Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

รู้จัก…พระเจ้าติโลกราช

พระเจ้าติโลกราช ที่วัดเจดีย์เจ็ดยอด เชียงใหม่

ในทัวร์ศิลปวัฒนธรรมของ "มติชนอคาเดมี" ซึ่งมีขึ้นระหว่างวันที่ 4-7 ธันวาคม 2564 เรื่อง "ศึก 2 โลก-สงครามอยุธยากับล้านนา "ติโลกราช" ปะทะ "บรมไตรโลกนาถ"

เป็นเรื่องราวของ 2 กษัตริย์ที่ทำศึกสงครามกันมาอย่างยาวนานถึง 24 ปี  ความเป็นมาของพระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์น่าสนใจอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะ “พระเจ้าติโลกราช”  เป็นชื่อแปลกไม่คุ้นหูสำหรับคนรุ่นใหม่เท่าใดนัก ทั้งที่ในข้อเท็จจริงแล้วทรงเป็นนักรบที่อาจหาญ สร้างความมั่นคงภายในอาณาจักรล้านนาในช่วง 10 ปี (พ.ศ. 1984-1994)

อาณาจักรล้านนาจึงมีความเข้มแข็ง สามารถยึดได้เมืองน่าน เมืองแพร่ จากนั้นจึงขยายอำนาจลงสู่ทางใต้  ทำสงครามกับกรุงศรีอยุธยา ทรงได้รับราชสมญานามจากจักรพรรดิ์จีนยกย่องให้เป็น “ราชาผู้พิชิตแห่งทิศตะวันตก”

“พระเจ้าติโลกราช” ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 9 แห่งราชวงศ์มังราย ผู้ปกครองนครพิงค์เชียงใหม่  พระนามคือ เจ้าลก (แปลว่า 6) เสด็จพระราชสมภพเมื่อ พ.ศ.1952  ทรงเป็นพระโอรสองค์ที่ 6 ของพระเจ้าสามฝั่งแกน ต่อมาเมื่อทรงเจริญพระชันษา พระราชบิดาโปรดให้ไปครองเมืองพร้าววังหิน ปัจจุบันคือ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่

ต่อมาเกิดราชการสงครามขึ้น ทัพของเจ้าลกยกไปสมทบพระราชบิดาช้า พระเจ้าสามฝั่งแกนจึงลงพระราชอาญา เนรเทศให้เจ้าลกไปครองเมืองยวมใต้(อำเภอแม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอนในปัจจุบัน)

มีอำมาตย์ชื่อ สามเด็กย้อย คิดเอาราชสมบัติให้เจ้าลก จึงได้ซ่องสุมกำลังและลอบไปรับเจ้าลกจากเมืองยวมใต้มาไว้ที่เชียงใหม่ ในขณะที่พญาสามฝั่งแกนได้แปรพระราชฐานไปอยู่ที่เวียงเจ็ดริน เชิงดอยสุเทพ หลังจากนั้นกลุ่มผู้ก่อการก็ยกกำลังไปเผาเวียงเจ็ดรินแล้วจึงบังคับให้พระเจ้าสามฝั่งแกนสละราชสมบัติ  จากนั้นจึงไปกราบทูลเชิญเจ้าลกมาเป็นพระเจ้าเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.1985  ทรงมีพระนามว่า  “พระมหาศรีสุธรรมติโลกราช”  เมื่อทรงมีพระชนมายุ 32 พรรษา  ส่วนพระราชบิดานั้น พระเจ้าติโลกราชทรงโปรดให้ไปประทับอยู่ที่เมืองสาดในรัฐฉาน ประเทศพม่า

ส่วนสามเด็กย้อยได้รับการยกเป็น “เจ้าแสนขาน” แต่ต่อมาคิดก่อการเป็นกบฎ พระเจ้าติโลกราชจึงให้หมื่นโลกนคร พระเจ้าอา ผู้ครองเมืองลำปาง จับตัวเจ้าแสนขานไปคุมขังแต่ไม่ให้ทำร้าย เมื่อพ้นโทษได้ลดยศเป็นหมื่นขาน และให้ไปครองเมืองเชียงแสน

เมื่อขึ้นครองราชย์พระเจ้าติโลกราช ทรงเป็นนักรบได้แผ่ขยายอำนาจของเชียงใหม่ไปทั่ว 57 หัวเมืองขึ้น ครอบคลุมทิศเหนือจรดเมืองเชียงรุ่ง (จิ่งหง) มณฑลยูนนาน ประเทศจีน เมืองเชียงตุง เมืองยอง (รัฐฉาน ประเทศพม่า) เมืองนาย  เมืองไลค่า เมืองเชียงทอง เมืองปั่น เมืองยองห้วย เมืองสุ เมืองจีด เมืองกิง เมืองลอกจอก เมืองสีป้อ เมืองจาง รวมกว่า 11 เมืองทางฝั่งตะวันตกของแม่นำสาละวิน  ส่วนทิศตะวันออกตีได้อาณาจักรล้านช้าง (ประเทศลาว) ทิศใต้จรดขอบแดนอยุธยา ตามแนวตาก  เถิน  ศรีสัชนาลัย (สุโขทัย) ลับแล  แพร่  น่าน อาณาจักรล้านนาในรัชกาลของพระองค์นับเป็นยุคทองรุ่งเรืองสูงสุด

จักรพรรดิ์จีนแห่งราชวงศ์หมิง บันทึกไว้ใน“หมิงสื่อลู่” เป็นเอกสารโบราณประจำรัชกาลที่มีความน่าเชื่อถือมากที่สุดแห่งราชสำนักจักรพรรดิจีน และ ดร.วินัย พงศรีเพียร นักประวัติศาสตร์ผู้เรืองนาม ได้แปลไว้ในเอกสารชื่อ “ปาไป่สีฟู่ ปาไป่ต้าเตี้ยน” (คณะกรรมการสืบค้นประวัติศาสตร์ไทยในเอกสารภาษาจีน สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จัดพิมพ์ในโอกาสเชียงใหม่มีอายุครบ 700 ปี ใน พ.ศ. 2539) ว่า จักรพรรดิ์จีนยกย่องให้พระเจ้าติโลกราชเป็น “ตาวหล่านนา” หรือ ท้าวล้านนา และพระราชทานเครื่องประกอบเกียรติยศมากมาย  นอกจากนี้ยังสถาปนาพระเกียรติยศเป็นลำดับ“สอง” รองจากองค์จักรพรรดิ์จีน ซึ่งตรงกับเอกสารของพม่าที่บันทึกสมัยอยุธยาก่อนกรุงแตกครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2305  ชื่อว่า “Zinme Yazawin” (ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับพม่า)  ความว่า ที่ให้เสนาบดีผู้ใหญ่ควบคุมเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตราพระราชลัญจกร พระสุพรรณบัตร เครื่องประกอบเกียรติยศมากมาย ทองคำแท่ง 100 ตำลึง เดินทางมาถึงเชียงใหม่ ทำพิธีอย่างยิ่งใหญ่ อลังการ

พระราชกรณียกิจที่สำคัญยิ่งของพระเจ้าติโลกราช คือการที่ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก จึงทำให้พระพุทธศาสนารุ่งเรืองสูงสุดในรัชสมัยของพระองค์  พระสงฆ์แตกฉานภาษาบาลี มีการสังคายนาพระไตรปิฎกเป็นครั้งที่ 8 ของโลก ที่วัดเจ็ดยอด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่  ในปี พ.ศ. 2020 ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลบวชกุลบุตรเป็นพระภิกษุจำนวน 500 รูปในอุทกสีมา หรืออุปสมบทกลางแม่น้ำปิงตามอย่างลัทธิลังกาวงศ์

เมื่อพระราชบิดา พระเจ้าสามฝั่งแกนสวรรคต จึงจัดการพระราชทานเพลิงพระศพแล้วสถาปนาพระสถูปบรรจุพระอัฐิไว้ ณ ป่าแดงหลวง ( อยู่เชิงดอยสุเทพ) โดยบุทองแดงแล้วปิดทองทั้งองค์ เมื่อเสร็จงานในปีเดียวกันก็ออกผนวชโดยให้พระราชมารดาว่าราชการแทนพระองค์  ทั้งนี้ เพื่อศึกษาปฏิบัติพระธรรมวินัย  ต่อมาเมื่อพระมารดาสิ้นพระชนม์ก็ถวายพระเพลิง ณ สถานที่เดียวกันกับพระราชบิดา แล้วสถาปนาที่นั้นเป็นพระอารามในปี พ.ศ. 1994  ทรงขนานนามว่า วัดอโสการามวิหาร  ปี พ.ศ. 1998 โปรดให้สร้าง วัดโพธารามวิหาร  หรือ วัดเจดีย์เจ็ดยอด  ตั้งอยู่ที่ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

พระสถูปเจดีย์พระเจ้าติโลกราช ที่วัดเจ็ดยอด จังหวัดเชียงใหม่
วัดเจ็ดยอด หรือ วัดโพธารามมหาวิหาร สถานที่เคยมีการประชุมสังคายนาพระไตรปิฎก

อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี