พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ (คัดจากหนังสือ เจิ้งเหอ แม่ทัพขันที “ซำปอกง”. ปริวัฒน์ จันทร. สนพ.มติชน. พิมพ์ครั้งที่ 3. 2553)
เจิ้งเหอ แม่ทัพขันที “ซำปอกง” โดยคุณปริวัฒน์ จันทร เล่มนี้บรรยายถึงความมโหฬารของขบวนเรือรบ บังคับการโดยเจิ้งเหอ ออกท่องมหาสมุทรประกาศความยิ่งใหญ่แห่งจักรวรรดิจีน ขบวนเรือขนาดนี้ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์แห่งนาวีมนุษยชาติ
เนื่องจากในขบวนเรือมีองค์ประกอบของผู้ที่ทำหน้าที่ด้านต่างๆ มากมาย รวมทั้งในด้านเอกสารจดบันทึกและล่าม เจิ้งเหอจึงดำรงหน้าที่เป็นผู้บังคับการอย่างเดียวมิได้จดบันทึกด้วยตัวเอง ดังนั้นเรื่องราวของเจิ้งเหอจึงปรากฏอยู่ในเอกสารของจีนในหลายลักษณะ ทั้งในรูปบันทึกของชาวเรือ เอกสารราชการที่เป็นพงศาวดาร ศิลาจารึก รวมทั้งที่ปรากฏเป็นเรื่องตำนานที่เป็นคำบอกเล่าและโบราณสถานตามที่ต่างๆ ที่เจิ้งเหอไปถึง ฯลฯ
ดังนั้น เรื่องของเจิ้งเหอในส่วนที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาที่ท่านได้เคยเดินทางมาถึง จึงเป็นเรื่องที่นักประวัติศาสตร์ไทยให้ความสนใจค้นคว้านำมาอ้างอิงกันมาแต่ก่อนอยู่เนืองๆ ในคำนำเสนอเรื่องนี้จึงจะเป็นการนำเสนอในส่วนที่เป็นภูมิหลังของประวัติศาสตร์ไทยที่เกี่ยวข้องทางการทูตกับจีน ในช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกับการเดินทางของเจิ้งเหอ เพื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาทางประวัติศาสตร์สำหรับผู้ที่สนใจ อาจพิจารณานำไปเป็นแนวคิดได้บ้าง
พิจารณาออกไปจากประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา ช่วงเวลาการเดินทางของเจิ้งเหอทั้ง 7 ครั้ง ระหว่าง พ.ศ.1948-1976 เมื่อเทียบกับปีครองราชย์ของกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา โดยยึดเกณฑ์ของเวลาในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ จะตรงกับสมัยปลายรัชกาลสมเด็จพระรามราชาธิราช รัชกาลสมเด็จพระนครินทราชาธิราช (พ.ศ.1952-1967) และช่วง 9 ปีแรกของรัชกาลสมเด็จเจ้าสามพระยา
ช่วงเวลาดังกล่าวนี้ รัชกาลของสมเด็จพระนครินทราชาธิราชน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับการเดินทางของเจิ้งเหอมากที่สุด เพราะเป็นช่วงเวลาที่กรุงศรีอยุธยาเริ่มปกครองโดยกษัตริย์ราชวงศ์สุพรรณภูมิอย่างยั่งยืนสืบต่อมาเป็นเวลานานจนถึง พ.ศ.2112 อันเป็นปีที่กรุงศรีอยุธยาแตกเสียแก่พม่าโดยพระเจ้าบุเรงนอง ประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาช่วงนี้ มีความเกี่ยวข้องกับการเดินทางของเจิ้งเหออย่างไร จำเป็นจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ในกรุงศรีอยุธยาก่อนหน้านี้ด้วย
เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือพระเจ้าอู่ทองได้สถาปนากรุงศรีอยุธยาหรืออโยธยาขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1893 นั้น เป็นการรวมตัวของอำนาจที่สำคัญในบริเวณที่ราบลุ่มแม่นํ้าภาคกลางสองขั้ว คือ พระเจ้าอู่ทองผู้ครองอำนาจทางฟากตะวันออกของแอ่งที่ราบลุ่มภาคกลางนี้ เมืองสำคัญประกอบด้วยกรุงศรีอยุธยาที่สถาปนาขึ้นมาใหม่ กับเมืองละโว้หรือลพบุรีอันเป็นรากฐานการปกครองเดิมที่คาบเกี่ยวอยู่กับอำนาจของอาณาจักรโบราณแห่งเมืองพระนครหลวงกัมพูชา ดินแดนละโว้อโยธยาหรืออยุธยานี้ ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาและเมื่อสถาปนาแล้วใหม่ๆ ได้เคยติดต่อกับจีนมาก่อนโดยราชสำนักจีนเรียกว่า ‘หลอหู’
ส่วนทางฟากตะวันตก ศูนย์กลางขณะนั้นอยู่ที่เมืองสุพรรณภูมิ ผู้นำมีชื่อเรียกตามเอกสารประเภทตำนานของภาคกลางและพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่า ขุนหลวงพะงั่วหรือพ่องั่วที่ได้รับการยกย่องจากราชสำนักกรุงศรีอยุธยาว่าเป็นพระเชษฐา บ้านเมืองต่างๆ ทางฟากตะวันตกของที่ราบลุ่มแม่นํ้าภาคกลางนั้น หลักฐานทางโบราณคดีชี้ให้เห็นว่าน่าจะเป็นบ้านเมืองที่คลี่คลายสืบเนื่องจากบ้านเมืองรุ่นเก่าในสมัยทวารวดี เช่น เมืองอู่ทอง (จังหวัดสุพรรณบุรี) เมืองคูบัว (จังหวัดราชบุรี) เมืองนครปฐม ฯลฯ ซึ่งมีหลักฐานว่าอยู่มาเก่าก่อนตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12
ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา บริเวณนี้ปรากฏชื่อบ้านเมือง คือ สุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี ในศิลาจารึกหลักที่ 1 ของสุโขทัย ซึ่งโดยหลักฐานทางสภาพภูมิศาสตร์การก่อตั้งบ้านเมืองและหลักฐานทางโบราณคดี ก็น่าจะเป็นบ้านเมืองที่คลี่คลายสืบเนื่องกันมาจากบ้านเมืองในรุ่นทวารวดีในภาคกลางที่กล่าวมาก่อนหน้านี้
นอกจากนี้ ทางตอนเหนือตั้งแต่ท้องที่จังหวัดนครสวรรค์ขึ้นไปในเขตลุ่มแม่นํ้าปิง นํ้ายม และนํ้าน่านในท้องที่จังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร สุโขทัย พิษณุโลก และอุตรดิตถ์ ก็ปรากฏกลุ่มบ้านพี่เมืองน้องที่ภายหลังรวมตัวกันเป็นแคว้นสุโขทัย ที่น่าจะมีความสัมพันธ์กับทั้งศูนย์กลางใหญ่ที่ละโว้-อโยธยา ทางฟากตะวันออกของที่ราบลุ่มภาคกลาง และกับบ้านเมืองสุพรรณภูมิ บนฟากตะวันตกของที่ราบลุ่มแม่นํ้า ซึ่งภายหลังต่อมาเมื่อมีการสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นแล้ว ก็กลับปรากฏความสัมพันธ์ทางเครือญาติระหว่างสุโขทัยกับสุพรรณภูมิให้เห็นชัดเจนมากยิ่งขึ้น และกลายเป็นอำนาจคู่แข่งกับอำนาจของละโว้-อโยธยา
ในช่วงเวลาแรกเริ่มสถาปนากรุงศรีอยุธยาและช่วงก่อนหน้าเล็กน้อยนี้ ในเอกสารของจีนไม่ว่าจะเป็นประเภทหนังสือพงศาวดารราชวงศ์หงวน ราชวงศ์หมิง และหนังสือหมิงสื่อลู่ ได้กล่าวถึงราชทูตจากหลอหู ซึ่งหมายถึงราชสำนักละโว้-อโยธยา กับราชทูตจากเสียน ซึ่งบางครั้งแสดงลักษณะทางภูมิศาสตร์และการเมืองว่าหมายถึงสุโขทัยบ้าง แถบบริเวณจังหวัดเพชรบุรีบ้าง หรือบางครั้งก็อาจหมายถึงสุพรรณภูมิ แต่โดยเข้าใจกันส่วนใหญ่ที่ศึกษาประวัติศาสตร์จากเอกสารของจีน มักจะคิดว่าเสียนหมายถึงสุโขทัย ทั้งโดยที่เป็นความเชื่อตามกันมา และการแปลความหมายตีความให้สอดคล้องกับความเชื่อที่สืบตามกันมานั้น
ทั้งๆ ที่การที่เอกสารของจีน กล่าวถึงทูตจากเสียนที่ระบุตำแหน่งให้งงงวยว่า น่าจะอยู่ตรงนั้นบ้าง ตรงนี้บ้างนั้น มีความสอดคล้องกับสภาพบ้านเมืองหลายแห่งที่ต่างก็มีอิสระต่อกัน แต่มีเครือข่ายอย่างน้อยด้านวัฒนธรรมคือภาษาอย่างเดียวกันที่กระจายอยู่ทางฟากตะวันตกของที่ราบลุ่มแม่นํ้าภาคกลาง และตามที่ราบลุ่มแม่นํ้าสาขาของแม่นํ้าเจ้าพระยาเหนือขึ้นไปอันเป็นดินแดนของแว่นแคว้นสุโขทัยดังได้กล่าวแล้ว
ดังนั้น แม้ว่าเมื่อมีการสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้น มีลักษณะการรวมตัวของบ้านเมืองดังที่กล่าวแล้ว โดยมีหลอหูเป็นหลัก กับบ้านเมืองต่างๆ ที่จีนเรียกว่าเสียน กลายเป็นเสียนหลอแล้วนั้น ในช่วงเมื่อแรกสถาปนาสภาพการรวมตัวยังไม่สมบูรณ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งหมดทุกๆ ด้าน ลักษณะสืบทอดบางอย่างในขณะที่เป็นบ้านเมืองอิสระ ต่างคนต่างอยู่ก็อาจมีหลงเหลือต่อมาแม้เมื่อมีการสถาปนากรุงศรีอยุธยาแล้วด้วยได้
ลักษณะหลงเหลือตกทอดมา ที่อาจพบและทำความเข้าใจได้ในการศึกษาประวัติศาสตร์จากเอกสารจีนนั้นก็คือ การที่ราชสำนักเดิมของบ้านเมืองอื่นๆ ในราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา จะส่งทูตนำบรรณาการไปยังราชสำนักจีนอย่างเป็นอิสระไปจากราชสำนักกรุงศรีอยุธยา เพราะทูตที่ไปเหล่านั้น
มีความหมายเพียงเรื่องการติดต่อซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างบ้านเมืองของตนกับราชสำนักจีน มิใช่ทูตที่ไปดำเนินการทางการเมืองระหว่างประเทศเป็นหลักอย่างที่เราเข้าใจกันในปัจจุบัน
เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงได้พบจากเอกสารจีนประเภทพงศาวดารและหนังสือหมิงสื่อลู่ ว่าในช่วงเวลาที่เอกสารจีนใช้ชื่อแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้วในทางปกครองของราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาว่า เสียนหลอ แต่ก็มีข้อสังเกตที่ทูตจากเสียนหลอนั้นไปสู่ราชสำนักจีนค่อนข้างถี่ และบางครั้งเอกสารจีนก็ได้ระบุชื่อของสถานที่หรือบุคคลที่ส่งทูตไปที่แสดงหน่วยย่อยลงไปจากความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของเสียนหลอ เช่นที่กล่าวในหนังสือหมิงสื่อลู่ว่า ก่อนรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 พระพี่นางของกษัตริย์เสียนหลอได้ส่งทูตไปราชสำนักจีนเพื่อถวายบรรณาการแก่พระจักรพรรดินี 2 ครั้งๆ แรกถูกปฏิเสธที่จะให้เข้าเฝ้าพระจักรพรรดินี ครั้งที่สองจีนปฏิเสธอีก แต่พระราชทานผ้าแพรสีลายดอกแก่ราชทูตแล้วให้ส่งกลับไป ความตอนนี้ไม่อาจทราบได้ว่า ทูตที่มาราชสำนักจีนนี้ มาจากสำนักใดของราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา แต่มิใช่ทูตจากราชสำนักกษัตริย์ศรีอยุธยาอย่างแน่นอน
ในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (พ่องั่ว) เจ้านครอินทร์แห่งเมืองสุพรรณภูมิได้ส่งคณะทูตไปราชสำนักจีน (ด้วยพระองค์เอง) เพื่อถวายพระราชสาส์นแด่องค์มกุฎราชกุมาร ต่อมาเจ้าเมืองจิ้วหมิงไถแห่งอาณาจักรเสียนหลอได้ส่งทูตไปยังราชสำนักจีนซึ่งก็ได้รับการต้อนรับด้วยดี และต่อมาอีกกษัตริย์แห่งเสียนหลอก็ได้ส่งราชโอรสคือเจ้านครอินทร์มายังราชสำนักจีน ฯลฯ
จากที่กล่าวผ่านมา จะเห็นชัดเจนว่า แม้เมื่อมีการสถาปนากรุงศรีอยุธยาแล้ว และทางราชสำนักจีนมีภาพพจน์เกี่ยวกับความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้วของกรุงศรีอยุธยา ดังที่จีนเรียกว่า เสียนหลอ ทูต ที่มาจากเสียนหลอก็หาได้มาจากราชสำนักกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาแห่งเดียวไม่ แม้เจ้านครอินทร์แห่งเมืองสุพรรณภูมิผู้เป็นโอรสกษัตริย์อยุธยาก็ส่งทูตของตนเองไป จนถึงการไปครั้งหลังเอกสารจีนจึงกล่าวว่าครั้งนี้ที่เจ้านครอินทร์เป็นทูตไปด้วยตนเองนั้นไปในนามกษัตริย์เสียนหลอผู้เป็นบิดา นอกจากนี้ เอกสารจีนก็ยังระบุชื่อเมืองจิ้วหมิงไถ ซึ่งไม่รู้แน่ว่าหมายถึงเมืองใด แต่ก็อยู่ในราชอาณาจักรเสียนหลอ หรือกรุงศรีอยุธยา ก็ได้ส่งคณะทูตของตนเองไปยังราชสำนักจีนด้วย
เมื่อเป็นเช่นนี้ เมื่อพิจารณาเอกสารจีนที่กล่าวถึงภารกิจการทูตกับกรุงศรีอยุธยาในสมัยแรกสถาปนานี้ จึงต้องควรสังเกตด้วยว่า ถ้าหากมีการกล่าวถึงทูตจากเสียนหลอหรือเสียนหลอหูอย่างเดียว มิได้ระบุว่ามาจากราชสำนักกษัตริย์เสียนหลอ ก็อาจเป็นไปได้ว่าเป็นคณะทูตที่ส่งไปจากเมืองใดเมืองหนึ่งในราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา มิได้หมายความว่าจะต้องเป็นทูตจากราชสำนักกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาเสมอไป
เรื่องที่กล่าวนี้ แม้จะเป็นการมองจากประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาออกไปด้านเดียว ยังแสดงให้เห็นว่าได้ก่อให้เกิดปัญหาขึ้นกับหน่วยงานที่เกี่ยวกับพิธีการทูตของจีน ที่จะต้องวุ่นวายในเรื่องการต้อนรับ จัดที่พัก จัดอาหาร ของตอบแทน ล่าม ฯลฯ ยุ่งยากพอดู โดยเฉพาะหน่วยงานเกี่ยวกับอาลักษณ์ในการบันทึกจดหมายเหตุว่าเป็นใคร ที่ไหนกันบ้างที่มาและที่จะส่งทูตกลับไปตอบแทน และหากพิจารณาว่ามิได้มีคณะทูตจากดินแดนกรุงศรีอยุธยาแห่งเดียว แต่มีคณะทูตที่เข้ามาสู่ราชสำนักจีนในสมัยนั้น โดยเฉพาะที่มาทางทะเล ล้วนแต่เป็นบ้านเล็กเมืองน้อยเมืองใหญ่จะทำความยุ่งยากให้แก่ราชสำนักจีนมากเพียงใด
เมื่อเป็นเช่นนี้ ทางราชสำนักจีนจึงน่าจะหาวิธีการในการจัดระเบียบ ความสัมพันธ์ทางการทูตกับดินแดนโพ้นทะเลเสียใหม่ วิธีหนึ่งคือการออกเอกสารคำหับ หรือเอกสารการเป็นราชสำนักที่จีนให้การรับรองในการส่งราชทูตเข้ามาติดต่อกับราชสำนักจีน ซึ่งใน พ.ศ.1926 เสียนหลอหรือกรุงศรีอยุธยา จามปา และกัมพูชา ได้รับเอกสารคำหับดังกล่าวนี้ สำหรับของเสียนหลอนั้นตรงกับรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (พ่องั่ว) แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ
แต่เอกสารคำหับนี้ก็น่าจะใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วงเวลาหนึ่ง แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป เมื่อมีการเปลี่ยนอำนาจกันขึ้นในดินแดนที่ได้รับเอกสารคำหับไปจากจีน ก็อาจสร้างความงุนงงแก่ราชสำนักจีนได้อีก ดังเช่นกรณีของเสียนหลอหรือกรุงศรีอยุธยา หลักฐานทางประวัติศาสตร์ของไทยคือ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์กล่าวว่า ปี พ.ศ.1931 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 สวรรคต ขุนนางได้ยกให้เจ้าทองลันขึ้นเป็นกษัตริย์ได้ 7 วัน สมเด็จพระราเมศวร โอรสของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 แห่งราชวงศ์ละโว้-อโยธยา ผู้ประทับอยู่ที่เมืองลพบุรี ได้เข้ามายึดราชบัลลังก์และได้ขึ้นเสวยราชสมบัติในปีนั้น
ที่น่าสนใจอยู่ที่ว่า ในปี พ.ศ.1932 ราชทูตที่มีชื่อเดียวกันกับที่กรุงศรีอยุธยา ในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (พ่องั่ว) เคยส่งมายังราชสำนักจีน ก็ถูกระบุชื่อโดยเอกสารของจีนว่าได้เป็นราชทูตจากเมืองสุพรรณภูมิที่ส่งมาโดยเจ้านครอินทร์ผู้เป็นราชโอรสองค์ใหญ่ของกษัตริย์แห่งหลอหูหรือกรุงศรีอยุธยา
ราชทูตชุดนี้แสดงว่า ส่งไปจากเมืองสุพรรณภูมิหลังจากที่กรุงศรีอยุธยามีกษัตริย์ราชวงศ์ละโว้-อโยธยาแล้ว เป็นไปได้ว่าที่ราชสำนักจีนให้การรับรองราชทูตคณะนี้ ทั้งๆ ที่มิได้ไปจากราชสำนักอยุธยาก็เนื่องจากว่า เอกสารคำหับที่ออกให้แก่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ ขณะเสวยราชสมบัติกรุงศรีอยุธยา เมื่อพระองค์สวรรคตลงและราชบัลลังก์ก็พบกับความยุ่งยาก และในที่สุดราชบัลลังก์ต้องตกอยู่ใต้อำนาจสมเด็จพระราเมศวรแห่งราชวงศ์ละโว้-อโยธยานั้น เจ้านครอินทร์โอรสของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ได้นำเอกสารคำหับไปไว้ที่เมืองสุพรรณภูมิ และใช้เอกสารนี้แสดงตนในการส่งทูตไปราชสำนักจีน
แต่เอกสารจีนในเวลาต่อมา ที่ระบุพระนามกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาคล้ายกับพระนามสมเด็จพระราเมศวรที่เคยครองราชบัลลังก์กรุงศรีอยุธยาครั้งก่อน ก่อนที่จะถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 แล้วเสด็จไปประทับที่ลพบุรีว่า ได้ส่งทูตไปยังราชสำนักจีน และทางราชสำนักจีนให้การต้อนรับนั้น ก็น่าจะแสดงว่า เอกสารคำหับยังอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา แต่ที่ราชสำนักจีนให้การต้อนรับราชทูตจากสุพรรณภูมิของเจ้านครอินทร์ ก็ควรจะเป็นด้วยเป็นการรับรองตามใบหน้าของตัวบุคคลที่เป็นทูตไป คือหน่วยงานพิธีการทูตของจีนยังจำราชทูตที่เจ้านครอินทร์ส่งไปได้ ว่าเคยมายังราชสำนักจีนในนามกษัตริย์แห่งเสียนหลอหรือกรุงศรีอยุธยามาก่อน รวมทั้งรับรู้ด้วยว่าเจ้านครอินทร์ก็เคยเป็นทูตด้วยตนเองให้แก่พระราชบิดา (สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 พ่องั่ว) เมื่อครั้งราชบัลลังก์กรุงศรีอยุธยายังอยู่ภายใต้อำนาจของราชวงศ์สุพรรณภูมิ ดังนั้น ในขณะนั้นจีนจึงรับรองราชทูตทั้งสองคณะจากอาณาจักรเสียนหลอ คือรับรองโดยเอกสารทางราชการอย่างหนึ่ง กับรับจากความรู้จักคุ้นเคยอีกอย่างหนึ่ง
สำนักงานเกี่ยวกับพิธีการทูตอาจไม่ยุ่งยากอะไรมากนักต่อการอ้างสิทธิ์เหนือเสียนหลอของคณะทูตทั้งสองคณะ คือเมื่อมาทั้งสองคณะที่ต่างก็มีหลักฐานเชื่อถือได้ทั้งคู่ ก็รับรองทั้งสองคณะ แต่ความยุ่งยากนั้นจะตกอยู่กับสำนักงานที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับเอกสารหรือฝ่ายอาลักษณ์ ดังเช่นเมื่อมีเรื่องที่จะกล่าวต่อไปนี้
เอกสารจีนได้กล่าวว่า เมื่อ พ.ศ.1939 เจ้านครอินทร์โอรสองค์โตแห่งเสียนหลอส่งทูตมาแจ้งว่า กษัตริย์แห่งเสียนหลอสวรรคต เอกสารจีนได้ระบุพระนามกษัตริย์ที่สวรรคตเป็นภาษาจีนตรงกับพระนามสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (พ่องั่ว) ในปีนั้นราชสำนักจีนได้จัดส่งข้าราชการไปเคารพพระศพกษัตริย์ที่สวรรคตและพระราชทานของฝากแก่เจ้านครอินทร์ เจ้าเมืองสุพรรณภูมิผู้สืบราชสมบัติ
ความเอกสารจีนตอนนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับเอกสารที่เป็นพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาจะมีความขัดแย้งกัน เนื่องจาก พ.ศ.1938 สมเด็จพระราเมศวรสวรรคต และสมเด็จพระรามราชาธิราช โอรสได้ขึ้นเสวยราชย์ต่อมา
ดังนั้น ผู้ที่ไปแจ้งต่อราชสำนักในปีถัดมาว่ากษัตริย์ผู้เป็นพระราชบิดาสวรรคตนั้น ก็ควรเป็นคณะทูตจากกรุงศรีอยุธยา โดยสมเด็จพระรามราชาธิราชแต่เมื่อเอกสารการทูตตกถึงสำนักงานฝ่ายอาลักษณ์ก็ได้มีการประมวลเรื่องอันมีหลักฐานและความรับรู้ที่มีอยู่ก่อน จึงกลายเป็นว่ากษัตริย์ที่สวรรคตนั้นคือสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (พ่องั่ว) (เพราะเมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จสวรรคตมิได้แจ้งให้แก่ราชสำนักจีนทราบ เนื่องจากมีเรื่องไม่สงบในราชสำนัก) และผู้ที่จะเสวยราชสมบัติก็ควรเป็นเจ้านครอินทร์ผู้เป็นโอรสองค์โต ตามที่เคยรับรู้มา
เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้าราชการที่ส่งไปเคารพพระศพจึงเป็นการเคารพพระบรมศพสมเด็จพระราเมศวรและของพระราชทานแก่เจ้านครอินทร์ก็ต้องตกอยู่กับสมเด็จพระรามราชาธิราช (ที่น่าจะเป็นความผิดพลาดของราชสำนักจีน คือผิดทั้งผีผิดทั้งคน)
เมื่อข้าราชการจีนที่ไปเคารพพระศพกลับมา คงมิได้รายงานข้อเท็จจริงว่าอะไรเป็นอะไร เพราะอาจไม่ทราบก็ได้ว่ามีการผิดผีผิดคนขึ้นแล้ว หรืออาจจะทราบแต่ก็เกรงความผิดมาถึงตัวเอง ด้วยเหตุนี้ จึงพบจากเอกสารจีนในลำดับต่อมาว่า ราชทูตจากเสียนหลอยังมีที่ส่งมาจากเจ้านครอินทร์เจ้าเมืองสุพรรณภูมิ และราชทูตที่ส่งมาจากอาณาจักรเสียนหลอเอง
การเดินทางของเจิ้งเหอโดยยกกองเรือขนาดใหญ่ บ้างก็ว่าเพื่อสืบหาเจี้ยนอุ๋นตี๋ พระจักรพรรดิจีนองค์ที่แล้วที่หายตัวไป จากการพ่ายแพ้ในการชิงราชบัลลังก์โดยพระจักรพรรดิเม่งเซ่งโจ๊วผู้เป็นอา และเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดกองเรือของเจิ้งเหอขึ้นในครั้งนี้
แต่จากเรื่องราวที่ปรากฏในเรื่องของเจิ้งเหอ เช่น มีการจับกษัตริย์ศรีลังกาที่กระด้างกระเดื่อง หรือปราบโจรสลัดแถบช่องแคบสุมาตรา แสดงถึงการเป็นกองเรือรบปฏิบัติการเพื่อแสดงพระราชอำนาจจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิจีนอย่างแท้จริง อีกอย่างหนึ่งเมื่อมองออกไปจากประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาที่กล่าวมาแล้ว ประกอบกับการพิจารณาตำแหน่งหน้าที่ของคนในกองเรือ ที่มีทั้งฝ่ายเลขานุการ ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับเอกสาร ล่าม ฯลฯ แสดงให้เห็นวัตถุประสงค์อันเป็นธรรมชาติของชาวจีนคือ การรวบรวมข้อมูลหลักฐานที่เป็นจริง เกี่ยวกับบ้านเมืองน้อยใหญ่ที่ส่งทูตมาติดต่อนำบรรณาการมายังราชสำนัก เพราะก่อนหน้านี้ดังจะเห็นจากเอกสารจีนที่กล่าวถึงเสียนหลอหรือกรุงศรีอยุธยาว่ามีความสับสนวุ่นวายมากพอดู (เพราะจีนไม่มีโอกาสรู้เรื่องเกี่ยวกับบ้านเมืองเหล่านี้ที่เป็นข้อเท็จจริง)
ด้วยเหตุนี้ นักวิชาการทางประวัติศาสตร์ของไทยจึงให้ความสนใจต่อการเดินทางของเจิ้งเหอโดยเฉพาะการเดินทางครั้งที่ 2 ที่มายังอาณาจักรเสียนหลอหรือกรุงศรีอยุธยา ว่าน่าจะมีส่วนกระทบถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทางการเมืองของราชอาณาจักรสยามด้วย เพราะปีที่เจิ้งเหอเดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยานั้น เป็นปีที่สมเด็จพระนครินทราชาธิราชหรือเจ้านครอินทร์ได้ขึ้นเสวยราชสมบัติกรุงศรีอยุธยา โดยมีขุนนางทั้งหลายเป็นใจ ถอดสมเด็จพระรามราชาธิราชไปไว้ที่เมืองปทาคูจาม และเชิญเสด็จเจ้านครอินทร์จากสุพรรณภูมิเข้ามาเป็นกษัตริย์ราชวงศ์สุพรรณภูมิ ที่เสวยอำนาจสืบเนื่องกันต่อมาอย่างยั่งยืนโดยตลอดจนกรุงแตกเสียแก่พม่าเมื่อ พ.ศ.2112
เจ้านครอินทร์ คือเจ้านายไทยที่มีความคุ้นเคยกับราชสำนักจีนที่จีนให้การรับรองคณะทูตของพระองค์ แม้ในขณะที่ราชบัลลังก์กรุงศรีอยุธยาจะตกอยู่ในอำนาจของราชวงศ์อื่น
เจ้านครอินทร์ คือเจ้านายไทย ผู้เคยเสด็จไปเป็นทูตยังราชสำนักจีนด้วยพระองค์เอง
เจ้านครอินทร์ เป็นผู้สืบเชื้อสายทางพระราชมารดาจากราชวงศ์สุโขทัย จนเกิดเป็นเรื่องบอกเล่าในลักษณะตำนานว่าเป็นพระร่วง ที่ไปนำช่างทำถ้วยชามจากเมืองจีนมาทำที่สุโขทัย
ด้วยเหตุนี้ เจ้านครอินทร์จึงมีความชอบธรรมที่จะขึ้นเสวยราชสมบัติกรุงศรีอยุธยา เป็นสมเด็จพระนครินทราชิราช นับเป็นความชอบธรรมแบบใหม่ที่พระเจ้าจักรพรรดิจีน ผู้เป็นโอรสแห่งสวรรค์ได้พระราชทานมากับกองเรือเจิ้งเหอเข้ามาแทนที่ความชอบธรรมแบบเก่า ที่เทวาสมมติให้แก่กษัตริย์ราชวงศ์ละโว้-อโยธยา ผู้สถาปนาและครองราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาแต่เดิม
อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี