ใครที่ชื่นชอบการรับประทานอาหารประเภทเส้น คงไม่มีใครไม่รู้จัก ‘ราเม็ง’ แน่ๆ เพราะถือเป็น 1 ในอาหารประเภทเส้นที่ได้รับความนิยมสูง ซึ่งในวันนี้เราจะพาไปรู้จักกับเจ้าราเม็งให้มากขึ้นกันค่ะ
ราเม็ง เป็นบะหมี่น้ำของญี่ปุ่น ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน ราเม็งมักจะทานกับเนื้อหมู สาหร่าย คามาโบโกะ ต้นหอม และบางครั้งจะมีข้าวโพด ราเม็งมีการปรุงรสแตกต่างกันตามแต่ละจังหวัดในญี่ปุ่น เช่นในเกาะคิวชู ต้นกำเนิดของราเม็งทงคัตสึ (ราเม็งซุปกระดูกหมู) หรือในเกาะฮอกไกโด ต้นกำเนิดของราเม็งมิโซะ (ราเม็งเต้าเจี้ยว)
ในประเทศตะวันตก คำว่า “ราเมน” รู้จักในความหมายถึง บะหมี่สำเร็จรูป
ในประวัติศาสตร์เท่าที่ทราบ ราเม็ง มีที่มาจากประเทศจีนและถูกนำเข้ามาในประเทศญี่ปุ่นโดยชาวจีนอพยพในศตวรรษที่ 19 หรือต้นศตวรรษที่ 20 คำว่า “ราเม็ง” มาจากภาษาจีน “ลาเมี่ยน” (拉麺) ที่มีความหมายถึง เส้นบะหมี่ที่ใช้มือนวดให้มีความเหนียวนุ่ม ที่ได้รับความนิยมบริโภคไปทั่วเอเชียตะวันออก แต่อาจจะมีที่มาจากคำอื่นๆ ที่ออกเสียงใกล้กัน เช่น 拉麺 老麺 鹵麺 撈麵. จากบันทึกของพิพิธภัณฑ์ราเม็งแห่งโยโกฮาม่า ราเม็งถูกนำเข้ามาในประเทศญี่ปุ่นในราวปี ค.ศ. 1859 และโทกูงาวะ มิตสึกูนิ ขุนนางใหญ่ในยุคเมจิได้รับประทานราเม็ง
ราเม็งเริ่มได้รับความนิยมแพร่หลายในญี่ปุ่นเมื่อต้นศตวรรษที่ 20 ในระยะแรก ราเม็งถูกเรียกว่า “ชินาโซบะ” (支那そば) ซึ่งแปลว่า “โซบะเจ๊ก” (“ชินา” เป็นคำเรียกเชิงดูหมิ่นชนชาติจีนในภาษาญี่ปุ่น) ต่อมาชาวจีนได้เริ่มมีการขายราเม็งตามรถเข็นพร้อมกับขายเกี๊ยวซ่าพร้อมกัน และมีการเป่าชารูเมระเพื่อเรียกลูกค้า ซึ่งในปัจจุบันได้มีการอัดเป็นเทปเปิดแทน
ราเม็งมีหลากหลายชนิดแตกต่างกันตามภูมิภาค โดยชนิดของราเม็งจะแบ่งตาม เส้นก๋วยเตี๋ยว เนื้อ และซุป สามอย่างนี้เป็นหลัก ตัวอย่างของราเม็ง ได้แก่
- ราเม็งโชยุ (ราเม็งซีอิ๊ว)
- ราเม็งมิโซะ (ราเม็งซุปเต้าเจี้ยว)
- ราเม็งชิโอะ (ราเม็งซุปเกลือ)
- ราเม็งบันชู
- ราเม็งทากายามะ
- ราเม็งโอโนมิจิ
- ราเม็งชาชู
ได้ทราบกันไปแล้วนะคะ ว่าราเม็งมีกี่ประเภทและมีอะไรบ้าง คราวหน้าถ้าได้ไปทานราเม็งอีก อย่าลืมสั่งเมนูที่เรายังไม่เคยทานมาลองทานกันดูนะคะ