นอกจากชายอดนิยมอย่างชาเขียวแล้ว ยังมีชาที่น่าสนใจอีกหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น ชาดำ ชาขาว ชาแดง ชาอู่หลง ฯลฯ แต่ในวันนี้เราจะพาไปรู้จักกับ ‘ชาขาว’ และสรรพคุณเด่นๆ ให้มากขึ้นกันค่ะ
ชาขาว เป็นชาชนิดหนึ่ง ผลิตจากตูมและยอดอ่อนของต้นชา แหล่งเพาะปลูกชาขาวที่มีชื่อเสียงอยู่ที่มณฑลฝูเจี้ยน ทางตอนใต้ของประเทศจีน กรรมวิธีผลิตชาขาวเริ่มจากการเลือกเก็บยอดอ่อนชาในช่วงฤดูใบไม้ผลิ จากนั้นนำยอดชาที่เก็บได้มาผ่านกระบวนการทำแห้งในระยะเวลาที่รวดเร็ว ด้วยวิธีธรรมชาติโดยอาศัย ลม แสงแดด หรือความร้อนซึ่งจะแตกต่างจากกรรมวิธีผลิตชาประเภทอื่นๆ (ชาเขียว ชาดำ ชาแดง ชาอู่หลง) ที่ผ่านกระบวนการทำแห้งด้วยความร้อนหรือไอน้ำและผ่านกระบวนการหมักสำหรับชาบางประเภท ทำให้ปริมาณสารต่อต้านอนุมูลอิสระและคุณค่าทางโภชนาการของชาขาวยังคงไว้ได้มาก รวมทั้งกลิ่นและรสชาติของชาขาวที่ยังคงความสดชื่นและนุ่มนวล ชาขาวจึงเป็นเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพสูง
ชาขาวมีสารสำคัญอะไรบ้าง?
สารต้านอนุมูลอิสระ
สารต้านอนุมูลอิสระที่พบในชาขาวส่วนใหญ่เป็นสารโพลีฟีนอล (polyphenol) จำพวกสารคาเทชิน (catechin) ซึ่งพบ
มากถึง 70% ของปริมาณสารโพลีฟีนอลทั้งหมดที่มีในชาขาว มีคุณสมบัติที่ดีต่อสุขภาพ คือ ต้านอนุมูลอิสระ ต้านมะเร็ง ลดระดับของคอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ในเลือด กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ต้านแบคทีเรีย ไวรัส และป้องกันฟันผุ เมื่อเปรียบเทียบปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระจากการบริโภคชาขาวหนึ่งแก้ว พบว่าการบริโภคชาขาวได้รับปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าการบริโภคผักและผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง เช่น ผักโขม บร็อคโคลี่ สตรอว์เบอร์รี่ ในสัดส่วนการบริโภคที่เท่ากัน จากผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยคิงสตัน (Kingston University) ประเทศอังกฤษซึ่งได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับคุณสมบัติและสารอาหารจากพืชผักชนิดต่างๆ กว่า 21 ชนิดและสารสกัดจากสมุนไพรประเภทต่างๆ ว่ามีประโยชน์อย่างไรต่อร่างกายมนุษย์ พบว่า สารอาหารที่มีประโยชน์ในชาขาวมีปริมาณมากกว่าพืชและสารสกัดจากสมุนไพรชนิดอื่นๆ การดื่มชาขาวจึงมีผลดีต่อสุขภาพมาก
สารคาเทชิน
สารคาเทชินประกอบไปด้วย Epigallocatechin (EGC), Epicatechin (EC), Catechin (C), Epigallocatechin -3-gallate (EGCG), Epicatechin-3-gallate (ECG) และ Gallocatechin (GC) สารโพลีฟีนอลเหล่านี้ สารที่พบมากที่สุด คือ EGCG พบประมาณ 50% ของประมาณสารต้านอนุมูลอิสระในชาขาว สาร EGCG เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูงมากกว่าวิตามินเอและวิตามินซีถึง 100 เท่า ทำให้มีคุณสมบัติในการช่วยยับยั้งการสร้างไนโตรซามีน (nitrosamine) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง รุนแรงได้ดีกว่าวิตามินซีมาก เพราะทำปฏิกิริยาได้เร็วและแรงกว่า นอกจากนั้น EGCG ยังสามารถยับยั้งการเปลี่ยนแปลงของเบสในดีเอ็นเอของเซลล์มะเร็ง (Hela cell) ยับยั้งการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นของไขมันเลว (low-density lipoprotein /LDL) ซึ่งทำความเสียหายให้เซลล์ที่ผนังเส้นเลือดมากมาย และเป็นสาเหตุนำไปสู่โรคท่อเลือดแดงและหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis)
ฟลาโวนอยด์
ชาขาวมีปริมาณของฟลาโวนอยด์ที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับชาชนิดอื่น โดยชาขาวมีปริมาณฟลาโวนอยด์ซึ่งเป็นสารประกอบ ของฟลาโวนอยด์มากกว่าชาชนิดอื่นถึง 14.2-21.4 เท่า ซึ่งฟลาโวนอยด์มีประสิทธิภาพสูงสุดในการต้านสารอนุมูลอิสระ สามารถช่วยป้องกันการถูกทำลายของเซลล์และเนื้อเยื่อของร่างกายจากอนุมูลอิสระและออกซิเจน
สารคาเฟอีน
ประโยชน์อื่นๆ ของการดื่มชาขาวคือ มีปริมาณคาเฟอีนที่ต่ำกว่าชาชนิดอื่นโดยมีประมาณ 15 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคของชา ซึ่งน้อยกว่าชาเขียวและชาดำที่มีปริมาณคาเฟอีน 20 มิลลิกรัม และ 40 มิลลิกรัม ตามลำดับ ทั้งนี้ สารตัวนี้เป็นที่ถกเถียงกันในวงการแพทย์ว่ามีประโยชน์ หรือ โทษกันแน่ แต่โดยทั่วไปยอมรับกันว่าถ้าดื่มไม่เกินวันละ 200 มิลลิกรัม ก็ไม่มีผลเสียต่อร่างกาย
กรดอะมิโน
ชาขาวมีคุณสมบัติช่วยผ่อนคลายได้เนื่องจากมีกรดอะมิโนไทอามีน ซึ่งเป็นกรดอะมิโนที่พบได้ตามธรรมชาติ ที่ช่วยให้รู้สึกสงบผ่อนคลายโดยที่ไม่ทำให้ง่วง
ประโยชน์ทางด้านสุขภาพของชาขาว
ต้านมะเร็ง
เป็นที่ทราบกันว่า ชาเขียวมีคุณสมบัติในการต้านสารก่อมะเร็ง เพราะชาเขียวมีปริมาณสารคาเทชินและสารโพลีฟีนอลอื่นๆ มาก ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ อย่างไรก็ดี จากการศึกษาปริมาณและคุณสมบัติของสารต้านอนุมูลอิสระเปรียบเทียบระหว่างชาขาวและชาเขียวของ มหาวิทยาลัยโอไฮโอเซาเทิร์น (Ohio University Southern) ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ชาขาวมีปริมาณสารโพลีฟีนอลสูงกว่าชาเขียว การดื่มชาขาวจึงน่าจะมีประโยชน์และมีประสิทธิภาพในการต้านโรคมะเร็งที่ดีกว่าชาเขียวหรือชาชนิดอื่น โดยหากอ้างอิงจากคุณสมบัติของชาเขียวที่ช่วยป้องกันมะเร็งหลายชนิด ทั้งมะเร็งปอด ต่อมลูกหมาก เต้านม ลำไส้ใหญ่ ตับ ผิวหนัง และกระเพาะอาหาร ชาขาวก็ย่อมมีประสิทธิภาพในการยับยั้งมะเร็งชนิดต่างๆ ได้ดีกว่า เพราะประกอบไปด้วย EGCG ที่มากกว่า ทั้งนี้ข้อมูลวิจัยของมหาวิทยาลัยคิงสตัน ประเทศอังกฤษ เปิดเผยว่า ในชาขาวจะมีสารต้านอนุมูลอิสระ และตัวต้านการเกิดปฏิกิริยาของสารอื่นๆ กับออกซิเจนทำให้สามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งและโรคเกี่ยวกับหัวใจ
ป้องกันโรคหัวใจ
ข้อมูลการศึกษาจาก Internal Medicine and Public Health ประเทศอิตาลี พบว่า การทดลองให้สัตว์ทดลองบริโภคสารฟลาโวนอยด์เป็นประจำสามารถชะลอการเกิดการสะสมไขมันที่หลอดเลือดแดงได้ ซึ่งสัมพันธ์กับข้อมูลการบริโภคชากับการป้องกันการเกิดโรคหัวใจ สารฟลาโวนอยด์ในชาสามารถลดการเสื่อมสภาพของกล้ามเนื้อหัวใจซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญในการเกิดโรคท่อเลือดแดงและหลอดเลือดแดงแข็งได้ โดยเฉพาะสาร EGCG ในชา สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยฟื้นฟูการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ การเพิ่มของไนตริกออกไซด์ในปฏิกิริยา superoxide production (ROS) และช่วยควบคุมความดันโลหิตสูง โดยไปยับยั้ง angiotensis-I converting enzyme (ACE) นอกจากนี้ยังพบว่าสารโพลีฟีนอลในชา สามารถช่วยลดการเกิดออกซิเดชั่นของ LDL และช่วยลดการดูดซึมคลอเลสเตอรอลเข้าสู่ระบบน้ำเหลือง ทำให้ปริมาณ LDL, very low-density lipoprotein (VLDL) และไตรกลีเซอไรด์ลดลง รวมทั้งสามรถเพิ่มปริมาณ HDL ในกระแสเลือด ซึ่งการมีปริมาณที่ไตรกลีเซอไรด์ต่ำและ HDL สูงนี้สะท้อนถึงสุขภาพของระบบหัวใจที่ดี
ต้านโรคเบาหวาน
การศึกษาในหนูทดลองพบว่า สารโพลีฟีนอลสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูที่เป็นเบาหวาน โดยยับยั้งการทำงานของอะไมเลสซึ่งเป็นเอนไซม์ย่อยแป้งให้เปลี่ยนเป็นน้ำตาล โดยยับยั้งการทำงานของอะไมเลสทั้งในน้ำลายและลำไส้ ซึ่งผลที่เกิดขึ้น คือ แป้งจะถูกย่อยช้าลง ทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของน้ำตาลในเลือดเป็นไปอย่างช้าๆ ซึ่งสัมพันธ์กับอัตราการดูดซึมกลูโคส มีผลทำให้การทำงานของ glucose transporter ในลำไส้ลดลงและอัตราการดูดซึมกลูโคสเข้าสู่ร่างกาย ลดลงด้วยนอกจากนี้สารโพลีฟีนอล ประเภท EGCG ยังช่วยเพิ่มความไวต่อสิ่งกระตุ้นของอินซูลิน (insulin sensitivity) และ สารที่มีหน้าที่คล้ายอินซูลิน (insulin-like activity) รวมทั้งเพิ่มการป้องกันการทำงานของตับและตับอ่อนซึ่งเป็นอวัยวะที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคเบาหวาน
เพิ่มภูมิคุ้มกัน
ตูมชาขาวมีสารโพลีฟีนอลอยู่มากที่เป็นสิ่งทรงพลัง ช่วยพัฒนากระบวนการล้างสารพิษและสิ่งสกปรกออกจากร่างกาย จึงช่วยป้องกันเซลล์ของร่างกายจาก การเสื่อมสภาพและถูกทำลายก่อนวัยอันควร ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งในระบบภูมิคุ้มกันทางธรรมชาติและปรับสภาพอนุมูลอิสระให้เป็นกลาง จากข้อมูลในวารสารวิทยาภูมิคุ้มกันทางการแพทย์และโรคภูมิแพ้ ฉบับประจำเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2546 ระบุว่าสารคาเทชินในชาขาว โดยเฉพาะ EGCG มีสรรพคุณป้องการติดเชื้อเอชไอวีผลจากการทดลองแสดงให้เห็นว่า ชาขาวเข้มข้นช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสเอชไอทีจับตัวกับเซลล์เม็ดเลือดขาว ชนิดที่มีความสำคัญต่อภูมิคุ้มกันในร่างกายที่เรียกว่า “ทีเซลล์” (T Cells) ซึ่งเป็นด่านแรกที่ทำให้มีโอกาสติดเชื้อเอชไอวีได้
ชะลอความแก่
ชาขาวมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระสูงมากและยังสามารถช่วยชะลอความแก่ เซลล์ผิวหนังจะถูกทำลายโดยอนุมูลอิสระภายใต้ภาวะกดดันในการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น (Oxidative stress) ทำให้เกิดริ้วรอยและจุดด่างดำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้มลภาวะและแสงแดด จากการศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยคิงสตัน (Kingston University) ประเทศอังกฤษ ในการใช้สารสกัดจากชาขาวต่อการปกป้องโครงสร้างโปรตีนอีลาสตินและคอลลาเจนในชั้นผิวหนัง พบว่าสารที่สกัดจากชาขาวสามารถปกป้องการทำงานของเอนไซม์ที่ทำลายอีลาสตินและคอลลาเจน ซึ่งจะทำให้เกิดริ้วรอยและรอยเหี่ยวย่นทำให้เกิดผลดีต่อโครงสร้างของผิวหนัง คือ เสริมสร้างความแข็งแรงของเซลล์ผิวหนัง ช่วยในด้านความยืดหยุ่นของผิวหนังให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น รวมทั้งส่งผลต่อการทำงานของปอด เส้นเลือด เส้นเอ็นต่างๆ และผิวหนังทำงานได้ดีด้วย
ประโยชน์มากมายขนาดนี้ ควรหามาทานกันนะคะ เพื่อสุขภาพที่ดีของทุกคนค่ะ