รองศาสตราจารย์ ดร.ศานติ ภักดีคำ
เมืองชัยภูมิ แม้จะเป็นเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย – กรุงรัตนโกสินทร์ แต่จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่า บริเวณพื้นที่ในจังหวัดชัยภูมิ ปรากฏหลักฐานการอาศัยอยู่ของผู้คนมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ต่อมาเมื่อได้รับวัฒนธรรมทวารวดี จึงมีหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะแบบทวารวดีจากภาคกลางของประเทศไทย
หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญของวัฒนธรรมทวารวดีในจังหวัดชัยภูมิปรากฏให้เห็นหลายแห่ง เช่น บ้านกุดโง้ง อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งพบใบเสมาสมัยทวารวดีจำนวนมาก ใบเสมาที่พบมีทั้งที่ศาล ปู่ตา ปากทางเข้าหมู่บ้าน และในวัดศรีปทุมคงคาวนาราม ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับที่พบบริเวณเมืองฟ้าแดดสงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ อายุสมัยน่าจะอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12–16 ซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมทวารวดีในลุ่มแม่น้ำชี
นอกจากนี้ยังพบพระพุทธรูปศิลาแกะสลักศิลปะสมัยทวารวดีบนหน้าผาที่ภูพระ อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิด้วย อันแสดงให้เห็นว่าบริเวณจังหวัดชัยภูมิได้มีการอยู่อาศัยในสมัยทวารวดี (ราวพุทธศตวรรษที่ 13–14) ด้วย 🗃
นอกจากในบริเวณอำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ แล้ว ยังพบว่าในอำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ ยังมีแหล่งโบราณคดีเมืองคอนสวรรค์ ซึ่งเป็นเมืองโบราณสมัยทวารวดีที่มีแผนผังคูน้ำคันดินเป็นรูปวงกลม ราวพุทธศตวรรษที่ 13–15 ภายในเมืองโบราณคอนสวรรค์นี้พบทั้งใบเสมาสมัยทวารวดี และพระพุทธรูปศิลปะทวารวดี ที่เรียกว่า “หลวงพ่อใหญ่” เมืองคอนสวรรค์แสดงให้เห็นว่าเส้นทางนี้เป็นเส้นทางโบราณที่ใช้สืบเนื่องมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ตัวเมืองคอนสวรรค์เดิมเป็นเมืองที่มีคูน้ำคันดินที่มีลักษณะเป็นรูปกลม มีการพบใบเสมาหินขนาดใหญ่ร่วมสมัยกับศิลปะแบบทวารวดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวนมาก ที่วัดคอนสวรรค์ พบทั้งใบเสมาหินทรายและพระพุทธรูปใหญ่สมัยทวารวดี และใบเสมาหินทรายที่วัดศรีวิชัย ซึ่งมีลวดลายใกล้เคียงกับที่พบ ณ บ้านกุดโง้ง อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ
แสดงให้เห็นว่าชุมชนโบราณที่เมืองคอนสวรรค์และชุมชนโบราณที่บ้านกุดโง้ง มีการติดต่อสัมพันธ์กัน อันเป็นหลักฐานสำคัญที่ทำให้เห็นว่าเส้นทางที่ผ่านจากบ้านกุดโง้งที่ลำประทาย ไปยังบ้านจอก เมืองคอนสวรรค์ และช่องสามหมอเป็นเส้นทางโบราณ
นอกจากนี้ยังพบศิลาจารึกในช่วงเวลาราวพุทธศตวรรษที่ 13–14 ได้แก่จารึกห้วยมะอึ จารึกด้วยอักษรหลังปัลลวะ ภาษาสันสกฤต พบที่ห้วยมะอึ บ้านหนองหินตั้ง ตำบลบ้านยาง อำเภอเกษตรสมบูรณ์ และศิลาจารึกบ้านหัวขัวซึ่งจารึกขึ้นเมื่อพุทธศตวรรษที่ 14–15 เป็นศิลาจารึกหลังปัลลวะ ภาษาสันสกฤต พบที่บ้านหัวขัว ตำบลหนองข่า อำเภอเกษตรสมบูรณ์ อันแสดงถึงการอาศัยอยู่ของชุมชนบริเวณจังหวัดชัยภูมิในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13–15 ได้เป็นอย่างดี
ต่อมาเมื่ออาณาจักรเขมรโบราณสมัยพระนครได้ขยายอำนาจเข้ามาในอีสาน ราวพุทธศตวรรษที่ 15–18 ได้พบร่องรอยของวัฒนธรรมเขมรโบราณภายในจังหวัดชัยภูมิด้วย ดังพบหลักฐานทางโบราณคดีหลายแห่ง เช่น ปราสาทกู่แดง อำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ ปราสาทปรางค์กู่ อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังพบศิลาจารึกภาษาเขมรโบราณที่เมืองภูเขียว เรียกว่า “จารึกภูเขียว” พบที่ห้วยมะอึ ตำบลบ้านยาง อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จารึกหลักนี้เป็นจารึกเขมรสมัยพระนครราวพุทธศตวรรษที่ 15 ซึ่งกล่าว ถึงเจ้าเมืองที่ชื่อ “ชัยสิงหวรมัน” อีกด้วย รวมทั้งยังพบศิลาจารึกเกษตรสมบูรณ์ ราวพุทธศตวรรษที่ 16 และจารึกวัดปรางค์กู่ หนองบัว ซึ่งเป็นจารึกอโรคยศาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อีกด้วย
จากหลักฐานต่างๆ แสดงให้เห็นว่า บริเวณเมืองชัยภูมิเป็นชุมชนสำคัญในวัฒนธรรมเขมรโบราณตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 15 โดยทับซ้อนกับพื้นที่ซึ่งมีการอยู่อาศัยในวัฒนธรรมทวารวดี สืบเนื่องต่อมาจนถึงสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อย่างไรก็ตามภายหลังรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แล้ว ไม่พบร่องรอยการอาศัยอยู่ต่อมา แสดงให้เห็นว่าในเวลาต่อมาดินแดนบริเวณนี้ได้ถูกทิ้งร้างไป
ต่อมาในราวพุทธศตวรรษที่ 19–20 อิทธิพลอาณาจักรล้านช้างได้แผ่ขยายอำนาจเข้ามาจนถึงจังหวัดชัยภูมิ ปรากฏหลักฐานว่า ในราวพุทธศตวรรษที่ 20 อิทธิพลของอาณาจักรล้านช้างได้แผ่เข้ามาในบริเวณจังหวัดชัยภูมิ ดังปรากฏหลักฐานว่ามีการสร้างพระธาตุที่หนองสามหมื่น เรียกกันว่า พระธาตุหนองสามหมื่น อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ
พระธาตุหนองสามหมื่น หรือพระธาตุบ้านแก้ง เป็นพระธาตุที่มีรูปแบบผสมผสานระหว่างศิลปะล้านนา ศิลปะล้านช้าง และอยุธยา สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 21–22 ในรัชกาลพระไชยเชษฐาธิราชแห่งอาณาจักรล้านช้าง นอกจากนี้ยังปรากฏหลักฐานว่า เมืองชัยภูมิเป็นหนึ่งในเมืองขึ้นของเมืองนครราชสีมาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา
ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ชาวเวียงจันทน์ชื่อท้าวแล ได้อพยพครอบครัวมาตั้งอยู่ที่บ้านหนองน้ำขุ่น หรือหนองอีจาน ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2362 จึงได้ย้ายมาตั้งอยู่ที่บ้านชีลอง หลังจากนั้นจึงมีผู้คนอพยพเข้ามาอยู่เพิ่มเติมอีกหลายบ้าน เช่น บ้านแสนพัน บ้านบุ่งคล้า ฯลฯ มีจำนวนชายฉกรรจ์กว่า 700 คน ท้าวแลจึงเกณฑ์ส่วยผ้าขาวส่งเวียงจันทน์มีความชอบ เจ้าอนุวงศ์จึงตั้งให้เป็นขุนภักดีชุมพล
ต่อมา ใน พ.ศ.2365 ขุนภักดีชุมพลเห็นว่าที่ตั้งเดิมกันดารน้ำจึงย้ายครอบครัวและบ้านเรือนมาตั้งที่บ้านหลวง ระหว่างหนองปลาเฒ่ากับบ้านหนองหลอด จากนั้นได้เลิกส่งส่วยให้กับเวียงจันทน์ แล้วขอส่งส่วยเร่วทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านหลวงเป็น “เมืองชัยภูมิ” และโปรดเกล้าฯ ให้ขุนภักดีชุมพล (ท้าวแล) เป็นพระยาภักดีชุมพล (แล)
ต่อมาใน พ.ศ.2369 เจ้าอนุวงศ์ยกทัพลงมาเมืองนครราชสีมา และให้พระยาภักดีชุมพล (ท้าวแล)เข้าร่วมด้วย และให้กวาดต้อนครอบครัวเมืองชัยภูมิขึ้นไปเวียงจันทน์ แต่พระยาภักดีชุมพล (ท้าวแล) ไม่ยอม กองทัพเจ้าอนุวงศ์จึงจับพระยาภักดีชุมพล (ท้าวแล) ประหารชีวิตที่บริเวณหนองปลาเฒ่า ต่อมาชาวเมืองจึงสร้างศาลไว้ที่หนองปลาเฒ่าสืบมาจนถึงปัจจุบันนั่นเอง
หนังสือ “ทำเนียบหัวเมือง ร.ศ.118” (พ.ศ.244) สมัยรัชกาลที่ 5 กล่าวว่า เมืองชัยภูมิเป็นเมืองขึ้น
เมืองนครราชสีมา และมีระบุผู้ปกครองเมืองไว้ดังนี้
“ไชยภูมิ์ ขึ้น
ผู้ว่าราชการเมือง พระภักดีชุมพล”
อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี