ในบรรดาโรคภัยไข้เจ็บที่รายล้อมอยู่รอบตัว นอกจากโควิด-19 ที่คนไทยและทั่วโลกกำลังเฝ้าระวังอย่างหนัก ปัจจุบันกล่าวได้ว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกแล้ว
ตัวเลขจากองค์การอนามัยโลกเมื่อปี 2561 ระบุว่า มีคนไทย 432,943 คน ป่วยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด และมีอัตราการเสียชีวิตมากถึง 20,855 คนต่อปี หรือชั่วโมงละ 2 คน โดยที่ตัวเลขนี้มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย รวมทั้งการสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศไม่น้อยตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ขณะที่การรักษา การผ่าตัดก็มีความซับซ้อนและเสี่ยงสูงมาก
เพื่อช่วยให้การทำงานของแพทย์เป็นไปอย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เครื่องจักรกลและอุปกรณ์ที่ทันสมัย จึงถูกนำเข้ามาเป็นผู้ช่วยสำคัญในการผ่าตัดที่มีความซับซ้อน โดยเฉพาะการผ่าตัดเกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือด
รายการ Rama Variety ของ RAMA CHANNEL ขับเคลื่อนสังคมไทยให้สุขภาพดี พาไปรู้จักกับห้องผ่าตัดที่ทันสมัยที่สุดในขณะนี้ ห้องผ่าตัดไฮบริด (Hybrid OR) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
แล้วไฮบริดอย่างไร?
โดยทั่วไปห้องผ่าตัดจะไม่มีการติดตั้งเครื่องฉายรังสี ดังนั้น ก่อนผ่าตัดเพื่อให้แน่ใจในตำแหน่งของโรค ผู้ป่วยจะถูกนำตัวไปฉีดสีและทำเอกซเรย์ ก่อนจะกลับมารอรับการผ่าตัดที่ห้อง OR หรือห้องผ่าตัด
อย่างไรก็ตาม คำว่า “Hybrid OR” นั้น ไม่ได้หมายเพียงว่าเป็นการรวมกันของห้องผ่าตัดและห้องฉายรังสีเท่านั้น ด้วยเทคโนโลยีที่ไปไกลมาก ทำให้เครื่องฉายรังสีมีการพัฒนาที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น มีประสิทธิภาพและมีความแม่นยำสูง สามารถฉายภาพให้เห็นหลอดเลือดอย่างชัดเจน เหมาะแก่การทำหัตถการที่ต้องการความละเอียดสูงในยุคที่ภาวะการป่วยไข้ของโรคมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
“ห้องผ่าตัดไฮบริดสามารถทำการผ่าตัดไม่เพียงแค่กับหัวใจและหลอดเลือด แต่กับหลอดเลือดตามแขนขาก็สามารถทำได้หมด”
ผศ. นพ.ภาวิทย์ เพียรวิจิตร สาขาวิชาโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายขณะพานำชมห้องผ่าตัดที่ทันสมัยที่สุดในคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
นอกจากทุกคนจะต้องสวมเสื้อคลุม หมวกและรองเท้าที่ผ่านการฆ่าเชื้อก่อนเข้าไปในห้องผ่าตัดแล้ว สำหรับแพทย์ที่เกี่ยวข้องจะต้องสวมชุดป้องกันรังสีตลอดเวลาที่ปฏิบัติการ ซึ่งมีตั้งแต่หมอผ่าตัดมือหนึ่ง มือสอง หมอผู้ช่วย หมอดมยาหรือวิสัญญีแพทย์ รวมทั้งพยาบาลอีกนับสิบคน เนื่องจากเป็นการทำงานทีมใหญ่ โดยมีห้องควบคุมอยู่ข้าง ๆ กั้นกลางด้วยกระจกหนากันรังสี
ภายในห้องติดตั้งทั้งระบบควบคุมอุณหภูมิ ควบคุมความชื้น และควบคุมความดันเพื่อให้เป็นพื้นที่ปลอดเชื้ออย่างแท้จริง กลางห้องเป็นเตียงผู้ป่วย มีจอแสดงภาพขนาดใหญ่ที่จะเชื่อมต่อสัญญาณภาพที่ส่งมาจากเครื่องเอกซเรย์ ซึ่งมีลักษณะเป็นแขนกลขนาดใหญ่ และฉายให้เห็นภาพของหลอดเลือดขณะแพทย์ทำหัตถการ
“จอที่เห็นแสดงภาพเอกซเรย์เวลาที่คุณหมอฉีดรังสี โดยที่เครื่องเอกซเรย์สามารถผ่านตัวคนไข้ได้ เนื่องจากสามารถขยับเคลื่อนได้ 360 องศา เพื่อถ่ายภาพแบบเรียลไทม์ทำเป็น Reference ของตำแหน่งที่เราต้องการเอกซเรย์ ในลักษณะของภาพนิ่งเพื่อให้สามารถย้อนกลับมาดูในส่วนของรายละเอียดที่ต้องการได้” ผศ. นพ.ภาวิทย์ อธิบายเพิ่มเติม
ทั้งนี้ หลักการทำงานของเครื่องเอกซเรย์ที่เห็นเป็นแขนกลลักษณะเหมือนปากคีบขนาดใหญ่ สามารถเคลื่อนได้ 360 องศารอบเตียงผู้ป่วย โดยที่ปลายด้านหนึ่งติดตั้งจอรับภาพและตัวฉายรังสี ทำให้สะดวกต่อการเอกซเรย์และเก็บภาพแบบเรียลไทม์ในทุกตำแหน่งของร่างกายผู้ป่วย โดยให้ภาพที่คมชัด และสามารถเรียงต่อกันสร้างเป็นภาพที่มีคุณภาพใกล้เคียงกับการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
ที่สำคัญคือตัวเครื่องสามารถจดจำตำแหน่งของการยิงรังสีได้แม่นยำ นั่นหมายความว่า หลังการผ่าตัด นอกจากแผลเล็ก ลดการเจ็บปวดของผู้ป่วย ช่วยให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้นแล้ว เมื่อต้องการรีเช็กความสมบูรณ์ของการผ่าตัด สามารถทำได้ในทันที เนื่องจากตัวเครื่องสามารถจดจำตำแหน่งของเส้นเลือดนั้นได้ แม้ว่าจะมีการขยับหัวเครื่องไปอยู่ในตำแหน่งอื่นแล้วก็ตาม ทำให้การทำงานของแพทย์สะดวก รวดเร็ว เพราะไม่จำเป็นต้องปรับตำแหน่งผู้ป่วยอีกครั้ง
ขณะเดียวกัน ด้วยประสิทธิภาพของเครื่องที่มีการทำงานที่ละเอียด ทำให้การยิงรังสีแต่ละครั้งมีความแม่นยำ จึงประหยัดรังสี ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้ป่วย
ในแง่ของประสิทธิผลของการดูแลผู้ป่วย ปัจจุบันอัตราการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ผศ. นพ.ภาวิทย์ แจ้งว่า ดีขึ้นเรื่อย ๆ
“เพราะมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทันสมัย รวมทั้งมีแพทย์ฝีมือดีที่เก่งขึ้นเรื่อย ๆ”
สำหรับ ห้องผ่าตัดไฮบริดนี้ ผศ. นพ.ภาวิทย์ ให้ข้อมูลว่า ที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มีเพียงห้องเดียว เพราะกว่าจะได้มา 1 ห้องต้องลงทุนสูงถึงกว่า 60 ล้านบาท เพื่อให้ผู้ป่วยทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูง ลดความเสี่ยงในการผ่าตัด และสามารถกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้ง
#ห้องไฮบริด #HYBRIDOR #รามาธิบดี
Rama Variety – EP.15 ห้องผ่าตัดไฮบริดโรงพยาบาลรามาธิบดี 30/03/64 | RAMA Channel – YouTube