Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

ไปด้วยกันที่..สุพรรณบุรี ชม..อาคารประติมากรรมขุนหลวงพะงั่วและประวัติศาสตร์เมืองสุพรรณ

ภายในอาคารแสดงภาพประติมากรรมสำริด ที่มีความยาวมากที่สุดในประเทศไทย

“ขุนหลวงพะงั่ว” หรือพระนามเป็นทางการ “สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1” ทรงเป็นกษัตริย์รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงศรีอยุธยา และนับเป็นกษัตริย์พระองค์แรกแห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ เสด็จพระราชสมภพ พ.ศ. 1853 เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 สวรรคตใน พ.ศ. 1912 สมเด็จพระราเมศวรซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์โตเสด็จขึ้นครองราชย์ หากแต่ปีรุ่งขึ้น สมเด็จพระบรมราชาธิราชเสด็จยกทัพมาจากเมืองสุพรรณบุรี สมเด็จพระราเมศวรจึงมอบราชสมบัติให้แล้วเสด็จไปประทับที่เมืองลพบุรี ขณะที่ขุนหลวงพะงั่วหรือสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ขึ้นครองราชย์นั้น มีพระชนมายุได้ 60 พรรษา

ตามที่ปรากฏในคัมภีร์จุลยุทธการวงศ์ ซึ่งเป็นพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับภาษาบาลี และพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 เสวยราชย์เมื่อปีจอ จุลศักราช 732 (พ.ศ. 1913) สวรรคตเมื่อจุลศักราช 744 (พ.ศ. 1925) แต่ในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ว่าสวรรคตปีมะโรง จุลศักราช 750 (พ.ศ. 1931) รวมเวลาที่ทรงครองราชย์ 18 ปี

จากพระราชพงศาวดาร “ขุนหลวงพะงั่ว” ทรงเป็นกษัตริย์ที่พระปรีชาสามารถ เคร่งครัดในศาสนา และอุทิศตนให้ชาติ ทรงเกิดมาเป็นนักปกครองที่มีเลือดนักสู้ แม้เกิดสงครามกลางเมือง แต่ทรงสามารถปราบปรามให้อยู่ภายใต้ราชอำนาจของพระองค์แต่ผู้เดียวโดยเลือดไม่นองแผ่นดิน  ระหว่างที่ครองราชย์บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข เจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด ไม่มีความอดอยากขาดแคลน

ด้วยความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของขุนหลวงพะงั่ว กรมศิลปากรและจังหวัดสุพรรณบุรี จึงจัดสร้าง “อาคารประติมากรรมขุนหลวงพะงั่วและประวัติศาสตร์สุพรรณบุรี” เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของจังหวัด ตั้งอยู่ที่ตำบลสนามชัย อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

ภายในแสดงประติมากรรมสำริดที่มีความยาวมากที่สุดในประเทศไทย เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 หรือขุนหลวงพะงั่ว ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ และประวัติศาสตร์เมืองสุพรรณบุรี  โดยกำหนดเปิดให้ประชาชนเข้าชมเป็นวันแรกในวันที่ 19 สิงหาคม 2564

อาคารประติมากรรมขุนหลวงพะงั่วและประวัติศาสตร์สุพรรณบุรี บอกเล่าและบันทึกประวัติศาสตร์เมืองสุพรรณ ตั้งแต่ยุคแรกจนถึงยุคปัจจุบัน ผ่านภาพประติมากรรมสำริดที่มีความยาวกว่า 88 เมตร ถือว่ายาวที่สุดในประเทศไทย  พร้อมเทคโนโลยีแสง เสียง ประกอบการจัดแสดงอย่างงดงามตระการตา  จัดสร้างขึ้นเมื่อปี 2553 ตามดำริของนายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากภาพสลักหินเล่าเรื่องประวัติศาสตร์จีน ณ China Millennium Monument เมืองปักกิ่ง

ภาพประติมากรรมสำริดนูนสูงและนูนต่ำ จัดแสดงเป็นรูปวงรี แบ่งเป็น 9 ตอน
อาคารประติมากรรมขุนหลวงพะงั่วและประวัติศาสตร์สุพรรณบุรี
1 ใน 9 ตอนภาพประติมากรรมสำริดนูนสูงและนูนต่ำ ภายในอาคารประติมากรรมขุนหลวงพะงั่ว

ภายในอาคารมีภาพประติมากรรมสำริดนูนสูงและนูนต่ำ จัดแสดงเป็นรูปวงรี แบ่งเป็น  9  ตอน ได้แก่…

ตอนที่ 1 สุพรรณบุรี : ชุมชนแรกเริ่ม แสดงถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ พิธีกรรม ความเชื่อ การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ สังคมเกษตรกรรมในจังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อราว 4,000 ปีมาแล้ว และภาพโบราณวัตถุสำคัญจากแหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี เช่น ภาชนะมีนม ภาชนะมีเขา ภาชนะสามขา

ตอนที่ 2 สุพรรณบุรี : อู่ทอง…เครือข่ายการค้าข้ามภูมิภาค แสดงถึงการติดต่อค้าขายระหว่างผู้คนในเมืองโบราณอู่ทองกับพ่อค้าจากชุมชนใกล้เคียง และพ่อค้าชาวต่างชาติ  ได้แก่ ชาวอินเดีย ชาวอาหรับ และชาวจีน เมืองโบราณอู่ทองเป็นหนึ่งในชุมทางการค้าสำคัญของลุ่มแม่น้ำแม่กลองและลุ่มแม่น้ำท่าจีน และเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการค้าทางน้ำที่สำคัญในดินแดนสุวรรณภูมิ

ตอนที่ 3 สุพรรณบุรีในวัฒนธรรมศาสนา : อู่ทองเมืองศูนย์กลางศาสนารุ่นแรก แสดงถึงการรับวัฒนธรรมศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์-ฮินดู จากประเทศอินเดีย ก่อให้เกิดรูปแบบวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น เรียกว่า “วัฒนธรรมทวารวดี”  ด้วยความเคารพและศรัทธาในศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ของผู้คนในเมืองโบราณอู่ทอง จึงได้มีการสร้างศาสนสถานและรูปเคารพทางศาสนา คือ ธรรมจักรและศิวลึงค์

ขุนหลวงพะงั่ว หรือ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 กษัตริย์รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงศรีอยุธยา

ตอนที่ 4 สุพรรณบุรี : เนินทางพระ…ร่องรอยพุทธศาสนามหายาน แสดงให้เห็นถึงการเดินทางมายังปราสาทเนินทางพระ ซึ่งเป็นศาสนสถานในศาสนาพุทธแบบมหายาน มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมขอมสมัยบายน เพื่อทำการสักการบูชาพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์องค์สำคัญในศาสนาพุทธแบบมหายาน

ตอนที่ 5 สุพรรณบุรี : ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา แสดงเรื่องราวของขุนหลวงพะงั่วเจ้าเมืองสุพรรณภูมิ ทรงนำกองทัพออกสู้ศึกกับอาณาจักรขอมจนได้รับชัยชนะ และแสดงภาพเจดีย์วัดไก่เตี้ย ซึ่งเป็นเจดีย์ก่ออิฐทรงแปดเหลี่ยม อันเป็นรูปแบบเอกลักษณ์ของเจดีย์สมัยก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา และภาพแหล่งเตาบ้านบางปูน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาริมฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรี

ตอนที่ 6 สุพรรณบุรี : เมืองลูกหลวงของราชธานีศรีอยุธยา แสดงเหตุการณ์การเสด็จขึ้นครองราชย์ที่กรุงศรีอยุธยาของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ และการติดต่อค้าขายกับเมืองจีนที่รุ่งเรืองเป็นอย่างยิ่ง ในสมัยของสมเด็จพระนครินทราธิราช (เจ้านครอินทร์)

ตอนที่ 7 สุพรรณบุรี : สมรภูมิยุทธหัตถี แสดงเหตุการณ์การกระทำยุทธหัตถี ระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชา แห่งกรุงหงสาวดี ณ ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี

ตอนที่ 8 สุพรรณบุรี : หัวเมืองแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จัดแสดงพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเหตุการณ์เมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองสุพรรณบุรี และพระบรมรูปสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และเหตุการณ์เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินสักการะบวงสรวงเจดีย์ยุทธหัตถี พร้อมด้วยคณะเสือป่ารักษาพระองค์
ตอนที่ 9 ปัจจุบัน…สุพรรณบุรี แสดงเหตุการณ์การเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงวางพวงมาลาในรัฐพิธีถวายราชสักการะสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงนำพสกนิกรเกี่ยวข้าวที่แปลงนาสาธิต สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธียกพุ่มข้าวบิณฑ์ยอดพระมณฑปและสมโภชรอยพระพุทธบาท ณ วัดเขาดีสลัก อำเภออู่ทอง

ด้านหน้าทางเข้าอาคารประคิมากรรมขุนหลวงพะงั่ว จ.สุพรรณบุรี
ศิลปินแสดงการแกะสลักภาพ
ศิลปินแสดงการแกะสลักภาพ

นับเป็นศูนย์เรียนรู้แห่งใหม่ มีระบบการนำชมที่ทันสมัยทั้งในรูปแบบออนไลน์ ออฟไลน์ และอุปกรณ์ Audio guide ให้เลือก 3 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน ก่อนจะเดินทางไปลองสอบถามรายละเอียดที่ โทร 035-535330 ในวันและเวลาราชการ

อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี