รองศาสตราจารย์ ดร.ศานติ ภักดีคำ
เมืองเสมา อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา เป็นเมืองที่มีความสำคัญและมีร่องรอยการทับซ้อนทางวัฒนธรรมทั้งวัฒนธรรมทวารวดี และวัฒนธรรมเขมรโบราณ จากการขุดค้นทางโบราณคดีแสดงให้เห็นว่าพื้นที่นี้มีการอยู่อาศัยเป็นชุมชนมาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 10–11 ตรงกับสมัยหัวเลี้ยวหัวต่อประวัติศาสตร์
ต่อมาจึงปรากฏวัฒนธรรมทวารวดีและวัฒนธรรมเขมรโบราณในพื้นที่เดียวกันนี้ เช่น พระพุทธไสยาสน์และธรรมจักร ที่วัดธรรมจักรเสมาราม นอกกำแพงเมืองทางทิศใต้ แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับวัฒนธรรมทวารวดีในภาคกลาง และโบราณสถานหมายเลข 1 กลางเมืองซึ่งเป็นศาสนสถานที่ใหญ่ที่สุดแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมเขมรโบราณภายในเมืองเสมา
อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าสนใจคือ จารึกซึ่งพบในเมืองเสมา ซึ่งมีถึง 4 หลัก พบในเมืองเสมา 3 หลัก และพบที่อยุธยา 1 หลัก
ศิลาจารึกที่สำคัญที่สุด คือ จารึกบ่ออีกา พ.ศ.1411 (จ.นครราชสีมา) เขียนด้วยภาษาสันสกฤตและเขมรโบราณ น่าจะเป็นจารึกของอาณาจักรศรีจนาศะ หรือจานาศปุระ ดังที่จารึกหลักนี้กล่าวถึง “พระราชาแห่งศรีจนาศะ (ศฺรีจนาเศศฺว(เรณ)” ทรงอุทิศสัตว์และทาสให้พระภิกษุเพื่อหวังโพธิญาณ ส่วนอีกด้านหนึ่งกล่าวสรรเสริญพระศิวะและกล่าวว่า “ได้รับแล้วซึ่งดินแดนอันถูกละทิ้งอยู่นอกกัมพุชเทศ (กมฺวุชเทศานฺตเร)” อันแสดงว่า “ศรีจนาศะ” เป็นอาณาจักรที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การปกครองของเขมรโบราณ แม้ว่าจะเป็นเมืองที่ได้รับวัฒนธรรมเขมรโบราณมาใช้ก็ตาม สอดคล้องกับ “จารึกศรีจนาศะ” ซึ่งพบที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
จารึกศรีจนาศะ พ.ศ.1480 (จ.พระนครศรีอยุธยา) จารึกหลักนี้กล่าวถึงพระนามของกษัตริย์แห่งศรีจนาศะ เช่น พระเจ้าภคทัตต์ พระเจ้าสุนทรปรากรม เป็นต้น ดังนั้นศรีจนาศะน่าจะเป็นรัฐหนึ่งในพุทธศตวรรษที่ 15 ซึ่งไม่ได้รวมอยู่ในอาณาจักรกัมพูชาสมัยพระนคร
จารึกเมืองเสมา เป็นจารึกที่จารึกขึ้นเมื่อ พ.ศ.1514 โดยพราหมณ์ยัชญวราหะ ซึ่งมีความน่าสนใจมาก เนื่องจากยัชญวราหะเป็นราชครูของพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 แห่งเมืองพระนคร ในจารึกหลักนี้ข้อความในด้านที่ 1 กล่าวถึงพระราชประวัติของพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 และการสร้างศิวลึงค์ไว้ที่ “อีศวรปุระ” ซึ่งหมายถึง “ปราสาทบันทายศรี” และด้านที่ 2 กล่าวถึงพราหมณ์ยัชญวราหะได้สร้างเทวรูปพระศิวะ พระนารายณ์ และพระพรหม
จารึกเมืองเสมาจึงเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า ใน พ.ศ.1514 เมืองเสมาได้ถูกปกครองโดยอาณาจักรเขมรโบราณไปแล้ว สอดคล้องกับหลักฐานการขยายอำนาจเข้ามาของอาณาจักรเขมรโบราณสมัยเมืองพระนคร ซึ่งหลังจากนี้เขมรโบราณจะได้ขยายอำนาจทางการเมืองของตนเข้าไปยังลุ่มน้ำป่าสักและเมืองลพบุรีได้สำเร็จ ในพุทธศตวรรษที่ 16 นี้เอง โดยน่าจะใช้เส้นทางข้ามเหวตาบัว ไปยังลำสนธิ แล้วเส้นทางหนึ่งได้ขึ้นเหนือตามลำน้ำป่าสักไปยังเมืองศรีเทพ และที่มุ่งมาตะวันตก ยังเมืองลพบุรี อันจะทำให้เมืองลพบุรีต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของเขมรโบราณต่อมาจนถึงราวพุทธศตวรรษที่ 18 นั่นเอง
อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี