Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

เที่ยววัดเสม็ด ชลบุรี ชมจิตรกรรมฝาผนังที่ไม่เหมือนใคร!! #เที่ยวทิพย์ไปทุกที่

บริเวณผนังเหนือบานประตู สลักรอยพระพุทธบาทลงรักปิดทอง

บ้านเมืองวุ่นวาย เหตุการณ์ในชีวิตประจำวันเลวร้าย มีคนตายนับร้อยทุกวัน ขอหลบเข้าไปพักใจในวัดหาความสงบ…ที่นี่ “วัดเสม็ด” จังหวัดชลบุรี  เป็นวัดศูนย์กลางของชุมชนตำบลเสม็ดและบริเวณใกล้เคียง วัดแห่งนี้ตั้งอยู่บนถนนสายเสม็ด-อ่างศิลา ซอย 8 ต.เสม็ด อ.เมืองชลบุรี 

สร้างเมื่อใดไม่ปรากฏแน่ชัด แต่มีคำบอกเล่าว่านางไท เป็นผู้ถวายที่ดินสร้างวัด จำนวน 6 ไร่เศษ  ได้รับอนุญาตให้สร้างวัดเมื่อ พ.ศ. 2398 ขณะที่พระอุโบสถระบุว่าสร้างขึ้นในปีพ.ศ.2421 ตรงกับรัชกาลที่ 5   รูปแบบสถาปัตยกรรมในวัด ได้แก่ พระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ และภาพจิตรกรรมฝาผนัง ทำให้สันนิษฐานได้ว่าน่าจะสร้างขึ้นในปลายสมัยรัชกาลที่ 3 ถึงต้นรัชกาลที่ 4 

โดยพระอุโบสถของวัดเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผา รอบอาคารมีพาไล หน้าบันประดับปูนปั้นลายพันธุ์พฤกษา ภายในอุโบสถประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัย มีการเขียนจิตรกรรมฝาผนังทั้งสี่ด้าน

ภาพจิตรกรรมที่วัดแห่งนี้ แปลกกว่าที่วัดอื่นๆ คือเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับการปลงกรรมฐานของพระภิกษุด้วยวิธีพิจารณาอสุภ 10  หรือการทำกรรมฐานด้วยการพิจารณาร่างกายซากศพที่ถูกสัตว์ยื้อแย่งกัดกิน และมีภาพเทวดา พญาครุฑ พญานาค พญายักษ์ พญาวานร ภาพพระอรหันตสาวกซึ่งสูงด้วยญาณสมาบัติ ภาพทวยเทพร่ายรำแสดงความยินดีในชัยชนะของพระพุทธเจ้าต่อพญามาร  ที่แปลกคือมีภาพของชาวตะวันตกด้วย คือปรากฏรูปทหารขี่ม้า และเรือกลไฟแบบฝรั่ง สำหรับการใช้สีและเส้นค่อนข้างน้อย สีที่ใช้ก็อยู่ในกลุ่มสีค่อนข้างหม่น เช่น น้ำตาล เทา เป็นต้น

ภาพจิตรกรรมดำเนินเรื่องแบบทักษิณาวัตร  คือการเวียนไปทางขวาตามเข็มนาฬิกา โดยเริ่มเรื่องจากห้องภาพทางด้านซ้ายของพระประธาน ผนังด้านหน้าพระประธาน แบ่งห้องภาพเป็นห้องภาพบริเวณผนังเหนือบานประตู สลักรอยพระพุทธบาทลงรักปิดทองเป็นรอยลึกลงไปจากระดับผนัง อยู่บริเวณด้านบนกึ่งกลางผนัง 

ภาพจิตรกรรมบอกเล่าเรื่องราวของคนทุกหมู่เหล่า ไม่ว่าภิกษุ ฆราวาส ตลอดจนเหล่าเทวดาบนสวรรค์ ต่างพากันมานมัสการรอยพระพุทธบาทซึ่งเปรียบเสมือนเป็นตัวแทนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นการผสมผสานระหว่างประติมากรรมและจิตรกรรมได้อย่างลงตัว  ห้องภาพถัดมาตรงระหว่างบานประตู เขียนเรื่อง วิกขายิตกอสุภ ซึ่งเป็นหนึ่งในเรื่องของพระอสุภกรรมฐาน

ส่วนผนังด้านหลังพระประธานกับผนังด้านหน้าพระประธาน ด้านบนเขียนเรื่องไตรภูมิ ผนังด้านล่างบริเวณฐานชุกชีเขียนเป็นภาพนรก สัตว์เปรต ผนังด้านซ้ายและด้านขวาของพระประธาน เขียนและจัดวางภาพในลักษณะเช่นเดียวกันกับผนังด้านหน้าและด้านหลังพระประธาน คือ ภาพจิตรกรรมเหนือบานหน้าต่าง และภาพจิตรกรรมระหว่างบานหน้าต่างเป็นภาพเทพเทวดา พระภิกษุ นักสิทธิวิทยาธร มาชุมนุมกัน ทุกตัวภาพทุกชั้นหันไปทางพระประธาน ประหนึ่งกำลังนมัสการสักการะบูชาองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยในแต่ละชั้นมีภาพดังนี้…

พระอุโบสถวัดเสม็ด สถาปัตยกรรมรัตนโกสินทร์
การทำกรรมฐานด้วยการพิจารณาร่างกายซากศพที่ถูกสัตว์ยื้อแย่งกัดกิน
การทำกรรมฐานด้วยการพิจารณาร่างซากศพ

ชั้นแรก เทพชุมนุม  เป็นชั้นที่มีการเขียนตัวภาพเทวดา ยักษ์ ลิง ครุฑ ลงไปบนพื้นหลังสีน้ำตาล โดยแต่ละตัวภาพ มีทิพยดอกไม้เป็นตัวคั่น ชั้นที่  2 และ 3 เป็นภาพพระภิกษุถวายอัญชลี นั่งเรียงเป็นแถวในลักษณะภาพซ้ำกันอย่างเป็นระเบียบ ในชั้นที่สองใช้พื้นหลังเป็นสีน้ำเงิน ส่วนชั้นที่สามใช้พื้นหลังเป็นสีน้ำตาล  เหนือขึ้นไปจากภิกษุ เขียนภาพบรรยากาศของท้องฟ้า และก้อนเมฆ มีนักสิทธิวิทยาธรในมือถือมวลดอกไม้บุปผาชาติ เพื่อนำมานมัสการองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ส่วนบริเวณผนังระหว่างบานหน้าต่าง เขียนบรรยายเรื่องพระอสุภกรรมฐาน

โดยแต่ละห้องจะมีการเขียนภาพการปลง สังขารหรือการพิจารณาซากศพที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นการเขียนภาพบรรยายลักษณะพระภิกษุกำลังปลงและพิจารณาซากศพ อสุภกรรมฐานนี้เป็นเครื่องกำจัดราคะ ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย คลายรัก ไม่ยึดถือร่างกายคลายความหลงรูป หลงสวย หลงงาม หลงได้

ผนังด้านหน้าพระประธาน มีรอยพระพุทธบาทอยู่กึ่งกลางผนัง
อสุภกรรมฐาน

วัดเสม็ด นอกจากเรื่องของจิตรกรรมฝาผนังที่มีไม่เหมือนใคร สีสันอย่างตะวันตกแล้ว ในวัดก็ยังมีสิ่งอื่นๆ ที่น่าสนใจและน่าไปชมอีกหลายอย่าง

อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี