“วัดพระศรีมหาธาตุ” บางเขน ได้ชื่อว่าเป็นวัดสัญลักษณ์ของ “ประชาธิปไตย” ซึ่งก่อนหน้านี้มี “ตัวเลข” ที่เกี่ยวข้องกับวัดแห่งนี้ ตั้งแต่ เลข 6-24-112 และ 2475 !!
ทำไม? ความหมายของตัวเลขเหล่านี้คืออะไร?
แรกเริ่มเดิมที “หลวงพิบูลสงคราม” หรือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น เสนอต่อที่ประชุมว่าจะขออนุมัติเงินสร้างวัดเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแห่งการปกครองในระบบประชาธิปไตย
การสร้างวัดครั้งนี้ รัฐบาลเห็นว่าควรให้เป็นงานกุศลของชาติที่ประชาชนและรัฐบาลร่วมกัน จึงติดประกาศเชิญชวนได้รับเงินบริจาค 336,535 บาท จากงบที่ประมาณไว้ 400,000 บาท
ส่วนที่ให้ชื่อว่า “วัดประชาธิปไตย” เนื่องจากทำเลที่ตั้งของวัดแห่งนี้ตั้งอยู่บน “ถนนพหลโยธิน” ซึ่งเป็นถนนที่ตัดขึ้นใหม่มีชื่อเดิมว่า “ถนนประชาธิปัตย์”
บริเวณใกล้ๆ กันนั้น เดิมมี “อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ในเหตุการณ์ “กบฏบวรเดช”
ความต้องการของรัฐบาลในขณะนั้น คือต้องการสร้างให้วัดประชาธิปไตยนี้ เป็นวัดตัวอย่างที่มีความสมบูรณ์เป็นมาตรฐานของสถาปัตยกรรมไทย และเป็นวัดที่รวมเอา “มหานิกาย” และ “ธรรมยุตินิกาย” เข้าไว้ด้วยกัน
เพื่อให้วัดพระศรีมหาธาตุเป็นวัดที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของชาติไทยในสมัยประชาธิปไตย
สิ่งที่สำคัญยิ่งประการหนึ่ง คือการอัญเชิญ “พระพุทธสิหิงค์” พระพุทธรูปสำคัญองค์ที่ 3 ของประเทศไทย รองจากพระแก้วมรกต และ พระพุทธชินราชที่พิษณุโลกมาเป็นพระประธานของวัด
เมื่อสร้างเสร็จ วัดพระศรีมหาธาตุ มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการถวายเป็นเสนาสนะ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2485 เป็นการกำหนดให้ตรงกับวันเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตยเมื่อ 10 ปีก่อน(เลข 24)
พระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นบุคคลแรกที่ทำพิธีอุปสมบทในวัดพระศรีมหาธาตุแห่งนี้
ต่อมารัฐบาลได้ส่งคณะทูตพิเศษนำโดย “นาวาเอก หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์” เดินทางไปประเทศอินเดีย เพื่อติดต่อขอพระบรมสารีริกธาตุ ดินสังเวชนียสถานทั้งสี่ และกิ่งพระศรีมหาโพธิ 5 กิ่ง เพื่อนำมาประดิษฐานที่วัดแห่งนี้ จากนั้นจึงตกลงเปลี่ยนชื่อวัดใหม่เป็น “วัดพระศรีมหาธาตุ”
สัญลักษสัญลักษณ์สำคัญที่สุดที่สะท้อนความหมายของประชาธิปไตยและคณะราษฎร คือ “พระธาตุเจดีย์” หน้าพระอุโบสถ ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากประเทศอินเดีย
เจดีย์องค์นี้สร้างเป็นเจดีย์ 2 ชั้น ชั้นนอกเป็นเจดีย์ใหญ่สูง 38 เมตร ชั้นในทำเป็นเจดีย์องค์เล็กตั้งอยู่ตรงกลาง (บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมา) มีพื้นที่ระหว่างผนังทั้ง 2 ชั้นราว 2 เมตรครึ่ง สำหรับให้เข้าไปนมัสการได้
แต่ลักษณะพิเศษแตกต่างจากพระธาตุเจดีย์ทั่วไปคือ ส่วนที่เป็นผนังด้านในของเจดีย์องค์ใหญ่ ออกแบบให้เป็นช่องจำนวน 112 ช่อง (เลข 112)
หลวงวิจิตรวาทการเสนอความเห็นในการสร้างช่องทั้ง 112 นี้ ว่าควรใช้บรรจุอัฐิของคณะราษฎร หรือบุคคลอื่นที่ทำคุณงามความดีแก่ชาติบ้านเมือง โดยยกตัวอย่าง Pantheon ในประเทศฝรั่งเศสมาเปรียบเทียบ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกับข้อเสนอใช้เป็นที่บรรจุอัฐิของผู้ที่ทำประโยชน์แก่ชาติ โดยมิได้กล่าวเจาะจงเฉพาะว่าเป็นอัฐิของคณะราษฎร
อย่างไรก็ตาม ในการปฏิบัติจริง ภายในช่องบรรจุอัฐิในพระเจดีย์ ก็ล้วนแต่บรรจุอัฐิของบุคคลที่เป็นคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองทั้งสิ้น
อาทิ จอมพล ป. พิบูลสงคราม, พระยาพหลพลพยุหเสนา, ปรีดี พนมยงค์, พลโทประยูร ภมรมนตรี, นาวาเอก หลวงศุภชลาศัย, นาวาเอก หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ฯลฯ
และในหลายช่องก็ได้ใช้เป็นที่บรรจุอัฐิของภรรยาคณะผู้ก่อการฯ ด้วย เช่น ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม เป็นต้น
นอกจากนี้ พระธาตุเจดีย์ ยังออกแบบส่วนยอดให้ไม่มีบัลลังก์ และมีจำนวนบัวกลุ่มที่ยอด 6 ชั้น (เลข 6) ซึ่งมิใช่ระเบียบโดยทั่วไปขององค์ประกอบเจดีย์
เพราะหากทำยอดเป็นบัวกลุ่ม มักจะออกแบบให้ชั้นบัวกลุ่มนี้เป็นเลขคี่ และเลขคี่ที่นิยมคือ 5, 7, 9 และ 11 การทำบัวกลุ่ม 6 ชั้น อาจจะสื่อความหมายถึง “หลัก 6 ประการ” ของคณะราษฎร
อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี