ปรีดี พิศภูมิวิถี
แม้ว่าเหตุการณ์การปฏิวัติที่สมเด็จพระเพทราชาเป็นผู้นำจะสิ้นสุดลงด้วยการที่ทหารฝรั่งเศสต้องถอนกำลังทหารออกจากอาณาจักรเมื่อปลายปี พ.ศ.2231 นั้น มิได้หมายความว่าชาวฝรั่งเศสทั้งหมดจะต้องออกเดินทางไปจากราชอาณาจักรแต่อย่างใด ปรากฏว่ายังมีชาวฝรั่งเศสอีกเป็นจำนวนมากถูกกักขังทรมานอยู่ในช่วงระยะเวลาหนึ่งก่อนจะได้รับการปล่อยตัวเพื่อให้ดำเนินกิจการของตนได้ตามปกติ หลังจากนั้นบรรดาบาทหลวงมิชชันนารีพ่อค้าต่างก็เริ่มดำเนินกิจกรรมของตนทั้งสิ้น แม้ว่าบรรยากาศการเมืองในขณะนั้นจะไม่เหมือนช่วงเวลาในแผ่นดินก่อนก็ตาม การณ์ดังนี้เป็นไปตามข้อตกลงของสยามต่อฝรั่งเศสก่อนออกเดินทางไปจากราชอาณาจักรที่ว่า “พระเจ้าแผ่นดินทรงยอมพระราชทานสิทธิต่างๆ ซึ่งบริษัทฝรั่งเศสได้รับจากพระเจ้าแผ่นดินที่สวรรคตไปแล้ว…การที่พระเจ้าแผ่นดินทรงเมตตาทั้งนี้จะเป็นสิ่งที่พระราชทานโดยมั่นคงถาวรจะไม่เปลี่ยนแปลงแก้ไขโดยเด็ดขาด”
สำหรับเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) คงจะได้รับการแต่งตั้งขึ้นเป็นเจ้าพระยาโกษาธิบดีในราวต้นรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา เพราะเหตุว่าเมื่อเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) พี่ชายของท่านถึงอสัญกรรมเมื่อปี พ.ศ.2227 แล้วนั้น ออกญาพระเสด็จคงจะว่าราชการในตำแหน่งดังกล่าวอยู่ระยะหนึ่งก่อน ดังความในหนังสือสัญญาระหว่างสยาม-ฝรั่งเศส ลงวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ.2230 ระบุความขึ้นต้นว่า “ออกญาพระเสด็จสุเรนทราธิบดีศรีสุภราชพิริยภาหุ ผู้ว่าราชการ ณ โกษาธิบดี” เป็นผู้แทนฝ่ายสยามในการลงนามสนธิสัญญาการค้ากับอุปทูตเซเบอเรต์ (Céberet) ส่วนในขณะที่เกิดความวุ่นวายที่เมืองลพบุรีและบางกอกนั้น เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ได้รับมอบหมายหน้าที่จากสมเด็จพระเพทราชาให้เดินทางลงไปยังเมืองบางกอกเพื่อเจรจาความกับฝ่ายฝรั่งเศสด้วย
เมื่อสมเด็จพระเพทราชาขึ้นครองราชสมบัติ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) หรือต่อมาคือเจ้าพระยาศรีธรรมราชได้ดำเนินนโยบายการต่างประเทศด้วยการพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับต่างประเทศในสำเนาจดหมายที่นำเสนอในครั้งนี้มีความน่าสนใจว่า ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นเมื่อปลายรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีมูลเหตุมาจากกลุ่มชาวฝรั่งเศสที่ “ไม่คุ้นเคยต่อขนบธรรมเนียมแห่งราชอาณาจักรสยาม” เพราะอาจทราบได้ว่าในขณะนั้นคงมีหนังสือรายงานเกี่ยวกับการปฏวัติที่เรียบเรียงโดยชาวต่างชาติออกมาเผยแพร่บ้างแล้ว
นับตั้งแต่ต้นรัชกาลสมเด็จพระเพทราชาเป็นต้นมา เจ้าพระยาศรีธรรมราช (ปาน) ต้องชี้แจงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้กับราชสำนักต่างประเทศรับทราบอย่างต่อเนื่อง เช่น เจ้าพระยาศรีธรรมราชมีจดหมายถึงเมอซิเออร์ เดอ บริซาซิเยร์ ผู้อำนวยการคณะมิซซังต่างประเทศ กรุงปารีส ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2236 ชี้แจงรายละเอียดของเหตุการณ์ ซึ่งแสดงว่าเหตุการณ์ปฏิวัติเกิดขึ้นเพราะ “เมอซิเออร์เดฟาร์จได้กระทำผิดสัญญา…และกองทหารไม่ได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้” หรือสำเนาจดหมายถึงบาทหลวงเดอ ลา แชส ที่ว่า “ถ้าพวกฝรั่งเศสได้เชื่อคำแนะนำของข้าพเจ้าและเมอซิเออร์ เดอ เมเตโลโปลิส แล้ว การก็คงไม่เป็นดังที่ได้เป็นมาแล้วเป็นแน่”
เราไม่ทราบว่า “คำแนะนำ”ของเจ้าพระยาศรีธรรมราช (ปาน) คือการให้นายพลเดฟาร์จเร่งขึ้นไปยังลพบุรีตามคำสั่งของพระเพทราชาที่ปฏิวัติสำเร็จแล้วหรือไม่ เพราะก่อนหน้านั้นนายพลเดฟาร์จปฏิเสธที่จะยกกองกำลังทหารขึ้นไปยังลพบุรีเพื่อช่วยเหลือเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ และได้รับคำแนะนำจากสังฆราชบาทหลวงว่าไม่ควรยกกองกำลังขึ้นไปแต่ให้นำกองทหารกลับยังเมืองบางกอก เพราะเกรงว่าถ้าเกิดการต่อสู้แล้ว ชาวฝรั่งเศสในสยามอาจได้รับอันตรายด้วยกันทั้งหมด อย่างไรก็ดีในตำแหน่งที่สำคัญในราชอาณาจักรเช่นนี้ เจ้าพระยาศรีธรรมราช (ปาน) คงมองเห็นว่า หากปล่อยให้เหตุการณ์ล่วงเลยไปโดยผิดใจกันคงจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี จึงคงจะพยายาม “แก้ต่าง” ให้กับความวุ่นวายต่าง ๆ ว่า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยทั้งสองฝ่ายไม่ได้ตั้งใจทั้งที่ความเป็นจริงแล้วเจ้าพระยาศรีธรรมราช (ปาน) คงจะทราบดีถึงนโยบายการเมืองระหว่างประเทศของฝรั่งเศส ตั้งแต่ที่เป็นราชทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศฝรั่งเศสแล้ว เพราะฝรั่งเศสได้ปรารถนาที่จะขอเมืองใดเมืองหนึ่งของสยามเพื่อใช้เป็นที่พำนักของเหล่าทหารที่ทางกรุงฝรั่งเศสจะส่งมานัยว่าเพื่อเป็นทหารรักษาพระองค์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
หลังจากเกิดปฏิวัติเป็นต้นมา ทางฝรั่งเศสพยายามที่จะเริ่มต้นความสัมพันธ์อีกครั้ง วันที่ 27 พฤศจิกายน ค.ศ.1690 (พ.ศ.2233) บาทหลวงตาชาร์ดมีจดหมายมาจากเมืองบาลาซอ มายังพระคลัง ความว่าจะเข้ามายังราชอาณาจักรอีกครั้งแต่อาจจะล่าช้าไปบ้าง ทั้งนี้บาทหลวงตาชาร์ดเพิ่งจะได้รับทราบรายงานความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในราชอาณาจักรและได้ขอร้องให้พระคลังช่วยดูแลบรรดาบาทหลวงมิชชันนารีฝรั่งเศสที่อยุธยาและเมืองอื่นๆ ในสยาม ทว่าบาทหลวงตาชาร์ดกลับต้องคอยอีกกว่า 1 ปี จึงมีจดหมายเข้ามาถึงพระคลังลงวันที่ 11 กรกฎาคม ค.ศ.1691 (พ.ศ.2234) ว่าขณะนั้นได้มาคอยรับพระบรมราชานุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรอยู่ที่เมืองเบงกอล
อย่างไรก็ตาม ราชสำนักสยามในช่วงต้นแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชาก็มิได้อยู่ในภาวะปกติสุขเท่าใดนัก มีกบฏที่สำคัญและเหตุการณ์วุ่นวายต่างๆ เกิดขึ้น เช่น เจ้าเมืองนครราชสีมาและเมืองนครศรีธรรมราชไม่ยอมรับอำนาจของสมเด็จพระเพทราชา ก่อการกระด้างกระเดื่องทำให้สมเด็จพระเพทราชาต้องทรงส่งกองทัพไปปราบใน พ.ศ.2234 และใช้เวลากว่า 2 ปีในการจัดการ ต่อมาปี พ.ศ.2237 เกิดกบฏธรรมเสถียรขึ้น ครั้งนี้เกิดขึ้นที่นครนายก หัวหน้ากบฏได้อ้างตนเป็นเจ้าฟ้าอภัยทศ พระอนุชาของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช รวบรวมกองกำลังพลบุกเข้ามาจนประชิดกำแพงเมืองอยุธยา ครั้นปี พ.ศ.2241-2243 เกิดกบฏบุญกว้างที่หัวเมืองนครราชสีมา ดังนี้เป็นต้น เหตุการณ์ทางการเมืองดังกล่าวทำให้การฟื้นฟูพระราชไมตรีกับฝรั่งเศสไม่เป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจเท่าใดนัก อย่างไรก็ตาม บาทหลวงตาชาร์ดก็ได้มีจดหมายลงวันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ.1693 (พ.ศ.2236) ขอบคุณออกพระพิพัฒน์ที่ช่วยดูแลและให้เงินแก่มิชชันนารีที่อยุธยา รวมทั้งเขียนจดหมายระบุความตั้งใจที่จะเข้ามายังราชสำนักอีกครั้ง เช่น ระบุว่า “ข้าพเจ้าได้นึกตรึกตรองทั้งกลางวันและกลางคืน ถึงวิธีที่จะสมาน พระหฤทัยอันใหญ่ของพระเจ้าแผ่นดินทั้ง 2 พระองค์และให้ประเทศทั้ง 2 ได้เป็นไมตรีดังเดิม”
และแม้ว่าพระราชสาส์นที่อัญเชิญมาจากพระสันตะปาปาและพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสจะมีจุดประสงค์เพื่อถวายพระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อนก็ตาม “ก็จะยอมถวายต่อกษัตริย์องค์ปัจจุบันให้ทอดพระเนตรเพื่อสานไมตรีต่อไป”
สมเด็จพระเพทราชาเองไม่ได้ทรงมีทีท่าว่ารังเกียจที่จะสานไมตรีกับประเทศฝรั่งเศส เพราะยังทรงอนุญาตให้ชาวฝรั่งเศสที่อยู่ในสยามได้ประกอบกิจการของตนเองตามที่ได้เคยปฏิบัติมาทั้งสิ้น ท่านสังฆราชลาโนได้เขียนจดหมายรายงานถึงเมอซิเออร์ เดอ บริซาซิเยร์ ลงวันที่ 18 สิงหาคม ค.ศ.1692 (พ.ศ.2236) ระบุว่า “พวกเรายังมีชีวิตอยู่พอสุขสบายบ้าง พวกคนไทยหวังในการที่จะเป็นไมตรีกับฝรั่งเศสต่อไปและเวลานี้ยังคอยคนไทยที่เจ้าพนักงานได้ส่งให้ไปรับบาทหลวงตาชาร์ดที่เมืองปองดิเชรี่ตั้งแต่ปีกลายนี้ การทั้งหลายที่จะสำเร็จไปนั้นก็ดูจะไม่สู้กระไรเพราะฝ่ายพวกไทยก็ดูเอาใจใส่อยู่บ้าง” และจดหมายลงวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ.1693 (พ.ศ.2236) ท่านสังฆราชลาโนเขียนถึงบาทหลวงตาชาร์ดว่า ได้รับจดหมายแจ้งที่บาทหลวงตาชาร์ดจะเข้ามาแล้ว และทางสยามได้จัดส่ง เมอซิเออร์ แฟร์เรอ ให้ออกไปรับ ทั้งชี้แจงรายละเอียดต่าง ๆ ที่จำเป็นในการจัดการสิ่งต่าง ๆ ให้เรียบร้อย จดหมายระบุความว่า “พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันได้พระราชทานอนุญาตให้ฝรั่งเศสไปได้แล้ว ฉะนั้น พวกฝรั่งเศสจะได้กลับไปทุกคน บางคนจะลงเรือไปเมืองสุรัต บางคนจะกลับเมืองตะนาวศรี แต่บางคนไม่อยากไปเลยก็มี” ทว่าผลที่ตามมาคือบาทหลวงตาชาร์ดก็ยังไม่ได้เดินทางเข้ามาในกรุงสยามแต่อย่างใด
จนกระทั่ง ปี พ.ศ.2240 บาทหลวงตาชาร์ดมีหนังสือเข้ามายังราชสำนักสยาม พร้อมแจ้งว่า ต้องการเข้ามาในอาณาจักรอีกครั้ง แต่เจ้าพระยาศรีธรรมราช (ปาน) ปฏิเสธเพราะเห็นว่าบาทหลวงตาชาร์ดได้อัญเชิญพระราชสาส์นของพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสลงเรือโดยสารของแขกมัวร์จากเมืองอูกลี ในประเทศอินเดีย มาขึ้นฝั่งที่เมืองมะริด เจ้าพระยาศรีธรรมราชมีจดหมายตอบบาทหลวงตาชาร์ดไปว่า “ขอให้ท่านเชิญพระราชสาส์นกลับไปยังเมืองสุรัตเถิด เมื่อมีเรือมาจากประเทศฝรั่งเศสเมื่อใดท่านจึงค่อยเชิญพระราชสาส์นมาตามแบบเดิมๆ เมื่อเช่นนั้น ข้าพเจ้าจึงจะนำความขึ้นกราบทูลพระเจ้ากรุงสยาม นายของข้าพเจ้าให้ทรงทราบ พระเจ้ากรุงสยามจะได้ทรงจัดการรับพระราชสาส์นตามสมควรและตามแบบอย่างโบราณราชประเพณี”
สองปีต่อมา พ.ศ.2242 บาทหลวงตาชาร์ดจึงได้เดินทางเข้ามายังสยามอีกครั้ง และได้เข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 อีกครั้งที่พระราชวังอยุธยา และอาจนับได้ว่าการรับราชทูตฝรั่งเศสชุดนี้อาจจะเป็นภารกิจสุดท้ายของเจ้าพระยาศรีธรรมราช (ปาน) เพราะท่านต้องพระราชอาญาโบยและถึงอสัญกรรมในปี พ.ศ.2243 นั้นเอง
อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี