Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

เมืองพิมายและเมืองโบราณในภาคกลางช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 และความสัมพันธ์กับนครธม

วรรณวิภา สุเนต์ตา

เมืองพิมาย : อิทธิพลทางศิลปกรรมและความสัมพันธ์กับศูนย์กลางอาณาจักร

“วิมายปุระ” ที่ปรากฏชื่อตรงกันในจารึกเขมรหลายหลัก คือชื่อของเมืองพิมายในจังหวัดนครราชสีมาในปัจจุบัน ซึ่งเดิมเป็นบริเวณที่มีการตั้งถิ่นฐานเป็นบ้านเมืองขนาดใหญ่มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ การสำรวจทางโบราณคดียังสนับสนุนแนวคิดของศรีศักร วัลลิโภดม ซึ่งพบวัฒนธรรมยุคเหล็กกระจายอยู่ทั่วไปในเขตจังหวัดนครราชสีมา และทำให้พื้นที่ลุ่มแม่นํ้ามูนตอนบนในเขตที่เรียกว่า “ทุ่งสัมฤทธิ์” เป็นแหล่งทรัพยากรเกลือและเหล็ก ควบคู่ไปกับความอุดมสมบูรณ์ทางการเกษตร และเป็นผลให้ดินแดนนี้มีความเจริญและมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง

การสำรวจทางโบราณคดีได้พบหลักฐานวัฒนธรรม “บ้านธารปราสาท” ซึ่งอยู่ในยุคสัมฤทธิ์ถึงยุคเหล็กในเขตอำเภอปราสาท และพบกระจายอยู่ทั่วไปในเขตอำเภอโนนสูง อำเภอสูงเนิน อำเภอเมืองและอำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา นอกจากนี้ยังได้พบกลุ่มเครื่องปั้นดินเผาที่ผลิตจากดินสีเข้ม ในชั้นวัฒนธรรม “พิมายดำ” สมัยยุคเหล็กตอนปลายต่อเนื่องมาจนถึงสมัยทวารวดี ศักยภาพของที่ตั้งชุมชนและการติดต่อกับบ้านเมืองในดินแดนภาคกลางยังเป็นสาเหตุสำคัญที่บ้านเมืองแถบนี้มีการขยายตัวและเจริญกว่าในเขตลุ่มแม่นํ้ามูน-ชีตอนล่าง ก่อนการปรับเปลี่ยนเข้าสู่ชุมชนในวัฒนธรรมเขมรในระยะต่อมา

ดินแดนลุ่มแม่นํ้ามูนตอนบนนี้ยังเป็นชุมชนโบราณที่รับวัฒนธรรมเขมรมาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 12-18 ได้พบหลักฐานศิลปกรรมอิทธิพลเขมรจำนวนมาก โดยเฉพาะที่บ้านฝ้าย อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ และที่บ้านโตนด อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็น บริเวณที่พบประติมากรรมสัมฤทธิ์ในศาสนาพุทธมหายานจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยการสร้างปราสาทหินพิมายช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา ได้พบความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรเขมรและดินแดนแถบนี้อย่างใกล้ชิด

ชุมชนนี้จึงปรากฏศูนย์กลางชัดเจนทั้งในด้านภูมิศาสตร์ที่ตั้งซึ่งเป็นที่รวมของลำนํ้าสายต่างๆ ที่ไหลไปบรรจบกัน และเป็นศูนย์กลางทางการปกครองและพุทธศาสนามหายานในดินแดนแถบนี้ ซึ่งอาจสอดคล้องกับจารึกโบราณที่เรียกดินแดนนี้ว่า “มูลเทศะ” โดยมีเมือง “ภีมปุระ” หรือต่อมาคือ “วิมายปุระ” เป็นเมืองสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งของดินแดน “พิมาย-พนมรุ้ง” อันเป็นศูนย์กลางการปกครองที่สำคัญของราชวงศ์มหิธรปุระ

ผังของเมืองพิมายอยู่ในระเบียบของเมืองแบบวัฒนธรรมเขมรอย่างเด่นชัด ประกอบด้วยกำแพงดินล้อมรอบและประตูเมืองทั้งสี่ทิศ ผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีคูนํ้าล้อมรอบและไหลไปบรรจบที่แม่นํ้ามูน ตัวเมืองและบารายหันไปทางทิศใต้รับกับแนวถนนโบราณจากเมืองพระนครจากประตูชัย นอกจากนี้ยังพบสระนํ้ารูปสี่เหลี่ยมภายในกำแพงเมือง และสระขนาดใหญ่นอกกำแพงเมืองทางทิศตะวันออก แนวถนนโบราณยังเชื่อมต่อกับท่านางสระผม หรือท่านํ้าบริเวณฝั่งแม่นํ้าเค็มทางทิศใต้ จากการขุดแต่งพบว่ามีลักษณะเป็นศาลาจัตุรมุขและมีถนนเชื่อมต่อไปยังประตูชัย สันนิษฐานว่าศาลานี้อาจเป็นศาลารับเสด็จฝั่งเมืองพิมาย

พัฒนาการของเมืองพิมายในสมัยการสร้างปราสาทหินพิมาย ถูกระบุในจารึกที่กรอบซุ้มประตูระเบียงคดในปี พ.ศ.1651 แสดงถึงความสำคัญในฐานะศูนย์กลางพุทธศาสนามหายาน มีการประดิษฐาน “พระสุคตวิมาย” ที่ปราสาทประธาน อันอาจหมายถึงพระพุทธรูปนาคปรกซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำคัญของเมือง จารึกในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 ยังได้กล่าวถึงการสร้างรูป “กมรเตงเสนาบดีไตรโลกยวิชัย” ขึ้นเพื่อถวายแด่พระพุทธเจ้าที่พิมายแห่งนี้ด้วย

223411209_4279303332130874_8017290467617516742_n
225316432_4279321748795699_8636578225358592027_n

ความสำคัญของพิมายยังคงมีมาอย่างต่อเนื่องจนถึงสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในจารึกพระขรรค์ ยังได้กล่าวถึงพระพุทธรูปแห่งเมืองพิมาย ซึ่งเป็นหนึ่งในจำนวนรูปเคารพที่ต้องมีการเฉลิมฉลองที่ปราสาทพระขรรค์ทุกปี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองพิมายยังมีเส้นทางติดต่อสู่เมืองพระนคร ซึ่งระบุว่ามีที่พักคนเดินทางหรือ “ธรรมศาลา” ตามเส้นทางถึง 17 แห่ง

การศึกษาด้านศิลปกรรมที่พิมาย พบรูปแบบที่มีลักษณะเฉพาะที่ต่างจากที่พบในเมืองพระนครในช่วงเวลาเดียวกัน ชอง บัวเซอร์ลิเย่ร์ (Boisselier J.) สันนิษฐานว่ารูปทรงส่วนยอดของปราสาทหินพิมาย ยังเป็นต้นแบบให้กับปราสาทนครวัด นอกจากนี้การศึกษาภาพสลักที่ปราสาทหินพิมายพบว่ามีแรงบันดาลใจจากพุทธศาสนามหายานนิกายวัชรยาน และมีการผสมผสานกับคติในศาสนาฮินดูและอาจให้อิทธิพลแก่พุทธศาสนามหายานที่เมืองพระนครไม่มากก็น้อย

ในพุทธศตวรรษต่อมาพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงสถาปนาพุทธศาสนามหายานในเมืองนครธม พร้อมกับการแผ่ขยายคติทางพุทธศาสนาไปยังดินแดนที่เดิมเคยเป็นศูนย์กลางทางศาสนาโดยรอบ เช่นที่วัดภูในประเทศลาวและที่พิมาย ซึ่งได้พบการสร้างปรางค์หินแดงและปรางค์พรหมทัตจากศิลาแลงขึ้นภายในบริเวณปราสาทหินพิมาย ภายในปรางค์พรหมทัตพบการประดิษฐานรูปเหมือนของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โดยทั้งปรางค์และประติมากรรมหันหน้าเข้าหาปราสาทประธาน ซึ่งอาจหมายถึงการถวายความเคารพบูชาต่อพระพุทธเจ้าที่พิมายของพระองค์

นอกจากนี้ยังได้พบหลักฐานศิลปกรรมสมัยบายนโดยทั่วไปแถบเมืองพิมาย ซึ่งมีรูปแบบที่สัมพันธ์กับที่พบในเมืองพระนครอย่างมาก ทั้งยังพบการสร้างอโรคยศาล กุฏิฤษี อโรคยศาลของเมืองพิมายซึ่งตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองออกไปทางทิศใต้ และได้พบจารึกอโรคยศาลในบริเวณชุมชนแห่งนี้ด้วย ดังนั้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 เมืองพิมายจึงมีการติดต่อสัมพันธ์กับเมืองพระนครอย่างใกล้ชิด และอาจย้อนกลับไปถึงพุทธศตวรรษที่ 17 ในช่วงของการก่อตั้งราชวงศ์ “มหิธรปุระ” ในดินแดนแถบนี้

ความสัมพันธ์ดังกล่าวยังชวนให้สันนิษฐานว่าเมืองพิมายอาจเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรเขมรในช่วงเวลาดังกล่าว โดยมีลักษณะเป็นเมืองชั้นรองจากเมืองพระนคร ทั้งด้วยขนาดและความหนาแน่นของชุมชนแห่งนี้ ในขณะเดียวกันอาจมีลักษณะของความสัมพันธ์ทางด้านเครือญาติอยู่ด้วย ซึ่งพบพระนามของกษัตริย์เขมรในราชวงศ์มหิธรปุระจากจารึกหลายหลักทั้งที่เมืองพิมายและพนมรุ้ง

และด้วยภูมิศาสตร์ที่ตั้งของเมืองซึ่งเป็นศูนย์กลางการติดต่อกับเมืองโบราณในภาคกลาง ก่อนที่จะเข้าสู่ดินแดนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและศูนย์กลางอาณาจักรเขมร ทำให้เมืองพิมายมีพัฒนาการที่ต่อเนื่องยาวนาน และอาจสัมพันธ์กับเส้นทางการค้าโบราณและการเข้ามาของวัฒนธรรมจากโพ้นทะเลโดยผ่านเมืองละโว้ในภาคกลาง จารึกปราสาทพนมวัน จังหวัดนครราชสีมา ยังได้กล่าวถึงสินค้าที่มาจากประเทศจีนและสินค้าที่สำคัญทางเศรษฐกิจอื่นๆ ซึ่งแสดงใหเ้ ห็นถึงความสำคัญของเส้นทางการค้าโบราณที่เป็นส่วนหนึ่งของการรับและแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมในภูมิภาคมาเป็นเวลายาวนาน

เมืองโบราณภาคกลาง : เส้นทางการค้าและวัฒนธรรม

“ลโวทยปุระ ศัมพูกปัฏฏนะ ชัยราชปุรี ศรีชยสิงหปุรี ศรีชัยวัชรปุรีและสุวรรณปุระ” คือชื่อเมืองในกลุ่ม 23 เมืองที่ระบุในจารึกปราสาทพระขรรค์ ซึ่งพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงส่งพระชัยพุทธมหานาถมาประดิษฐานและโปรดให้สร้างวิหารตามเมืองต่างๆ นักวิชาการสันนิษฐานว่าชื่อเมืองที่กล่าวข้างต้นสอดคล้องกับหลักฐานศิลปกรรมแลโบราณสถานสมัยบายนที่พบในภาคกลางของประเทศไทย และเชื่อว่าดินแดนเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับอาณาจักรเขมรในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อย่างใกล้ชิด

ความเห็นส่วนหนึ่งเชื่อว่าเป็นอิทธิพลทางศิลปกรรมจากอาณาจักรเขมรที่เมืองพระนครที่ถูกสร้างสรรค์ใหม่โดยฝีมือช่างท้องถิ่นภายใต้วัฒนธรรมทางสังคมของกลุ่มคนในภาคกลาง มากกว่าจะเป็นการปกครอง หรือเป็นวัฒนธรรมทางสังคมจากศูนย์กลางอาณาจักรโดยตรง บางส่วนเชื่อว่าเป็นบทบาทอำนาจทางการเมืองของอาณาจักรเขมรและอิทธิพลศิลปกรรมควบคู่กัน

นอกเหนือจากชื่อเมืองทั้ง 6 แห่งในจารึกปราสาทพระขรรค์ ซึ่งสัมพันธ์กับศาสนสถานและหลักฐานศิลปกรรมสมัยบายนที่พบในเมืองดังกล่าวแล้ว ยังมีหลักฐานศิลปกรรมในกลุ่มนี้ที่พบในโบราณสถานในจังหวัดสุโขทัย อันได้แก่ปราสาทวัดพระพายหลวง ศาลตาผาแดง และวัดเจ้าจันทร์ เมืองศรีสัชนาลัย ทั้งนี้ไม่อาจทราบได้ว่าชื่อเดิมของสุโขทัยจะถูกระบุในจารึกปราสาทพระขรรค์หรือไม่ก็ตาม แต่จากการศึกษาศิลปกรรมและจารึกสุโขทัยทำให้อาจคาดคะเนได้ว่าชุมชนแห่งนี้มีการติดต่อสัมพันธ์และได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมเขมรในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 อย่างเด่นชัด เช่นเดียวกับเมืองโบราณในภาคกลาง

ทั้งนี้ไม่อาจทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการแผ่ขยายอิทธิพลมายังดินแดนในภาคกลางของอาณาจักรเขมร ข้อสันนิษฐานหนึ่งเชื่อว่ากลุ่มเมืองโบราณเหล่านี้อาจตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าและการติดต่อทางบกและทางแม่นํ้า และมีความเกี่ยวข้องกับเส้นทางการค้าทางทะเล เนื่องจากในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17-18 อาณาจักรพุกามได้แผ่ขยายอิทธิพลลงมาทางเมืองมอญทางตอนใต้ และได้รับอิทธิพลทางพุทธศาสนาแบบเถรวาทจากเมืองมอญเป็นวัฒนธรรมสำคัญของอาณาจักรพุกามต่อมา การขยายอาณาเขตลงมาทางใต้อาจเป็นส่วนหนึ่งของการเชื่อมโยงเข้าสู่เส้นทางการค้าในคาบสมุทรมาเลย์และการใกล้ศูนย์กลางการเดินเรือ และนำไปสู่ความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรพุกามและลังกาผ่านเส้นทางการค้าในอ่าวเบงกอล

เช่นเดียวกับอาณาจักรลังกา พบว่ามีการติดต่อสัมพันธ์กับอาณาจักรพุกามอย่างใกล้ชิดผ่านเมืองท่าริมฝั่งทะเลทั้งด้านวัฒนธรรมและการค้า เนื่องจากการเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พุทธศาสนาแบบเถรวาทของลังกาในสมัยนั้น เรื่องราวดังกล่าวยังปรากฏในหนังสือจุลวงศ์ พงศาวดารของลังกา ซึ่งกล่าวถึงความสัมพันธ์ของกษัตริย์ลังกาและพุกามทั้งในด้านผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการค้า ภายหลังเกิดเป็นความขัดแย้งอันเนื่องมาจากการผูกขาดการค้าช้างของอาณาจักรพุกามและการปิดเส้นทางการติดต่อไปยังอาณาจักรเขมร

ลักษณะความสัมพันธ์ที่กล่าวถึงในหนังสือจุลวงศ์ อาจทำให้การสันนิษฐานเรื่องเมืองโบราณในภาคกลางดูมีเหตุผลมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่นํ้าแควน้อย การขุดค้นทางโบราณคดียังพบการสร้างเมืองสิงห์ในระยะเวลาสั้นๆ ในช่วงเวลาเดียวกับการสร้างปราสาทเมืองสิงห์ และถูกทิ้งร้างไปเมื่อปลายพุทธศตวรรษที่ 18 เมื่อพ้นยุคการสร้างปราสาทเมืองสิงห์ ที่ตั้งของเมืองสิงห์ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางตะวันตกสุดที่ติดต่อกับอาณาจักรพุกามทางจังหวัดกาญจนบุรี เส้นทางดังกล่าวอาจเกี่ยวข้องกับจุดยุทธศาสตร์และการเข้าถึงดินแดนในภาคกลาง เช่นเดียวกับเส้นทางเดินทัพของพม่าผ่านด่านเจดีย์สามองค์สมัยอยุธยาในพุทธศตวรรษต่อมาอีกด้วย

นอกจากนี้ชุมชนเมืองในภาคกลางเหล่านี้ยังมีการติดต่อสัมพันธ์กันทั้งในทางบกและทางแม่นํ้าโดยเฉพาะแถบเมืองเพชรบุรีและราชบุรี ยังเป็นเมืองท่าโบราณใกล้อ่าวไทยมาตั้งแต่สมัยทวารวดี และมีการติดต่อไปยังชุมชนในเขตลุ่มแม่นํ้าแม่กลองในเขตจังหวัดกาญจนบุรี สันนิษฐานว่าศูนย์กลางของชุมชนภาคกลางน่าจะอยู่แถบเมืองลพบุรีและสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นชุมชนขนาดใหญ่ และได้พบแหล่งผลิตภาชนะดินเผาในบริเวณใกล้เคียง

นักวิชาการสันนิษฐานว่าลพบุรียังเป็นเมืองศูนย์กลางการติดต่อไปยังเมืองในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกทางหนึ่งด้วย โดยเส้นทางการค้าจากอ่าวไทยจะผ่านเมืองลพบุรีขึ้นไปยังบริเวณแม่นํ้าป่าสักข้ามเทือกเขาดงพญาเย็น ผ่านเมืองพิมาย และเป็นเส้นทางเดินทางบกผ่านเขตจังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดสุรินทร์และข้ามเทือกเขาพนมดงเร็กเข้าสู่ที่ราบเขมรตํ่าและศูนย์กลางอาณาจักรเขมร การเดินทางตามเส้นทางโบราณดังกล่าวอาจเกิดขึ้นในช่วงศตวรรษก่อนหน้าแล้ว จากการพบศิลปกรรมเขมรในสมัยต่างๆ ตามเส้นทาง และชัดเจนมากยิ่งขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เมื่อทรงสร้างระบบอโรคยศาลและธรรมศาลาขึ้น

การศึกษาจากจารึกและภูมิศาสตร์ที่ตั้งของเมืองทำให้ทราบว่าเศรษฐกิจของเมืองพระนครนอกจากจะขึ้นอยู่กับผลผลิตทางการเกษตรและระบบชลประทานในเมืองที่สัมพันธ์กับวัฏจักรของทะเลสาบใหญ่แล้ว ในบันทึกของจิวตากวนยังระบุว่าเมืองพระนครมีสินค้าหายากประเภทสมุนไพร งาช้าง และนอแรด ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดการค้าภายนอกซึ่งรวมถึงประเทศจีน เขายังกล่าวด้วยว่าสินค้าจีนยังเป็นที่ต้องการในตลาดการซื้อขายแลกเปลี่ยนเช่นเดียวกับข้าวและเมล็ดพันธุ์ นอกจากนี้ ทอง เงิน ไหม และเครื่องเคลือบศิลาดลจากประเทศจีน ยังเป็นสินค้าที่นิยมของชาวเขมรอีกด้วย

จารึกปราสาทพระขรรค์และปราสาทตาพรหมได้กล่าวถึงผ้าไหมจีนซึ่งเป็นเครื่องบริขารในศาสนสถาน ซึ่งเป็นผ้าไหมคุณภาพดีและอาจใช้เป็นเครื่องแต่งกายของชนชั้นสูงและบุคคลในราชสำนัก ภาพสลักผนังปราสาทบายนและประติมากรรมส่วนหนึ่งที่สร้างขึ้นในสมัยนี้ พบการสลักผ้านุ่งสตรีและเสื้อของบุรุษที่เป็นลายดอกที่อาจเป็นผ้าอย่างดีจากประเทศจีนและอินเดีย

ทั้งนี้การส่งคณะทูตและเครื่องบรรณาการไปยังจักรพรรดิจีนในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และการเดินทางค้าขายสินค้าส่วนหนึ่งอาจผ่านศูนย์กลางเดินเรือที่คาบสมุทรมาเลย์ เป็นผลให้เกิดการขยายอิทธิพลของอาณาจักรเขมรตามเส้นทางการค้าและวัฒนธรรมดังกล่าวทั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง

อย่างไรก็ตาม ไม่อาจสรุปได้ชัดเจนว่าอิทธิพลดังกล่าวมีผลต่อการปกครองเมืองต่างๆ เหล่านี้มากน้อยเพียงใด และกลุ่มเมืองในภาคกลางถือเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรเขมรในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ด้วยหรือไม่ ทั้งนี้ชื่อเมืองในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และชื่อเมืองที่พบในปัจจุบันอาจเป็นความพ้องตรงกัน ในขณะที่ชื่อเมืองอีกเป็นจำนวนมากยังไม่ทราบว่าตั้งอยู่ที่ใด และการส่งหรือการสร้าง “พระชัยพุทธมหานาถ” พร้อมด้วยวิหารในดินแดนเหล่านี้ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด ดูเหมือนว่าหลักฐานจารึกไม่อาจบอกสถานภาพของเมืองได้เท่ากับหลักฐานศิลปกรรมแบบบายนที่พบในกลุ่มเมืองโบราณเหล่านี้

ทั้งนี้การศึกษาคติความเชื่อทางศาสนา และหลักฐานทางศิลปกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมเขมรในช่วงเวลาดังกล่าว นอกเหนือจากการศึกษารูปแบบศิลปกรรม อาจทำให้ทราบถึงภาพรวมทางวัฒนธรรมและสังคมที่เกิดขึ้นในดินแดนภาคกลางได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเปรียบเทียบกับอิทธิพลทางวัฒนธรรมเขมรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและศูนย์กลางอาณาจักรในช่วงเวลาเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม เป็นที่แน่ชัดว่าชุมชนภาคกลางมีวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนเองอยู่ก่อนแล้ว โดยเป็นชุมชนในวัฒนธรรมทวารวดีมาก่อนที่จะรับวัฒนธรรมเขมร และมีชุมชนหนาแน่นในบริเวณเมืองลพบุรี สุพรรณบุรี ซึ่งพบว่ามีพัฒนาการต่อเนื่องมายาวนานและขยายออกไปยังเมืองที่อยู่ใกล้เคียง เกิดเป็นชุมชนเมืองสิงห์ ชุมชนบริเวณโบราณสถานสระโกสินารายณ์ จังหวัดราชบุรี และชุมชนบริเวณปราสาทวัดกำแพงแลง จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งที่ตั้งของเมืองเหล่านี้ล้วนสัมพันธ์กับแหล่งนํ้า และแม่นํ้า โดยเฉพาะในแถบเมืองราชบุรีและเพชรบุรีที่มีลักษณะเป็นเมืองท่าโบราณ ทั้งนี้การขุดค้นทางโบราณคดีอาจทำให้ได้พบชุมชนขนาดเล็กโดยรอบศูนย์กลางศาสนสถานเพิ่มเติม

หลักฐานสำคัญส่วนหนึ่งมาจากการศึกษาจารึกที่พบในเขตภาคกลางในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 ของก่องแก้ว วีรประจักษ์ โดยเชื่อว่ากลุ่มชนในภาคกลางส่วนหนึ่งมีการใช้ภาษาไทยเป็นของตนเองในรูปอักษรขอม ซึ่งแตกต่างจากวัฒนธรรมทางภาษาในเมืองพระนครในช่วงเวลาเดียวกัน และอาจบอกได้ถึงความหลากหลายและการผสมผสานทั้งเชื้อชาติและวัฒนธรรมในบ้านเมืองแถบนี้

ประเด็นปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการพบประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมีที่ปราสาทเมืองสิงห์และโบราณสถานสระโกสินารายณ์ ซึ่งมีรูปแบบศิลปกรรมและฝีมือช่างแบบเดียวกับที่พบในเมืองพระนคร สันนิษฐานว่าประติมากรรมเหล่านี้อาจสร้างขึ้นจากเมืองพระนครหรือโดยช่างฝีมือกลุ่มเดียวกัน เช่นเดียวกับประติมากรรมรูปเหมือนของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่พิมาย ซึ่งแสดงออกถึงสุนทรียภาพแบบบายนอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ ประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมีอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะศิลปกรรมแบบท้องถิ่น ยังได้พบในโบราณสถานบริเวณจังหวัดลพบุรีและเพชรบุรี และพระเศียรอีกองค์หนึ่งไม่ระบุที่มาปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จังหวัดอยุธยาอีกด้วย การพบประติมากรรมกลุ่มนี้เฉพาะในกลุ่มเมืองโบราณภาคกลางและเมืองพระนคร ยังเป็นข้อสังเกตหนึ่งถึงความหมายและความสำคัญของรูปเคารพเหล่านี้กับศาสนสถานในภาคกลาง ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับคติการบูชาพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเป็นสำคัญที่แพร่หลายในเมืองพระนคร

กลุ่มประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรจำนวนมากที่พบในภาคกลางยังมีความหลากหลายทางฝีมือช่างและบางส่วนเชื่อว่าเป็นการสร้างขึ้นในท้องถิ่น ตัวอย่างเช่นการขุดค้นทางโบราณคดีพบชุมชนช่างแกะสลักหินในบริเวณเมืองสิงห์ ซึ่งอาจเป็นที่อยู่อาศัยของช่างฝีมือที่สร้างปราสาท สอดคล้องกับประติมากรรมจำนวนหนึ่งที่ทั้งฝีมือช่างและวัสดุมีลักษณะที่ต่างออกไปจากกลุ่มที่เหมือนกับเมืองพระนครอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ ลักษณะทางกายภาพของชุมชนในภาคกลางในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 ยังต่างจากที่พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวคือ การพบอโรคยศาล ธรรมศาลา และศาสนสถานในพุทธศาสนามหายานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและบางส่วนในเขตจังหวัดปราจีนบุรีและจังหวัดสระแก้วทางภาคตะวันออก แสดงถึงชุมชนเมืองที่มีทั้งศาสนสถานและอโรคยศาลเป็นศูนย์กลาง จำนวนอโรคยศาลในแต่ละท้องที่ยังบอกได้ถึงความหนาแน่นของชุมชนในบริเวณนั้นๆ ด้วย นอกจากนี้ชุมชนดังกล่าวยังมีการติดต่อกับเมืองพระนครผ่านเส้นทางโบราณและธรรมศาลาคล้ายคลึงกับชุมชนโดยรอบเมืองพระนคร

การมองประเด็นเรื่องอิทธิพลทางการเมืองศิลปกรรม อาณาเขต และอาณาเขตอาณาจักรเขมรในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จำเป็นต้องพิจารณาในแต่ละชุมชนมากกว่าการสรุปเป็นภาพรวมของการปกครองในสมัยนั้น ความยิ่งใหญ่ของนครธมและพระราชกรณียกิจของพระองค์ในการสร้างเครือข่ายเส้นทางการค้า อาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่งและลดบทบาทตามลำดับ และเป็นผลให้ชุมชนต่างๆ มีการปรับเปลี่ยนตัวเองให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น

ภายหลังจากการคลายอำนาจลงของเมืองพระนคร ชุมชนเหล่านี้บางส่วนยังคงมีพัฒนาการต่อเนื่องและบางส่วนได้ละทิ้งถิ่นฐานไป โดยอาจเป็นการโยกย้ายหรือรวมเข้ากับชุมชนที่ใหญ่กว่า ในช่วงนี้เมืองโบราณในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนืออาจมีความชัดเจนในการปกครองตนเองโดยผู้นำท้องถิ่นและมีการสร้างงานศิลปกรรมในอิทธิพลพุทธศาสนามหายานต่อเนื่อง และผสมผสานเข้ากับศาสนาพุทธเถรวาท จนในที่สุดปรับเปลี่ยนเข้าสู่วัฒนธรรมในอิทธิพลของศูนย์กลางแห่งใหม่ที่เกิดขึ้นในดินแดนไทย

ทั้งนี้แนวความคิดทางศาสนาย่อมมีบทบาทสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมร่วมในสังคม และรวมถึงระบบการเมืองการปกครอง ทำให้หลายชุมชนเกิดการรวมตัวขึ้นและพัฒนาความสำคัญมากยิ่งขึ้น ชุมชนต่างๆ เหล่านี้มีความสัมพันธ์ในลักษณะของพันธมิตรหรือเครือญาติและเป็นไปทั้งในด้านการพึ่งพาและความขัดแย้ง จนในที่สุดขอบเขตของอาณาจักรใหญ่ก็เริ่มปรากฏชัดเจนขึ้น อันเป็นผลจากการรวมตัวของเมืองในแถบลุ่มแม่นํ้าเจ้าพระยา และเป็นผู้จัดตั้งวัฒนธรรมที่เป็นปึกแผ่นของตนเองในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 สืบมา

อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี