รู้จัก "ธรรมจักร" สัญลักษณ์ของอาสาฬหบูชา (ปรับปรุงจากบทความเรื่อง "ศิลปกรรมเนื่องในศาสนาสมัยทวารวดี") รองศาสตราจารย์ ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
กงล้อแห่งพระธรรมหรือธรรมจักรเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้สื่อถึงพระธรรมคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปรากฏหลักฐานมาแล้วตั้งแต่สมัยอินเดียโบราณเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 3
ธรรมจักรถือว่าเป็นปูชนียวัตถุสำคัญที่พุทธศาสนิกชนชาวทวารวดีได้สร้างขึ้นเพื่อกราบไหว้บูชา พบมากทางภาคกลาง ส่วนใหญ่สลักจากหิน ประดิษฐานบนเสาซึ่งปักอยู่กลางแจ้ง
ธรรมจักรหลายองค์พบร่วมกันกับกวางหมอบด้วย ทั้งนี้เพราะต้องการสื่อถึงพุทธประวัติตอนปฐมเทศนา โดยธรรมจักรเป็นสัญลักษณ์แทนพระธรรมคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงเผยแผ่ตั้งแต่ครั้งนั้น ส่วนกวางหมอบเป็นสัญลักษณ์แทนป่าอิสิปตนมฤคทายวันอันเป็นสถานที่ที่ทรงแสดงปฐมเทศนา
องค์ประกอบของธรรมจักรประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน คือ 1. ดุมซึ่งอยู่ตรงกลาง 2. ซี่ล้อหรือกำ 3. กงหรือวงล้อนอกสุด
ส่วนต่างๆเหล่านี้มีลวดลายประดับตกแต่งงดงามเป็นอย่างยิ่ง เป็นต้นว่า ลายดอกไม้สลับกับสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ลายก้านขด ลายคล้ายเปลวเพลิงซึ่งประดับอยู่ขอบนอกสุด รูปบุคคลที่เชื่อว่าเป็นพระอาทิตย์เทพซึ่งประดับอยู่เบื้องล่าง
ธรรมจักรหลายองค์มีจารึกข้อพระธรรมคำสอนในพุทธศาสนา เขียนเป็นภาษาบาลี เนื้อหาส่วนใหญ่ได้แก่ ธัมมจักกัปปวัตนสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรที่พระพุทธองค์ทรงเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ และปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเป็นพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาเมื่อแรกตรัสรู้ ซึ่งธรรมจักรจากจังหวัดลพบุรีบางองค์ก็ปรากฏจารึกดังกล่าวด้วย
อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี