หัวไชเท้า หรือ ผักกาดหัว เป็นผักที่นิยมนำมาทำแกงจืด ซุป หรือนำหัวไชเท้าดิบมาขูดฝอยใส่ลงในซีอิ๊วและซอสต่างๆ ใช้เป็นน้ำจิ้มสำหรับทานคู่กับอาหารญี่ปุ่น นำมาดองแล้วตากแห้งเป็นหัวไชโป๊ทานกับข้าวต้ม และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งนอกจากจะนำมาทำอาหารได้หลากหลายแล้ว หัวไชเท้ายังมีประโยชน์ต่อสุขภาพไม่แพ้ความอร่อยอีกด้วยล่ะค่ะ ถ้าอยากรู้ว่ามีประโยชน์ด้านใดบ้าง ตามเรามาเลยค่ะ
ลดความดันโลหิต
เชื่อกันว่าการรับประทานหัวไชเท้าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการรักษาความดันโลหิตสูง แต่ปัจจุบันยังไม่มีการพิสูจน์สรรพคุณด้านนี้ในคน และยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าหัวไชเท้ามีสารหรือกลไกใดที่ส่งผลต่อระดับความดันโลหิตหรือไม่ อย่างไรก็ตาม มีการทดลองในสัตว์ซึ่งอ้างว่าในหัวไชเท้ามีสารต้านอนุมูลอิสระอย่างซาโปนิน ฟลาโวนอยด์ แทนนิน ฟีนอล และอัลคาลอยด์ที่อาจช่วยให้ระดับความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจของหนูลดต่ำลง ทั้งยังให้ข้อสรุปว่าสารสกัดจากหัวไชเท้านั้นอาจมีสารบางชนิดที่มีสรรพคุณช่วยต่อต้านโรคหลอดเลือดหัวใจและน่าจะส่งผลดีต่อการลดระดับความดันโลหิต
ลดไขมันในเลือด
หัวไชเท้าเป็นพืชอีกชนิดที่ใช้สำหรับการรักษาทางเลือกของภาวะไขมันในเลือดสูง มาอย่างยาวนาน จนทางวิทยาศาสตร์เริ่มศึกษาและพิสูจน์กับสัตว์ทดลอง งานวิจัยหนึ่งพบว่าหนูที่กินน้ำหัวไชเท้าดำเป็นเวลา 6 วัน มีนิ่วในถุงน้ำดี ที่เกิดจากคอเลสเตอรอลลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด รวมทั้งมีระดับคอเลสเตอรอลและไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ลดลง นอกจากนั้น หัวไชเท้ายังช่วยเพิ่มระดับไขมันชนิดดี ซึ่งแม้ผลการศึกษานี้จะช่วยเพิ่มน้ำหนักของคำกล่าวอ้างที่ว่าหัวไชเท้ามีสรรพคุณลดไขมันในเลือดขึ้นมาได้บ้าง แต่ยังต้องมีการศึกษากับคนต่อไปจึงพอจะยืนยันประสิทธิภาพและความปลอดภัยได้อย่างน่าเชื่อถือมากขึ้น
รักษาแผลในกระเพาะอาหาร
นับเป็นอีกหนึ่งคุณประโยชน์ยอดนิยมของหัวไชเท้า ทว่าปัจจุบันยังไม่มีการทดลองกับคน จึงไม่อาจระบุได้ว่ามีประสิทธิผลในการรักษาโรคนี้มากน้อยเพียงใด มีเพียงการทดลองในสัตว์ที่กล่าวถึงหัวไชเท้ากับการรักษาโรคกระเพาะอาหารอยู่บ้าง เช่นการศึกษาชิ้นหนึ่งที่ให้ข้อสรุปว่าหัวไชเท้านั้นมีคุณสมบัติต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหารของหนูที่เป็นโรคนี้ ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางสำคัญในการค้นหาคำตอบที่แน่ชัดยิ่งขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม เพื่อบรรเทาและป้องกันไม่ให้อาการรุนแรงยิ่งขึ้น ผู้ป่วยโรคนี้ควรเข้ารับการรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เป็นหลัก
ต้านมะเร็ง
ข้อสันนิษฐานทางวิทยาศาสตร์กล่าวว่าพืชในตระกูลกะหล่ำซึ่งรวมถึงหัวไชเท้านั้นมีสารประกอบบางชนิดที่เมื่อผสมกับน้ำแล้วจะแตกตัวเป็นสารไอโซไทโอไซยาเนต (Isothiocyanate) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยกำจัดสารในร่างกายที่เป็นต้นเหตุของการเกิดมะเร็ง ทั้งยังป้องกันการเจริญเติบโตของเนื้องอก ประโยชน์ของหัวไชเท้าในด้านการต้านมะเร็งจึงเริ่มเป็นที่กล่าวถึงมากขึ้น
ผลการศึกษาหนึ่งสนับสนุนสมมติฐานข้อนี้ แต่เป็นเพียงการทดสอบโดยใช้วิธีหยดสารสกัดจากใบที่โผล่พ้นพื้นดินของหัวไชเท้าลงบนเซลล์มะเร็งเต้านมของคนในหลอดทดลอง ผลลัพธ์พบว่าสารดังกล่าวมีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็ง ทั้งยังส่งผลให้เซลล์เนื้อร้ายตายลงได้ นอกจากนี้ งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการยับยั้งเซลล์มะเร็งของสารสกัดหัวไชเท้าจากส่วนต่างๆ ได้แก่ ราก ลำต้น และใบ โดยปรากฏว่าสารสกัดจากรากของหัวไชเท้าช่วยยับยั้งและเปลี่ยนแปลงกระบวนการก่อเซลล์มะเร็งของยีนจนส่งผลให้เซลล์เนื้อร้ายตายลงในที่สุด อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการทดลองทั้งหมดนี้ล้วนกระทำในหลอดทดลอง จึงยังไม่น่าเชื่อถือพอที่ทางการแพทย์จะนำหัวไชเท้ามาใช้เพื่อคุณสมบัตินี้อย่างมั่นใจได้
รักษาริดสีดวงทวาร
สูตรรักษาโรคริดสีดวงทวารฉบับแพทย์ทางเลือก มักปรากฏหัวไชเท้าเป็นหนึ่งในส่วนประกอบหลักที่นำมาปรุงเป็นยารับประทาน ซึ่งสูตรเหล่านี้ต้องระมัดระวังในการปรุงตามอย่างเหมาะสมและคำนึงถึงความปลอดภัยด้วย เพราะยังไม่มีการศึกษาที่พิสูจน์ได้ว่าหัวไชเท้ามีคุณสมบัติรักษาโรคริดสีดวงทวาร รวมทั้งส่วนผสมบางชนิดที่นำมาประกอบกันอาจไม่ปลอดภัยต่อผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวบางอย่างได้เช่นกัน ทางที่ดีผู้ป่วยควรดูแลตัวเองในเบื้องต้นด้วยการรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง ดื่มน้ำให้มาก รวมทั้งอาจแช่น้ำอุ่นหรือรับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการปวด แต่หากมีอาการรุนแรงควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา
ข้อควรระวังในการรับประทานหัวไชเท้า
คนส่วนใหญ่รับประทานหัวไชเท้าได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่หากรับประทานในปริมาณมากอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบย่อยอาหารได้ นอกจากนี้ผู้ที่อยู่ในภาวะต่อไปนี้และต้องการใช้หัวไชเท้าเพื่อการรักษาโรค ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ
- หญิงตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เนื่องจากในปัจจุบันไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะระบุถึงความปลอดภัยในการใช้ เพื่อความปลอดภัยต่อทารกและตัวคุณแม่เอง จึงควรรับประทานหัวไชเท้าในปริมาณปกติที่ได้จากอาหารเท่านั้น
- ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ไม่ควรรับประทานหัวไชเท้าในปริมาณมากเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ โดยมีงานวิจัยพบว่าหนูที่กินหัวไชเท้าติดต่อกันเป็นเวลานานมีต่อมไทรอยด์หนักขึ้น ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ลดลง และส่งผลให้เกิดภาวะพร่องไทรอยด์ตามมา
- ผู้ป่วยโรคนิ่วในถุงน้ำดีไม่ควรใช้หัวไชเท้าโดยคาดหวังสรรพคุณทางยา หรือหากต้องการใช้ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง
ถึงแม้ว่าหัวไชเท้าจะมีประโยชน์ทางด้านสุขภาพ แต่ก็ควรรับประทานในปริมาณที่พอดี โดยเฉพาะกับกลุ่มที่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโทษต่อร่างกาย และสุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก https://www.pobpad.com ด้วยนะคะ