ห้องประชุม 910ABC ชั้น 9 คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ กระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุข กรมสรรพสามิต สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ เครือข่าย ลดบริโภคเค็ม จัดสัมมนาเพื่อการขับเคลื่อนมาตรการลดการบริโภคเกลือโซเดียมในประชากรไทย โดยหวังให้มีมาตรการภาษีโซเดียม สร้างกติกากลางให้กับภาคอุตสาหกรรม และร่วมปรับสูตรลดปริมาณโซเดียมในอาหารเพื่อช่วยเหลือประชาชน
นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในการสัมมนา ว่าโรงพยาบาลรามาธิบดีเล็งเห็นความสำคัญในการลดการกินเกลือโซเดียม เพื่อช่วยลดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของประชาชนซึ่งมาจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง และโรคไตวายเรื้อรัง เป็นต้น โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่มีหลักฐานว่าคนไข้กลุ่มนี้มีอัตราเสียชีวิตสูง และจากการสำรวจในปีที่ผ่านมา โดยเครือข่ายลดบริโภคเค็ม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมกับภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และคณะสาธารณสุขศาสตร์ของมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วประเทศ รวมทั้งองค์การอนามัยโลก พบว่าคนไทยบริโภคเกลือเฉลี่ยวันละ 9.1 กรัม ซึ่งสูงกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 5 กรัมต่อวัน เกือบ 2 เท่า นับเป็นปัญหาสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องเร่งช่วยกันแก้ไข
ขณะที่นายสุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่าจากรายงานการสำรวจด้านพฤติกรรมการบริโภคอาหารของคนไทย พบว่าส่วนใหญ่คนไทยมีพฤติกรรมซื้ออาหารนอกบ้านสูงถึงร้อยละ 81 (เฉลี่ยซื้ออย่างน้อยวันละ 1 มื้อ) จะเห็นได้ว่าอาหารนอกบ้านเป็นอาหารที่คนไทยปัจจุบันนิยมรับประทานกันมากเพราะมีความสะดวก ซึ่งอาหารนอกบ้านยังมีปริมาณโซเดียม(เกลือ) ที่สูงมาก แม้ว่าที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ได้ออกมาตรการลดการบริโภคเค็มอย่างหลากหลายและต่อเนื่อง ทั้งให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชนทุกระดับผ่านสื่อสาธารณะต่าง ๆ การปรับฉลากโภชนาการให้มีการระบุปริมาณน้ำตาล ไขมัน และโซเดียม รวมทั้งการขอความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมอาหารในการปรับสูตรอาหารกึ่งสำเร็จรูปแบบสมัครใจ แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร ด้วยเหตุผลนี้ เครือข่ายฯ จึงพยายามผลักดันให้เกิด “มาตรการภาษีโซเดียม” ที่จะมีกติกากลางในการสร้างความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้มากที่สุด เพื่อช่วยให้ประชาชนทราบถึงปริมาณโซเดียมที่มีอยู่ในอาหารซึ่งจะเป็นข้อมูลในการตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว ว่าจะซื้ออาหารชนิดใดและชนิดใดไม่ควรซื้อ
ด้าน ดร.เรณู การ์ก (Dr.Renu Madanlal Garg) Medical Officer, NCDs องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่าการกำหนดนโยบายที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดการบริโภคโซเดียมในประชากรนั้น สามารถทำได้ โดยการกำหนดรูปแบบฉลากด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพ เช่น การแสดงคำเตือนปริมาณโซเดียมสูง ฯลฯ ส่วนการใช้นโยบายเก็บภาษีอาหารที่มีโซเดียมมากเกินไปก็จะสามารถผลักดันให้ผู้ผลิตอาหารปรับสูตรอาหารให้มีโซเดียมน้อยลง ทำให้ประชาชนเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้ง่ายยิ่งขึ้น
ส่วนนายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต กล่าวว่านโยบายที่จะให้มีภาษีโซเดียม ไม่ได้มุ่งเป้าไปที่การเพิ่มรายได้ของรัฐบาล แต่เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนและการสูญเสียชีวิตจากการบริโภคเกลือเกินพอดีที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคเรื้องรังต่าง ๆ การเก็บภาษีโซเดียม นอกจากเพื่อสุขภาพของประชาชนคนไทยแล้ว ยังเป็นการเพิ่มทางเลือกของสินค้าที่มีโซเดียมต่ำในท้องตลาดมากขึ้น และสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมคำนึงถึงการลดปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์ของตน