ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล (ตำแหน่งทางวิชาการขณะนั้น)
วัดมหาธาตุ เมืองสรรคบุรี ตั้งอยู่ที่ตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2478
นอกจากนี้ จากข้อมูลของกรมศิลปากรยังได้กล่าวต่อไปอีกว่า วัดมหาธาตุ หรือวัดหน้าพระธาตุ เดิมเรียกว่า “วัดหัวเมือง” หรือ “หรือวัดศีรษะเมือง” ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน้อย
การที่เรียกวัดแห่งนี้ว่าวัดพระธาตุ ก็หมายถึงวัดมหาธาตุ ทั้งนี้ปรากฏข้อความในจารึกในวิหารน้อย วัดหน้าพระเมรุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (หลักที่ 161) เรียกวัดมหาธาตุพระนครศรีอยุธยา ว่าวัดหน้าพระธาตุ
ส่วนการที่เรียกวัดแห่งนี้ว่า “วัดศีรษะเมือง” ธนธร กิตติกานต์ ได้อธิบายว่า วัดนี้เป็นศูนย์กลางเมือง ต่อมาได้มีการย้ายเมืองมาทางใต้ จึงทำให้วัดนี้กลายเป็นวัดที่อยู่ทางทิศเหนือ โดยทั้งนี้เปรียบเทียบคติทางล้านนาที่มักจะมองภาพเมืองออกเป็นส่วนๆ เหมือนร่างกาย โดยกำหนดให้ทิศเหนือเป็นส่วนหัว
ประเด็นนี้ ผู้เขียนกลับมองว่า ถ้าเมืองย้ายลงไปทางใต้ แต่เหตุใดยังคงเรียกวัดแห่งนี้ว่า วัดมหาธาตุ และวัดหน้าพระธาตุ นอกจากนี้ผู้เขียนยังไม่พบคติการมองภาพเมืองออกเป็นส่วนๆ เหมือนร่างกายตามคติล้านนาในเขตลุ่มแม่น้ำภาคกลางตอนล่าง ดังนั้นผู้เขียนจึงตั้งข้อสังเกตว่า วัดหัวเมือง อาจจะเทียบกับคติศีรษะปฐพีสถานที่เป็นที่ตั้งรัตนบัลลังก์ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ซึ่งคติในศาสนาถือว่าเป็นศูนย์กลางชมพูทวีปและเป็นพื้นที่แรกในการกำเนิดโลกใหม่หลังจากเกิดไฟบรรลัยกัลป์
หลักฐานเอกสารเก่าที่บรรยายสภาพวัดแห่งนี้คือ พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวเสด็จประพาสเมืองสรรคบุรี ในปี พ.ศ.2444 ในคราวทรงเททองหล่อพระพุทธชินราช ว่า
“วัดพระมหาธาตุอยู่ในตำบลบ้านซึ่งเรียกได้ว่าบ้านพระลาน อันเปนที่ตั้งวังเจ้าผู้ครองเมือง อยู่ในกลางย่านระหว่างคูเมืองทั้ง 2 ด้าน เชิงเทินยังมีปรากฏเปนเนินดิน ฦกยื่นเข้าไปจากแม่น้ำฟากตะวันตก 20 เส้น แต่เมืองนี้เปนเมือง 2 ฟากน้ำเช่นเมืองทั้งปวง แต่ฟากตะวันออกจะยื่นเข้าไปมากน้อยเท่าใด เค้าเงื่อนหายไปเสียแล้ว บางทีจะได้คงอยู่แต่ฟากเดียวในชั้นหลัง วัดมหาธาตุนั้นตามฝีมือที่ทำเปน 2 คราว ฤๅ 3 คราว ชั้นเดิม ที่เดียวเปนเมืองละโว้ ชั้นที่ 2 เปนอย่างเมืองลพบุรี เปนการที่ทำเพิ่มเติมซ้ำๆ กันลงไปอย่างที่เห็นชัดคือระเบียง เดิมเปนพระศิลานั่งเว้นห้องหนึ่ง มีห้องหนึ่งครั้นภายหลังทำแทรกลงในห้องว่างทุกๆ ห้อง เปนพระก่ออิฐ แลขยายระเบียงต่ออกไปเอามุมเปนกลาง อย่างเช่นวัดพระศรีรัตนศาสดารามสร้างพระวิหารใหญ่ขึ้นใหม่ เห็นจะเปนครั้งเจ้ายี่พระยาแต่ที่ไม่แล้ว ตัวพระมหาธาตุนั้นก็เป็นรูปสี่เหลี่ยมซ้อนกันเปนชั้นๆ ทีจะเป็นยอดเล็กยอดน้อยไม่ใช่ปรางค์”
บ้านพระลานวังผู้ครองนคร
ในพระราชหัตถเลขาได้ระบุว่า วัดมหาธาตุตั้งที่บ้านพระลาน อันเป็นที่ตั้งวังเจ้าผู้ครองเมือง เรื่องนี้น่าจะเป็นดั่งพระราชวินิจฉัย ทั้งนี้คำว่า “พระลาน” มาจากศัพท์คำว่า “พฺลาญ” ในภาษาเขมร ที่หมายถึงลานอันศักดิ์สิทธิ์ อีกทั้งถ้าเทียบกับตำแหน่งถนนหน้าพระลานของกรุงเทพฯ ก็คือบริเวณด้านหน้าพระบรมมหาราชวัง
พระเจดีย์ประธาน
นอกจากนี้ ถ้าพิจารณาจากพระราชหัตถเลขา ทำให้น่าเชื่อได้ว่าพระเจดีย์ประธานวัดแห่งนี้น่าจะพังทลายไปก่อนหน้าเสด็จประพาสเมืองสรรคบุรี สภาพปัจจุบันกรมศิลปากรได้บูรณปฏิสังขรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แผนผังของพระเจดีย์ประธานเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่ด้านหน้าทีบันไดทางขึ้นฐานล่างสุดมีลักษณะสี่เหลี่ยมจัตุรัส ฐานชั้นถัดไปเป็นฐานย่อมุมมีเป็นฐานเขียง 3 ชั้นรองรับฐานบัวคว่ำบัวหงาย บริเวณท้องไม้มีการเจาะสี่เหลี่ยม ถัดขึ้นไปเป็นส่วนของเรือนธาตุที่มีสภาพชำรุดอย่างมาก
ตามความเห็นของผู้เขียนมองว่าพระเจดีย์องค์นี้น่าจะพอเทียบเคียงได้กับพระเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล พระนครศรีอยุธยา ส่วนการกำหนดอายุ ผู้เขียนพิจารณาจากรูปทรงสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น แต่ไม่ชี้ชัดว่าเป็นของที่สร้างในสมัยพระเจ้ายี่พระยา ทั้งนี้เพราะ ถ้าเราตั้งต้นว่าสิ่งก่อสร้างที่ใหญ่โตจะต้องเป็นของที่เจ้านายสร้างหรืออุปถัมภ์ เมืองสรรคบุรีในสมัยอยุธยาตอนต้น นอกจากเจ้ายี่พระยายังมีเจ้านายองค์อื่นมาครอง ดังนั้น เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเจ้ายี่พระยาสถาปนาพระเจดีย์องค์นี้
พระปรางค์ทรงกลีบมะเฟือง
ปัจจุบันภายในวัดมหาธาตุ เมืองสรรคบุรี ปรากฏพระปรางค์ทรงกลีบมะเฟือง 1 องค์ เป็นพระปรางค์ขนาดใหญ่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือใกล้ริมแม่น้ำน้อย พระปรางค์องค์นี้ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้บริเวณที่ใกล้กับพระปรางค์กลีบมะเฟืองจะมีเจดีย์ทรงปราสาทยอดกลีบมะเฟือง
ลักษณะของพระปรางค์ทรงกลีบมะเฟือง ฐานล่างสุดเป็นฐานเขียง ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวลูกฟัก 3 ชั้น เรือนธาตุมีแผนผังลักษณะเพิ่มมุม กึ่งกลางด้านมีซุ้มจระนำ ภายในซุ้มจระนำมีพระพุทธรูปปูนปั้น ทิศตะวันออก ทิศใต้ และทิศตะวันตก เป็นพระพุทธรูปปางลีลา ส่วนทางด้านทิศเหนือเป็นพระพุทธรูปปางถวายเนตร สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้กล่าวถึงพระปรางค์ทรงกลีบมะเฟืองว่า “ยังมีพระปรางค์ไทยแปลกอีกอย่าง 1 ทำองค์ปรางค์เป็นเฟือง เห็นพระมหาธาตุองค์ 1 และทำปรางค์รายไว้ที่วัดมหาธาตุเมืองลพบุรี อีกองค์ 1 หรือ 2 องค์ ไม่เห็นมีที่อื่นอีก จะได้แบบมาแต่ไหนยังไม่ทราบ”
ในความเห็นของผู้เขียนคิดว่า พระปรางค์ทรงกลีบมะเฟืองนี้เป็นของที่เกิดขึ้นในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ด้วยเหตุผลที่ว่าพระปรางค์เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาได้ปรับรูปทรงมาจากปราสาทในวัฒนธรรมทะเลสาบเขมร แต่ในวัฒนธรรมทะเลสาบเขมรกลับไม่ปรากฏปราสาททรงกลีบมะเฟือง อีกทั้งทรงยอดกลีบมะเฟืองเองก็ไม่ปรากฏในสถาปัตยกรรมที่อื่นใด ถ้าพิจารณาจากพระปรางค์ในช่วงก่อนการสถาปนาและในช่วงอยุธยาตอนต้น ยกตัวอย่างพระปรางค์
หมาย เลข 16 ค ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี จะเห็นว่าที่บริเวณยอดปรางค์ที่พัฒนามาจากส่วนที่เป็นกลศของปราสาทจะพบว่าเป็นริ้วกลีบมะเฟือง ดังนั้น ถ้าปรับชั้นบันแถลงให้รับส่วนบนที่เป็นกลีบมะเฟืองด้านบน ผลจะให้ยอดพระปรางค์เป็นกลีบมะเฟือง
สำหรับการกำหนดอายุของพระปรางค์ เนื่องจากแผนผังของเรือนธาตุยังมีลักษณะเพิ่มมุม ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเป็นพระปรางค์ในศิลปะอยุธยาตอนต้น หากแต่มุมประธานเริ่มมีขนาดไม่ใหญ่มาก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเริ่มจะเข้าสู่สมัยอยุธยาตอนกลางแล้ว
อนึ่ง จากการศึกษาของ โทโมฮิโตะ ทะคะตะ ในวิทยานิพนธ์เรื่อง “แบบอย่างของเจดีย์ในเมืองสรรคบุรีกับการสะท้อนความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์” ได้เสนอว่า พระปรางค์ทรงกลีบมะเฟืองที่วัดมหาธาตุ เมืองสรรคบุรี มีรูปทรงที่น่าจะสืบทอดมาจากพระปรางค์ทรงกลีบมะเฟืองหมายเลข 1 ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ลพบุรี และพระพุทธรูปในซุ้มที่เป็นปางลีลาเป็นอิทธิพลของศิลปะสุโขทัย ระยะเวลาสร้างพระปรางค์องค์นี้อยู่ในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 20
เจดีย์ทรงปราสาท
ภายในวัดมหาธาตุ เมืองสรรคบุรี มีเจดีย์ทรงปราสาทยอดเรือนธาตุแปดเหลี่ยม จำนวน 7 องค์ วางตัวจากตะวันออกไปทางตะวันตก ส่วนใหญ่ได้รับการบูรณะในช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เล็กน้อย
จากการศึกษาของ โทโมฮิโตะ ทะคะตะ ได้เสนอว่า เนื่องจากเจดีย์ทรงปราสาทยอดที่เรือนธาตุแปดเหลี่ยมวัดมหาธาตุ เมืองสรรคบุรี ได้ผ่านการบูรณะมาก่อน จึงไม่สามารถกล่าวได้ว่าสร้างขึ้นก่อนเจดีย์แบบเดียวกันในเมืองต่างๆ หรือไม่ อาจสร้างเลียนแบบเจดีย์ปราสาทยอดที่มีเรือนธาตุแปดเหลี่ยมที่มีมาก่อนแล้วในภาคกลางก็ได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อ โทโมฮิโตะ ทะคะตะ เสนอว่าเจดีย์ทรงปราสาทเรือนธาตุแปดเหลี่ยมอาจจะได้แบบมาจากเจดีย์แบบเดียวกันในภาคกลาง ดังนั้นเมื่อรูปทรงนี้ในลุ่มแม่น้ำภาคกลางตอนล่างมี ก็ไม่จำเป็นว่าต้องรับอิทธิพลจากสุโขทัย
นอกจากตัวกรอบซุ้มหน้านางที่มองว่าได้รับอิทธิพลจากศิลปะสุโขทัยนั้น ผู้เขียนกลับมองว่าซุ้มหน้านางของเจดีย์ทรงปราสาทเรือนธาตุแปดเหลี่ยมที่วัดแห่งนี้กลับเหมือนซุ้มหน้านางเจดีย์ช้างล้อมที่วัดมเหยงคณ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และแผ่นจำหลักไม้ที่ได้จากสุพรรณบุรี ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โดยเฉพาะเจดีย์ช้างล้อมที่วัดมเหยงคณ์นั้นมีความคล้ายคลึงกับลังกาทวีปมาก ดังนั้น ซุ้มหน้านางที่เจดีย์กลุ่มนี้อาจจะได้มาจากลังกาโดยผ่านมาทางกรุงศรีอยุธยาก็เป็นไปได้ ส่วนที่เป็นอิทธิพลของสุโขทัยนั้นคงมีแค่พระพุทธรูปปางลีลา นอกจากโบราณสถานแล้ว ภายในวัดมหาธาตุยังเก็บรักษาพระพุทธรูปทรงเครื่องสำริดในพิพิธภัณฑ์ของวัด พิจารณาจากลักษณะเครื่องทรงของพระพุทธรูป เป็นพระพุทธรูปในศิลปะอยุธยาช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 ดังนั้น จึงทำให้น่าเชื่อว่า แม้เมืองสรรคบุรีจะลดบทบาทลงจากเมืองที่เจ้านายมาปกครองในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 21 แล้วก็ตาม แต่วัดแห่งนี้คงจะได้รับการอุปถัมภ์จากกลุ่มมูลนายผู้ใหญ่
อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี