เข้าสู่เดือนพฤศจิกายน เดือนแห่งสีสันของสายน้ำที่หลายคนรอคอย โดยเฉพาะ "วันลอยกระทง" หรือเทศกาลลอยกระทง การเดินทางและการท่องเที่ยวคึกคักขึ้นมาทันตาเห็น
“วันลอยกระทง” ปีนี้ตรงกับวันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 ในหลายๆ จังหวัด ต่างก็มีประเพณีที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งในแต่ละท้องถิ่นเวลานี้เตรียมการจัดงานและกิจกรรมกันอย่างสนุกสนาน โดยมีสถานที่จัดงานเด่นๆ จากทั่วประเทศ อาทิ…
1.จังหวัดพิษณุโลก ชื่องาน “ลอยกระทงสองแควแลอดีต”
ระหว่างวันที่ 17-19 พฤศจิกายน 2564 ที่บริเวณหน้าวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก
ชมขบวนแห่กระทงและนางนพมาศ การประกวดขบวนแห่กระทงใหญ่ เที่ยวชมงานอาหารอร่อยไร้แอลกอฮอล์ และถนนย้อนยุคสมัยรัตนโกสินทร์
กิจกรรมถนนสองแควแลอดีต การละเล่นเด็กไทย ภาพยนตร์กลางแปลง ลิเก การแข่งขันหมากรุกไทย และชิมอาหารพื้นบ้านเมืองพิษณุโลก
ที่ขาดไม่ได้คือ การประกวดการแต่งกายย้อนยุคสมัยรัตนโกสินทร์ ก่อนจะร่วมลอยกระทงด้วยกัน
2จังหวัดลำปาง ชื่องาน “ประเพณีล่องสะเปาจาวละกอน”
ระหว่างวันที่ 19-20 พฤศจิกายน 2564 ที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำวัง ได้แก่ ท่าน้ำบ้านดงไชย(เขื่อนยาง) ท่าน้ำบ้านสิงห์ชัย(หลังโรงพยาบาลแวนแซนต์วูร์ด) และท่าน้ำสะพานรัษฎาฝั่งกาดกองต้า
คำว่า “สะเปา” เป็นภาษาถิ่นแปลว่า “เรือสำเภา” ส่วน “จาวละกอน” ก็คือชาวลำปางนั่นเอง ประเพณีล่องสะเปาจาวละกอน เป็นปะเพณีที่ชาวลำปางปฏิบัติกันมาช้านาน โดยจะนำเรือสำเภาน้อยๆ ที่ประดิษฐ์ขึ้นเองใส่สิ่งของลงไปแล้วนำไปลอยน้ำเพื่อเป็นการทำทานให้แก่ผู้ที่ล่วงลับ หรือให้ทานกับผู้ที่อยู่ปลายน้ำ การใส่สิ่งของลงไปนี้บ้างก็เชื่อว่าเป็นการเตรียมไว้ใช้สำหรับภพหน้า นอกจากนี้ยังถือเป็นการลอยทุกข์ และสักการะ ขอขมาแม่น้ำ คล้ายกับการลอยกระทงนั่นเอง กิจกรรมในงาน ได้แก่ การประกวดสะเปาลอยน้ำ การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านล้านนา การจำหน่ายสินค้า OTOP ของชุมชนในจังหวัดลำปาง
3.จังหวัดตาก ชื่องาน “ประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป 1,000 ดวง”
ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2564 บริเวณริมแม่น้ำปิงลานกระทงสาย เชิงสะพานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ซึ่งปีนี้เน้นจัดงานแบบวิถีชีวิตใหม่(New Normal)
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสืบสานประเพณีดั้งเดิมที่มีรูปแบบและเอกลักษณ์เฉพาะของชาวจังหวัดตากให้คงอยู่ โดยเป็นการลอยกระทงด้วยกระทงกะลาจำนวน 1,000 ใบ ไหลต่อกันจำนวน 1 สายต่อวัน
กิจกรรมในงาน มีการจัดพิธีขอขมาแม่คงคาที่เวทีกลางน้ำ พร้อมการแสดงแสง สี เสียง แบบสื่อผสมด้วยมัลติมีเดียตระการตา การแข่งขันการลอยกระทงสายไหลประทีป 1,000 ดวง
การทอดผ้าป่าน้ำ การจัดลานภูมิปัญญากระทงสาย จำหน่ายกระทงสาย รวมถึงมีลานครัวกระทงสาย การจัดแสดงสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ และจำหน่ายสินค้าทางการเกษตร เช่น เมล็ดกาแฟ อโวคาโด เป็นต้น
4.จังหวัดสุโขทัย ชื่องาน “ประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ”
ระหว่างวันที่ 18-20 พฤศจิกายน 2564 บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย เน้นการจัดงานในแบบวิถีใหม่(New Normal)แต่ยังอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีแบบดั้งเดิม
เปิดให้นักท่องเที่ยวจองผ่าน application LINE และเว็บไซต์ได้ตั้งแต่วันที่ 8-16 พฤศจิกายน 2564 โดยจำกัดผู้เข้าร่วมงานไม่เกิน 15,000 คนต่อวันเท่านั้น
เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 30 ปี ของการเป็นเมืองมรดกโลกจาก UNESCO ททท.สำนักงานสุโขทัยได้ตกแต่งพื้นที่บริเวณโบราณสถานวัดมหาธาตุด้วยไฟ Light Up เน้นความยิ่งใหญ่สวยงามของวัดมหาธาตุ
อีกทั้งยังมีกิจกรรมฉลองครบรอบ 2 ปี สุโขทัยเมืองสร้างสรรค์ทางด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน จึงจัดให้มีการจุดพลุทุกวัน วันละ 2 รอบ ใครสนใจไปชมความงดงามต้องรีบจองด่วน!!
ลอยกระทงปีนี้ยังได้เพิ่มเสน่ห์ของการชมโบราณสถานยามค่ำคืนด้วยการประดับ “ตะคันดินเผา” นับพันดวง สร้างความมลังเมลืองตามจุดต่างๆ ของโบราณสถาน พร้อมกับประดับประดาโคมไฟ กระทงเล็ก กระทงใหญ่ บริเวณท่าน้ำสำหรับให้กับนักท่องเที่ยวได้ร่วมกิจกรรม และยังได้จัดทำจุดถ่ายภาพไว้สำหรับนักท่องเที่ยวกระจายตามจุดต่างๆ ภายในวัดมหาธาตุ
ในงานงดการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ เพื่อลดความแออัดของพื้นที่
5.จังหวัดแพร่ ชื่องาน “ประเพณีลอยกระทง จุดผางปะตี๊ปตี๋นก๋า ปูจาแม่ก๋าเผือก”
วันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 บริเวณข่วงวัฒนธรรมเมืองแป้(กาดสามวัย) ท่าน้ำเชตะวัน และท่าน้ำศรีชุม ตำบลในเวียง อำเภอเมืองแพร่
ในงานมีกิจกรรม เช่น พิธีสืบชะตาแม่น้ำยม การประกวดกระทงฝีมือ 3 ระดับ การประกวดโคมแขวนเมืองแป้ การประกวดตีกลองปูจา และการประกวดบอกไฟดอก(ประเภทขี้ขาง)
การจุดผางประทีป การประกวดนางนพมาศและหนูน้อยนพมาศ และการแสดงคอนเสิร์ตจากศิลปิน
6.จังหวัดเชียงใหม่ ชื่องาน “ประเพณีเดือนยี่เป็งเชียงใหม่”
ระหว่างวันที่ 19-20 พฤศจิกายน 2564 โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานเพื่อความปลอดภัยจากโควิด-19 ประชาชนและนักท่องเที่ยวสามารถเข้าร่วมงานผ่านทางออนไลน์ live streaming “แสงศิลป์ประทีปเบิกฟ้า Yeepeng Lantern Festival” และแพลตฟอร์มทางโซเซียลมีเดียต่างๆ
ปีนี้งดขบวนแห่กระทง แต่เป็นเป็นการจัดแสดงรถกระทงใหญ่ 7 จุดรอบเมืองเชียงใหม่ และจุดโคมล้านนานับหมื่นดวงทั่วเมืองเชียงใหม่ บริเวณ 4 แจ่งคูเมือง 5 ประตูเมือง และ 3 สะพาน ในเขตเมืองเก่า ได้แก่ ข่วงประตูท่าแพ ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ สะพานเหล็ก (ขัวเหล็ก) สะพานนวรัฐ สะพานนครพิงค์ และจัดทำโคมผัดล้านนาที่ใหญ่ที่สุดในโลก สูงกว่า 7.25 เมตร เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสที่เมืองเชียงใหม่อายุครบ 725 ปี ถือเป็นแลนด์มาร์คสำคัญบริวณข่วงประตูท่าแพ ต้อนรับนักท่องเที่ยวเข้าสู่ช่วงเทศกาลเปิดเมือง
นอกจากนี้ ยังมีการประกวดกระทงใหญ่ ภายใต้แนวคิด “นครแห่งความสุขและเป็นที่สุดแห่งความสง่างามทางวัฒนธรรม” กิจกรรมต๋ามผางปะตี๊ด ส่องฟ้าฮักษาเมือง/ การประกวดเทพี-เทพบุตรยี่เป็งเชียงใหม่ / การประกวดหนูน้อยยี่เป็งเชียงใหม่ / การประกวดโคมล้านนา (โคมแขวนใหญ่), การประกวดกระทงใบตองฝีมือ และกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย
สำหรับนักท่องเที่ยวหรือผู้เข้าร่วมงาน สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ได้ผ่านการจองทางแอปพลิเคชัน “ยี่เป็งเชียงใหม่ 2564 Yeepeng Chiang Mai Festival” เพื่อทำการจองคิวล่วงหน้า โดยระบุวันที่และช่วงเวลา และจากนั้นต้องเช็คอินผ่านระบบไทยชนะ ตรวจวัดอุณหภูมิ ณ จุดคัดกรองของการจัดแต่ละกิจกรรม เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด
7.จังหวัดบุรีรัมย์ ชื่องาน “บารายศรัทธา สมมาสายน้ำ ปราสาทเมืองต่ำ น้อมนำบูชา”
ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2564 บริเวณปราสาทเมืองต่ำ ตำบลจรเข้มาก อำเภอประโคนชัย ซึ่งเป็นโบราณสถานเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองบุรีรัมย์
ภายในงานมีกิจกรรมตักบาตรพระสงฆ์ ร่วมบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิประจำปราสาทเมืองต่ำ พิธีสมมาน้ำบริเวณสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ ทั้ง 4 ลอยกระทงในบาราย หรือ ทะเลเมืองต่ำ การแสดงแสง สี เสียงชุด “บารายศรัทธา สมมาสายน้ำ ปราสาทเมืองต่ำ น้อมนำบูชา” เลือกซื้อสินค้าจากสตรีทฟู้ดย้อนยุค รวมถึงการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมของชุมชน “ตลาดโบราณ” และกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย
8.จังหวัดสมุทรสงคราม ชื่องาน “ลอยกระทงกาบกล้วยเมืองแม่กลอง”
วันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 ณ อุทยาน ร.2 และบริเวณวัดภุมรินทร์กุฎีทอง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
ชมการลอยกระทงกาบกล้วยกว่า 200,000 ใบ การประกวดกระทง และเรือไฟสวยงาม ชิงถ้วยพระราชทาน
ประกวดนางนพมาศแม่ลูก และกิจกรรมวัฒนธรรมพื้นบ้าน
9.จังหวัดสมุทรปราการ ชื่องาน “เทศกาลโคมไฟและอาหารนานาชาติ”
ระหว่างวันที่ 12 พฤศจิกายน-6 ธันวาคม 2564 ที่เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ
ภายในงานเพลิดเพลินกับความสวยงามของโคมไฟที่สว่างไสวตระการตานับ 1,000 ดวง
อาหารนานาชนิดเอกลักษณ์ของจังหวัดสมุทรปราการ กิจกรรมชุดพิเศษร่วมสืบสานวัฒนธรรมประเพณี ขอเชิญชวนแต่งกายชุดไทยร่วมกิจกรรมลอยกระทง ขอขมาพระแม่คงคา ชมการแสดงพลุโบราณสุดอลังการ
กิจกรรมจุดผางประทีปเพื่อความเป็นสิริมงคล และกิจกรรมงานวัดที่จะพาทุกคนสนุกสนานไปกับบรรยากาศแสนอบอุ่นท่ามกลางความงดงามของเมืองโบราณ
นอกจากนี้ ในวันหยุดนักขัตฤกษ์ จะมีการแสดงดนตรีสดชุดพิเศษ และการจุดพลุโบราณสุดอลังการ
10.จังหวัดสิงห์บุรี ชื่องาน “ทีปะวารี ณ บ้านระจันวันเพ็ญ”
วันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 ณ ตลาดไทยย้อนยุคบ้านระจัน วัดโพธิ์เก้าต้น อำเภอค่ายบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี
กิจกรรมลอยกระทงท่ามกลางบรรยากาศย้อนยุคบ้านระจันยามค่ำคืน ชมความงดงามของวิถีชีวิตไทยโบราณ ความเป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่น
อิ่มอร่อยกับอาหารพื้นบ้านอันทรงคุณค่าภูมิปัญญาไทย พิธีถวายกระทงบูชารอยพระพุทธบาท ริ้วขบวนทีปะวารี ณ บ้านระจันวันเพ็ญ การประกวดหลานปู่หลานย่า
การแสดงแสง สี เสียง สื่อผสม ชมมหรสพสมโภช และการแข่งขันเรือพื้นบ้าน
11.จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชื่องาน “งานลอยกระทงกรุงเก่า”
วันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 บริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช (ทุ่งภูเขาทอง) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
พบการประกวดหนูน้อยนพมาศ การประกวดแตรวง พิธีอาบน้ำเพ็ญ การแสดงศิลปะขับร้องเพลงลูกทุ่ง สตริงและการแสดงร่วมสมัย
การจัดนิทรรศการอนุรักษ์ประเพณีลอยกระทง การสาธิตประดิษฐ์กระทงจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายได้ง่าย
12.จังหวัดชลบุรี ชื่องาน”มหกรรมลอยกระทงแห่งสยาม”
วันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 ที่เลเจนด์ สยาม พัทยา ชวนแต่งชุดไทย ห่มสไบเป็นออเจ้า เดินเที่ยวในงาน เป็นงานลอยกระทงน้องใหม่ที่เพิ่งจัดเป็นปีแรก ถึงจะเป็นน้องใหม่แต่จัดใหญ่ไม่น้อยหน้าใคร
ในงานมีการลอยกระทงบูชารอยพระพุทธบาท ขอขมาพระแม่คงคา การลอยทุกข์โศกโชคร้ายออกไปจากตัว
ความพิเศษ คือเป็นการรวมเอากระทงทั่วถิ่นเอามาไว้ในที่เดียว ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้เลือกลอยกระทง ซึ่งมีตั้งแต่กระทงใบตอง กระทงกาบ กระทงข้าวโพด กระทงสายพญานาค สามารถเลือกเทียนสี ธูปสีมงคลประจำวันเกิด ดอกไม้ที่สื่อความหมายดีต่าง ๆ และยันต์มงคลที่มีให้เลือกถึง 10 ยันต์ ใส่ไปในกระทง เพื่อจะได้คุ้มครองดวงชะตาให้ล่องลอยไปพร้อมกับกระทง
13.ปิดท้ายด้วยงานลอยกระทงในกรุงเทพมหานคร “Bangkok River Festival 2021 สายน้ำแห่งวัฒนธรรมไทย”
ระหว่างวันที่ 17-19 พฤศจิกายน 2564 บนพื้นที่จัดงาน 8 ท่าน้ำสำคัญทางประวัติศาสตร์ ประกอบด้วย วัดพระเชตุพนฯ / วัดอรุณราชวรารามฯ / วัดประยุรวงศาวาสฯ /วัดกัลยาณมิตร / วัดระฆังโฆสิตารามฯ / ท่ามหาราช เอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟร้อนท์ และ สุขสยาม ณ ไอคอนสยาม
ร่วมไหว้พระทำบุญในยามค่ำคืน กิจกรรมลอยกระทง ชมการแสดงทางวัฒนธรรมในบรรยากาศที่งดงามของสายน้ำ และจำหน่ายสินค้าและอาหารจากชุมชนในพื้นที่
“ลอยกระทงคลองโอ่งอ่าง”
วันที่ 19-21 พฤศจิกายน 2564 บริเวณคลองโอ่งอ่าง กรุงเทพมหานคร มีการแสดงดนตรี “Street Music” กิจกรรมดนตรีเปิดหมวก และร่วมลอยกระทงในคลองโอ่งอ่าง
สนใจเข้าร่วมลอยกระทงที่ไหนเลือกไปกันได้ตามวันและเวลาดังกล่าว!!
อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี