ทำความรู้จัก “ไส้” ขนมไหว้พระจันทร์

Tips & Tricks สารพันเกร็ดน่ารู้

วันไหว้พระจันทร์ปีนี้มาแบบไม่ทันตั้งตัว เรียกว่ามาไวไปไว...เพราะมัวแต่กังวลกับไวรัสโควิด

แต่ถึงแม้ว่าวันไหว้พระจันทร์จะบ๊ายบายแล้ว แต่ “ขนมไหว้พระจันทร์” ยังคงอยู่ ทั้งแบบมีแบรนด์และไม่มีแบรนด์พร้อมความอร่อยที่หารับประทานได้เฉพาะฤดูกาล

ก่อนพูดถึงการกิน มาทบทวนสักนิดเกี่ยวกับวันไหว้พระจันทร์ ถือเป็นวันสำคัญที่ชาวจีนเฉลิมฉลองให้กับ “ฉางเอ๋อ” เทพจันทราผู้บันดาลให้ภักษาหารอุดมสมบูรณ์ เป็นประเพณีจีนที่มีขึ้นกลางฤดูใบไม้ร่วง อันที่จริงก็เพื่อเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยว จะมีขึ้นในคืนวันเพ็ญเดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติ

ขนมไหว้พระจันทร์ที่นิยมรับประทานในช่วงเทศกาลวันไหว้พระจันทร์นี้  เนื้อแป้ง และไส้ของขนมไหว้พระจันทร์จะปรับเปลี่ยนดัดแปลงไปตามวัฒนธรรมและความนิยมของผู้คนในแต่ละพื้นที่ แต่ก็ยังคงรักษาเสน่ห์ และความอร่อยในแบบดั้งเดิมเอาไว้

โดยส่วนประกอบพื้นฐานของขนมไหว้พระจันทร์  ได้แก่ เนื้อแป้งที่เป็นเปลือกขนม และ  ไข่เค็ม (เฉพาะไข่แดง) ที่อยู่ตรงกลาง ซึ่งสื่อถึง “พระจันทร์”

ขนมไหว้พระจันทร์ยังมีไส้อีกหลากหลายแตกต่างกันไป ไส้ต่างๆ ของขนมไหว้พระจันทร์ยังมีความหมายอีกด้วย กล่าวคือ…

ไส้เม็ดบัว-เป็นไส้ตำรับดั้งเดิมที่ถือว่าได้อารมณ์ของความเป็นขนมไหว้พระจันทร์มากที่สุด เม็ดบัวนี้ได้มาจาก “ดอกบัว” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของจิตใจบริสุทธิ์ อายุยืนยาว เกียรติยศ ความอ่อนน้อมถ่อมตน และความสงบสุข

ไส้ธัญพืชรวมและแฮมยูนนาน-เมื่อนำธัญพืชรวม 5 ชนิด หรือที่เรียกกันว่าถั่ว 5 สีมาผสมกับแฮมยูนนาน ก็จะกลายเป็นสัญลักษณ์ของโชคลาภ และความอุดมสมบูรณ์ ในสมัยก่อนๆ ผู้ที่จะได้รับประทานสองสิ่งนี้จะต้องเป็นคนมีฐานะเท่านั้น

ไส้เกาลัด-คนจีนนิยมรับประทานเกาลัดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ ชื่อภาษาจีนของเกาลัดคือ li tzu(ลี่ ซู่) ซึ่งหมายถึง  “ลูกชาย” และ “สิ่งอันเป็นที่รัก” ประวัติศาสตร์จีนได้บันทึกไว้ว่าเกาลัดถือเป็นของมงคล โดยชาวจีนจะปลูกเกาลัดไว้ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงนำไปใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาด้วย

ไส้ลูกพลัมและไป่จิว-คำว่า “ไป่จิว” หรือ baijiu คือไวน์ขาวตำรับจีนที่ถูกใช้เป็นบรรณาการหรือเครื่องแสดงความเคารพมาตั้งแต่สมัยโบราณ ทั้งยังใช้สร้างความสนิทชิดเชื้อเป็นกันเองในงานสังสรรค์อีกด้วย ส่วนลูกพลัม คือสัญลักษณ์ของความกล้าหาญและความหวัง ดุจดังดอกพลัมที่ชูช่อในฤดูหนาว ทั้งยังหมายถึงการเริ่มต้นตามปฏิทินจันทรคติ

ไส้ของขนมไหว้พระจันทร์ยังมีส่วนประกอบอื่นๆ อีก ได้แก่  “ถั่วแดง” มีใยอาหารสูง เป็นแหล่งรวมของวิตามินบี ธาตุเหล็ก แมกนีเซียม โพแทสเซียม และแร่ธาตุอื่นๆ ชาวจีนโบราณเชื่อว่าไตเป็นอวัยวะที่ผลิตความกลัวออกมา การรับประทานถั่วแดงจะช่วยเพิ่มความกล้าหาญให้กับไตได้ 

2 jpg
moon-cakes-2787737_960_720

“บัวหิมะ” นิยมในช่วงค.ศ.1990 ได้ชื่อตามรูปร่างหน้าตาที่ดูอ่อนหวานนุ่มนวล บัวหิมะ จะมีรสชาติหวานกว่าขนมไหว้พระจันทร์ตำรับดั้งเดิม ใช้การนึ่งและแช่เย็นแทนการอบ 

“ชาเขียว” ช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจและโรคมะเร็งบางชนิด ทั้งยังเพิ่มอัตราการเผาผลาญโดยไม่ไปส่งผลกระทบต่ออัตราการเต้นของหัวใจ คุณสมบัติในการทำลายเชื้อแบคทีเรียของชาเขียวนั้นทำให้ช่วยป้องกันอาหารเป็นพิษและฟันผุได้ 

“คัสตาร์ด”  คือ การนำไข่ นม และครีมมาผสมให้เข้ากัน มักใช้เป็นหน้าหรือไส้ขนม ซึ่งขนมไหว้พระจันทร์ไส้คัสตาร์ดนั้นก็ได้แรงบันดาลใจมาจากบิสกิตแบบดั้งเดิมของชาวอังกฤษนั่นเอง