที่ทำให้ทราบว่า “พระเจ้าอีศานวรมัน” ผู้เป็นโอรสของพระเจ้ามเหนทรวรมัน ทรงสร้างเมือง “อีศานปุระ” ขึ้นเป็นราชธานีของพระองค์
พระเจ้าอีศานวรมัน ขึ้นครองราชย์สมบัติเมื่อ พ.ศ.1159 ทรงเป็นโอรสของพระเจ้ามเหนทรวรมัน หลังจากขึ้นครองราชย์แล้วทรงผนวกดินแดนฝูหนานเข้ามารวมกับเจินล่าได้สำเร็จ ศิลาจารึกของพระองค์พบในจังหวัดกัณฏาล ไพรแวง ตาแก้ว ประเทศกัมพูชา และจันทบุรีในประเทศไทย ราชธานีของพระองค์คือ อีศานปุระ หรือปราสาทสมโบร์ไพรกุก ซึ่งตั้งอยู่ทางเหนือของจังหวัดกำปงธม แบบศิลปะประจำรัชกาลคือศิลปะแบบสมโบร์ไพรกุกซึ่งมีทั้งสถาปัตยกรรมและประติมากรรม
สำหรับกลุ่มปราสาทสมโบร์ไพรกุกในปัจจุบันมีกลุ่มปราสาทสำคัญอยู่ 3 กลุ่ม คือ
1.กลุ่มปราสาทด้านใต้ (S) หรือที่เรียกกันว่า กลุ่มปราสาทเนียะก์ป็วน (นาคพัน) หรือ เยียยป็วน(ยายพัน) ประกอบด้วย กำแพงล้อมสองชั้น ปราสาทที่ยังคงเหลืออยู่ 7 หลัง มีปราสาทสำคัญคือ ปราสาท S1 ซึ่งเป็นปราสาทประธาน มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายังคงแสดงถึงอิทธิพลของสถาปัตยกรรมอินเดีย ด้านหน้าหันไปทางทิศตะวันออก ประตูอีกสามด้านที่เหลือเป็นประตูหลอก ทับหลังเป็นศิลาจำหลักในศิลปะแบบสมโบร์ไพรกุก
นอกจากนี้ยังมีปราสาทรอง คือปราสาท S2 และปราสาทบริวารแปดเหลี่ยม S7 ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของปราสาทสมโบร์ไพรกุก
กลุ่มปราสาทด้านใต้นี้ ปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกว่าสร้างขึ้นในรัชกาลของพระเจ้าอีศานวรมัน ราว พ.ศ.1159 – 1180 สันนิษฐานกันว่า น่าจะเป็นศาสนสถานกลางเมืองอีศานปุระ โดยมีปราสาทประธานเป็นศาสนสถานประจำรัชกาลของพระเจ้าอีศานวรมัน
2.กลุ่มปราสาทตอนกลาง (C) หรือ กลุ่มปราสาทโตว์ (สิงโต) ประกอบด้วย แนวกำแพง มีปราสาทใหญ่หลังหนึ่งมีบันไดทางขึ้น ทั้งสองข้างมีรูปสิงห์ประดับอยู่ซึ่งเป็นที่มาของชื่อปราสาทโตว์ (สิงโต) ปราสาทประธานของกลุ่มปราสาทโตว์เป็นปราสาทอิฐขนาดใหญ่ ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก อย่างไรก็ตามทับหลังที่ปราสาทประธานด้านทิศใต้และตะวันตกมีลวดลายแบบไพรกเมงส่วนทับหลังด้านทิศเหนือมีลวดลายที่แสดงถึงลวดลายที่เริ่มเข้าสู่ศิลปะแบบกำพงพระ แสดงให้เห็นว่ากลุ่มปราสาทนี้น่าจะสร้างขึ้นหลังรัชกาลพระเจ้าอีศานวรมัน สอดคล้องกับหลักฐานที่แสดงว่ากลุ่มปราสาทโตว์น่าจะสร้างขึ้นในรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 1 ราว พ.ศ.1200 – 1224
3. กลุ่มปราสาทตอนเหนือ แบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มปราสาทตอนเหนือด้านใน หรือกลุ่มปราสาทสมโบร์ ซึ่งมีการจัดวางแผนผังอยู่ในกำแพง กับกลุ่มปราสาทตอนเหนือด้านนอก ซึ่งประกอบด้วยปราสาทเดี่ยวขนาดกลางและเล็กที่มีอยู่กระจัดกระจาย
กลุ่มปราสาทตอนเหนือด้านใน หรือกลุ่มปราสาทสมโบร์ มีแนวกำแพงล้อมรอบสองชั้น ตรงกลางเป็นปราสาทประธานก่ออิฐ (N1) นอกจากนี้ยังมีปราสาทบริวารที่ยังคงเห็นได้อีก 7 หลัง มีปราสาทเล็กแปดเหลี่ยม (N7) และมีปราสาทแผนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ไม่ย่อมุมอีก 3 หลัง (N8 – 10) ภายในกำแพงชั้นที่สองมีปราสาทอีกหลายหลัง สำหรับปราสาทแผนผังสี่เหลี่ยมไม่ย่อมุมนั้นนักโบราณคดีบางท่านจัดไว้เป็นยุคฝูหนาน ก่อนหน้าที่พระเจ้าอีศานวรมันจะสถาปนาราชธานีที่สมโบร์ไพรกุก
กลุ่มปราสาทตอนเหนือด้านนอก เป็นกลุ่มปราสาทขนาดเล็กกระจายอยู่ทางเหนือของกลุ่มปราสาทสมโบร์ สันนิษฐานว่าส่วนหนึ่งน่าจะสร้างขึ้นก่อนกลุ่มปราสาทสมโบร์ ปราสาทที่น่าสนใจ เช่น ปราสาทจัน (N16) ปราสาทอาศรมมหาฤๅษี (N17) ปราสาทเจรย (N18) ปราสาทสรงพระ (N23) เป็นต้น
นอกจากกลุ่มปราสาทหลักทั้งสามกลุ่มแล้ว สมโบร์ไพรกุกยังมีกลุ่มปราสาทอื่นๆ อีกจำนวนมากกระจายตัวอยู่ในบริเวณใกล้เคียง เช่น กลุ่มปราสาทโรบังโรเมียะ (K) ซึ่งมีปราสาทย่อยที่สำคัญคือปราสาทเสร็ยกรุปเลียะก์ (สตรีครบลักษณ์) และโกรลโรเมียะ (คอกแรด) เป็นต้น
อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี