Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

เมืองโบราณทางภาคกลางและภาคตะวันตกของประเทศไทยในจารึกปราสาทพระขรรค์

รองศาสตราจารย์ ดร.ศานติ ภักดีคำ

จารึกปราสาทพระขรรค์ ซึ่งเป็นจารึกที่พบ ณ ปราสาทพระขรรค์ ในบริเวณเมืองพระนคร เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ.2482

จารึกปราสาทพระขรรค์มีขนาดใหญ่ สูง 1 เมตร 85 เซนติเมตร กว้าง 58 เซนติเมตร มีการจารึกข้อความไว้ทั้ง 4 ด้าน ด้านละ 72 บรรทัด ข้อความทั้งหมดในจารึกปราสาทพระขรรค์ประพันธ์ด้วยฉันท์ภาษาสันสกฤต

เนื้อความในจารึกปราสาทพระขรรค์มีข้อความสรรเสริญพระรัตนตรัย สรรเสริญพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งเป็นกษัตริย์ผู้ที่โปรดให้จารึก พระราชประวัติ รวมทั้งกล่าวถึงสิ่งต่างๆ ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงสร้าง เช่น นครชัยศรีและปฏิมากรพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เป็นต้น

อย่างไรก็ตามข้อความสำคัญของจารึกปราสาทพระขรรค์คือ ข้อความที่กล่าวถึงการสร้างพระชยพุทธมหานาถแล้วพระราชทานไปให้เมืองต่างๆ 23 แห่ง และในจำนวนนี้มีนามของเมืองซึ่งศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ สันนิษฐานว่าน่าจะอยู่ในบริเวณภาคกลางของประเทศไทย คือ

                 (115) ศฺรีชยราชธานี ศรี- ชยนฺตนครี ตถา

                             ชยสึหวตี จ ศฺรี- ชยวีรวตี ปุนะ

                 (116) ลโวทยปุรํ สฺวรฺณ- ปุรํ ศมฺวูกปฏฺฏนมฺ

                             ชยราชปุรี จ ศฺรี- ชยสึหปุรี ตถา

                 (117) ศฺรีชยวชฺรปุรี ศฺรี- ชยสฺตมฺภปุรี ปุนะ

                             ศรีชยราชคิริศฺ ศฺรี- ชยวีรปุรี ตถา

                 (118) ศฺรีชยวชฺรวตี ศฺรี ชยกีรติปุรี ตถา

                             ศฺรีชยเกฺษมปุรี ศรี- วิชยาทิปุรี ปุนะ

                 (119) คฺรามศฺ ศฺรี ชยสึหาโทฺย มธฺยมคฺรามกสฺ ตถา

                             คฺรามศฺ จ สมเรนฺทฺราโทฺย ยา ศฺรีชยปุรี ตถา

                 (120) วิหาโรตฺตกศฺ จาปิ ปูรฺวฺวาวาสฺส ตไถว จ

                             ตฺรโยวึศติเทเวษฺวฺ เอษฺวฺ เอไกกสฺมินฺน อติษฺ ฐิปตฺ

                 (121) ชยวุทฺธมหานาถํ ศฺรีมนฺตํ โส วนีปติะ

                             ยโศธรตฏากสฺย ตีเร ยาคาะ ปุนฺร ทศ

คำแปล

         บทที่ 115 ศรีชยราชธานี ศรีชยันตนคร ชยสิงหวตี ศรีชยวีรวตี

         บทที่ 116 ลโวทยปุระ สุวรรณปุระ ศัมพูกปัฏฏนะ ชยราชปุระ และศรีชยสิงหปุระ

         บทที่ 117 ศรีชยวัชรปุระ ศรีชยสตัมภปุระ ศรีชยราชคิริ ศรีชยวีรปุระ

         บทที่ 118 ศรีชยวัชรวตี ศรีชยกีรติปุระ ศรีชยเกษมปุระ ศรีวิชยาทิปุระ

         บทที่ 119 ศรีชยสิงหคราม มัธยมครามกะ สมเรนทรคราม ศรีชยปุระ

         บทที่ 120 วิหารอุตตรกะ ปูราวาส ในวิหารแต่ละแห่งทั้ง 23 วิหารเหล่านี้

         บทที่ 121 พระราชาทรงสร้างพระชยพุทธมหานาถที่ทำให้เกิดมีความสุขขึ้น

จากข้อความในจารึกบทที่ 116 – 117 จะเห็นว่ามีชื่อเมืองที่ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ สันนิษฐานว่าอยู่ในภาคกลาง เมืองเหล่านี้ได้แก่ ลโวทยปุระ สุวรรณปุระ ศัมพูกปัฏฏนะ ชยราชปุระ ศรีชยสิงหปุระ ศรีชยวัชรปุระ นอกจากนี้ยังน่าสังเกตว่า เมืองเหล่านี้ขยายไปทางทิศตะวันตกของเมืองลโวทยปุระ (ลพบุรี) แม้ว่าในปัจจุบันจะมีนักวิชาการหลายท่านทั้งไทยและเทศที่มีความเห็นแตกต่างออกไป อย่างไรก็ตามหากพิจารณาจากข้อความในจารึก จะเห็นได้ว่า เจ้าชายวีรกุมารพระโอรสของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ผู้แต่งจารึกหลักนี้ ได้กล่าวถึงตำแหน่งที่ตั้งของเมืองเหล่านี้ ไว้อย่างเป็นระบบ กล่าวคือ หากเริ่มที่ลโวทยปุระ หรือลพบุรี มาทางทิศตะวันตกจะมาถึงบริเวณที่มีโบราณสถานเนินทางพระในอำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งพบร่องรอยหลักฐานที่ร่วมสมัยศิลปะบายน 

จากเนินทางพระลงมาทางใต้จะผ่านสุพรรณบุรี (เมืองสมัยอยุธยา) ลงมาที่โบราณสถานจอมปราสาทและสระโกสินารายณ์ ในอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี จะพบสระนํ้าโบราณขนาดใหญ่ (บาราย?) รวมทั้งโบราณสถานจอมปราสาทซึ่งพบศิลปะแบบบายน

จากโบราณสถานจอมปราสาทและสระโกสินารายณ์มุ่งไปทางตะวันตก จะสามารถไปตามลำนํ้าแควจนถึงโบราณสถานปราสาทเมืองสิงห์ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งมีร่องรอยเมืองโบราณ ในวัฒนธรรมเขมรโบราณศิลปะแบบบายนขนาดใหญ่

จากโบราณสถานจอมปราสาทและสระโกสินารายณ์ หากลงไปทางใต้จะไปถึงเมืองราชบุรี ซึ่งพบโบราณสถานร่วมสมัยศิลปะแบบบายนที่วัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดราชบุรี และเมื่อลงไปทางใต้จะไปถึงโบราณสถานวัดกำแพงแลง จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งพบหลักฐานเกี่ยวกับศิลปะแบบบายน 

นอกจากนี้หลักฐานสำ คัญสิ่งหนึ่งที่พบร่วมกันในปัจจุบัน คือ ประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ซึ่งพบที่ โบราณสถานเนินทางพระ (จังหวัดสุพรรณบุรี) โบราณสถานจอมปราสาท (จังหวัดราชบุรี) โบราณสถานปราสาทเมืองสิงห์ (จังหวัดกาญจนบุรี) และโบราณสถานวัดกำแพงแลง (จังหวัดเพชรบุรี) ซึ่งต่างสะท้อนให้เห็นถึงความร่วมสมัยกันระหว่างโบราณสถานเหล่านี้อีกด้วย 

ดังนั้นหากพิจารณาจากตำ แหน่งที่ตั้งของโบราณสถานแต่ละแห่งที่พบ ประกอบกับหลักฐานในศิลาจารึกปราสาทพระขรรค์ จึงอาจสันนิษฐานได้ว่า

📌 ลโวทยปุระ สันนิษฐานว่าน่าจะหมายถึง ลพบุรี สอดคล้องกับหลักฐานทางโบราณคดีที่พบว่ามีการสร้างพระปรางค์สามยอดในเมืองลพบุรี ซึ่งเป็นศิลปะเขมรแบบบายน สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

📌 สุวรรณปุระ สันนิษฐานว่าน่าจะหมายถึง สุพรรณบุรี ดังปรากฏร่องรอยหลักฐานโบราณสถานและโบราณวัตถุศิลปะแบบบายนที่โบราณสถานเนินทางพระ อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี

📌 ศัมพูกปัฏฏนะ เดิมศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ สันนิษฐานว่า ปรากฏชื่อ ศามพูกะ ในจารึกที่พระพุทธรูปสมัยทวารวดีซึ่งพบที่เมืองลพบุรี เมืองนี้จึงน่าจะอยู่ในบริเวณลุ่มแม่นํ้าเจ้าพระยา แต่จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบในปัจจุบัน สันนิษฐานว่าน่าจะหมายถึงโบราณสถานจอมปราสาทและโบราณสถานสระโกสินารายณ์ จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีการพบพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรศิลปะแบบบายน

📌 ชยราชปุระ สันนิษฐานว่าน่าจะหมายถึง ราชบุรี ดังปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีคือ วัดมหาธาตุวรวิหาร ที่พระปรางค์ในปัจจุบันน่าจะสร้างครอบพระปรางค์องค์เดิมนอกจากนี้แนวกำแพงของวัดมหาธาตุวรวิหารมีรูปแบบศิลปะเขมรแบบบายนสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ด้วยเช่นเดียวกัน (นอกจากนี้ยังพบว่า พระศรีชยพุทธมหานาถ แห่งศรีชยราชปุรีมีองค์จำลองที่ปราสาทบายน)

📌 ศรีชยสิงหปุระ สันนิษฐานว่าน่าจะหมายถึง ปราสาทเมืองสิงห์ ในจังหวัดกาญจนบุรี ปราสาทเมืองสิงห์ เป็นปราสาทที่สร้างขึ้นในศิลปะเขมรแบบบายน สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ รวมทั้งประติมากรรมหินแกะสลักรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่พบในบริเวณปราสาทดังกล่าวก็เป็นรูปแบบศิลปะแบบบายนสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

📌 ศรีชยวัชรปุระ สันนิษฐานว่าน่าจะหมายถึง เมืองเพชรบุรี ดังปรากฏหลักฐานว่า มีปราสาทกำแพงแลง ในวัดกำแพงแลง จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นศิลปะเขมรแบบบายน สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ด้วยเช่นเดียวกัน (นอกจากนี้ยังพบว่า พระศรีชยพุทธมหานาถ แห่งศรีชยวัชรปุรีมีองค์จำลองที่ปราสาทบายน)

ส่วนเมืองอื่นๆ ที่ปรากฏในจารึกหลักนี้ มีตำแหน่งที่ตั้งซึ่งระบุไว้ในบรรทัดอื่นของปราสาทพระขรรค์ เช่น เมืองศรีชยันตนคร เมืองสิงหวตี เมืองศรีชยวีรวตี รวมทั้งศรีชยราชคิริ ศรีชยวีรปุระ อยู่ในเส้นทางที่มีวหนิคฤหะ (ธรรมศาลา) 17 แห่ง เช่นเดียวกับเส้นทางไปพิมาย ส่วนเมืองศรีวิชยาทิ (ตย)ปุระ อยู่ในเส้นทางที่มีวหนิคฤหะ (ธรรมศาลา) 14 แห่ง เมืองเหล่านี้จึงน่าจะอยู่บริเวณอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกลุ่มเมืองในภาคกลางของไทย

อย่างไรก็ตาม การที่ปรากฏรายชื่อเมืองในภาคกลางของไทยในจารึกปราสาทพระขรรค์ก็มิได้หมายความว่า อาณาจักรเขมรสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จะเข้ามามีอำนาจครอบครองหรือควบคุมเมือง

เหล่านี้อย่างเด็ดขาด หากแต่น่าจะเป็นเพียงการควบคุมในลักษณะการยอมรับอำนาจทางการเมืองเท่านั้น กล่าวคือเมืองเหล่านั้นยังสามารถปกครองตัวเอง เพียงแต่ยอมรับอำนาจกษัตริย์ของอาณาจักรเขมรสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เท่านั้น 

ยกเว้นเมืองโลฺวทยปุระ หรือ เมืองละโว้ ซึ่งปรากฏหลักฐานว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โปรดให้พระโอรสพระนามว่า “นฤปตีนทรวรมัน” หรือที่ปรากฏชื่อในจารึกพิมานอากาศมีสร้อยพระนามว่า “ลโวทเยศ”มาปกครอง แต่หลังจากการสวรรคตของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เมืองต่างๆ ในบริเวณลุ่มแม่นํ้าเจ้าพระยาได้แยกตัวจากอำนาจการปกครองที่เมืองพระนคร ดังปรากฏหลักฐานว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.1832 ละโว้ได้ส่งเครื่องบรรณาการไปยังราชสำนักราชวงศ์หยวนโดยตรง ตามมาด้วยการสถาปนากรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ.1893 

อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี