Tour Story : เรื่องราวระหว่างทัวร์

เล่าขาน ตำนานพระร่วง

เคยสงสัยเวลาไปเที่ยวสุโขทัยหรือศรีสัชนาลัย มักจะได้ยินชื่อ “พระร่วง” อยู่เสมอ วันนี้แอดเลยขอเล่าเรื่องของวีรบุรุษในตำนาน ความเชื่อของผู้คนในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง หรือภาคกลางตอนบนคนนี้ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร?

ตำนานพระร่วงนั้นมีอยู่ 2 เวอร์ชั่นด้วยกัน คือพระร่วงของเมืองสุโขทัยและพระร่วงของเมืองศรีสัชนาลัย ซึ่งมีเนื้อหาที่แตกต่างกันบ้างในรายละเอียด ดังนี้

นิทานพระร่วงของศรีสัชนาลัยนั้นได้เล่ากันว่า…

พระยาอภัยคามณีเจ้าเมืองหริภุญชัย (เมืองลำพูนปัจจุบัน) ได้เดินทางไปจำศีลบนเขาหลวงขณะเดียวกันนั้น ก็ได้มีนางนาคตนหนึ่งซึ่งจำแลงกายเป็นมนุษย์ ได้มาเที่ยวเล่นบนเขาหลวง แล้วเกิดความรักใคร่ต่อกันจนได้อยู่ด้วยกันนานถึง 7 วัน จากนั้นนางนาคได้กลับไปยังเมืองบาดาลและได้ตั้งครรภ์ขึ้นมา หลังจากนั้นได้คลอดลูกชายทิ้งไว้ในถ้ำ

ใหญ่บนเขาหลวง พร้อมด้วยแหวนและผ้าห่มที่พระยาอภัยคามณีประทานให้นางไว้ ต่อมามีตายายคู่หนึ่งซึ่งเป็นพรานป่า ได้ไปพบทารกนั้นและได้พามาเลี้ยงไว้ โดยตั้งชื่อทารกนั้นว่า “ร่วง” ต่อมาเกิดอัศจรรย์ขึ้นอย่างมากมาย โดยเฉพาะในเรื่องของการ ‘วาจาสิทธิ์’ พูดคำไหนจะเป็นดังเช่นคำพูดนั้น เมื่อเริ่มโตขึ้นตายายกลัวเด็กจะเหงาจึงได้นำเอาไม้ทองหลางมาแกะสลักเป็นตุ๊กตา แต่ด้วยอำนาจวาจาสิทธิ์ของพระร่วงทำให้ตุ๊กตานั้นเกิดมีชีวิตขึ้นมา จึงตั้งชื่อว่า “ลือ” จากนั้นทั้งคู่ก็เป็นเพื่อนเล่นกันสืบมา จากการที่เกิดเหตุอัศจรรย์ต่างๆ เมื่อความทราบถึงพระยาอภัยคามณี จึงตรัสเรียกไปทอดพระเนตร เมื่อทราบเรื่องจากสองตายายที่ไปพบและทอดพระเนตรเห็นของที่อยู่กับตัวเด็ก ก็ทราบว่าเป็นราชบุตรที่เกิดด้วยนางนาค จึงประทานนามเด็กชายร่วงว่า “อรุณกุมาร” ส่วนเด็กชายลือให้ชื่อว่า “ฤทธิ์กุมาร” เมื่อทั้งสองเติบโตเป็นหนุ่ม พระบิดาจึงสู่ขอธิดาเจ้าเมืองศรีสัชนาลัยให้อภิเษกสมรสกับอรุณกุมาร และได้ครองศรีสัชนาลัยและสุโขทัยในเวลาต่อมา ส่วนพระลือได้สมรสกับธิดาพระยาเชียงใหม่และได้ครองเมืองเชียงใหม่เช่นเดียวกัน 

อีกเรื่องหนึ่งของพระร่วงของสุโขทัยนั้นเรียกว่า “พระร่วงส่วยน้ำ” โดยเล่ากันว่า…

 มีชายชาวเมืองละโว้คนหนึ่งชื่อ “คงเครา” เป็นนายกองคุมคนส่วยน้ำสำหรับตักน้ำในทะเลชุบศร ส่งไปถวายพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ ณ เมืองขอม อยู่มานายคงเครามีลูกชายคนหนึ่งให้ชื่อว่า “ร่วง” เด็กชายร่วงนั้นเกิดเป็นผู้มีบุญด้วย “วาจาสิทธิ์” คือถ้ากล่าวอะไร ก็เป็นอย่างนั้นตั้งแต่เกิด โดยวันหนึ่งเด็กชายร่วงได้พายเรือไปในทะเลชุบศรแล้วเรือเกิดทวนน้ำ เด็กชายร่วงจึงออกปากว่า “นี่ทำไม น้ำไม่ไหลไปทางโน้นมั่ง” หลังจากคำพูดนั้นน้ำก็ไหลกลับไปดังคำพูด เมื่อครั้งนายคงเคราถึงแก่กรรม นายร่วงขึ้นเป็นนายกองส่วยน้ำแทนพ่อ นายร่วงได้เกณฑ์คนไปตักน้ำส่งส่วยตามเคย จึงคิดว่ากล่องน้ำที่ทำมานั้นหนักนัก จึงสั่งให้คนสานชะลอมมาตักน้ำแทน ด้วยวาจาสิทธิ์ทำให้สามารถใช้ชะลอมตักน้ำได้โดยน้ำไม่รั่วออกมา ข้าหลวงขอมเห็นเช่นนั้นก็รีบรับชะลอมกลับไปเมืองขอม ทูลพระเจ้าปทุมสุริยวงค์ว่า มีผู้วิเศษเกิดขึ้นที่เมืองละโว้ ด้วยทรงวิตกกลัวว่าจะเป็นขบถ จึงแต่งกองทหารให้มาจับตัวนายร่วง 

แต่นายร่วงได้ยินข่าวรู้ตัวก่อน จึงหนีออกจากเมืองละโว้ขึ้นไปยังเมืองเหนือ ไปบวชเป็นภิกษุอยู่ ณ วัดแห่งหนึ่งในเมืองสุโขทัย คนจึงเรียกกันว่า “พระร่วง” ต่อมาฝ่ายทหารขอมมาถึงเมืองละโว้ รู้ว่านายร่วงรู้ตัวและหนีขึ้นไปอยู่เมืองสุโขทัย มิรู้ว่าไปบวชเป็นพระ จึงให้พญาเดโชดำดินลอดปราการเข้าไปในเมือง เผอิญไปโผล่ขึ้นในลานวัดที่พระร่วงบวชอยู่ เวลานั้นพระร่วงกำลังลงกวาดลานวัด เห็นเข้าก็รู้ว่าขอม แต่ขอมไม่รู้จักพระร่วง จึงถามว่ารู้หรือไม่ว่า นายร่วงที่มาจากเมืองละโว้อยู่ที่ไหน พระร่วงก็ลั่นวาจาสิทธิ์ไปว่า “สู่อยู่ที่นั้นเถิด รูปจะไปบอกนายร่วง“ พอพูดจบ ขอมก็กลายเป็นหินติดคาแผ่นดินอยู่ตรงนั้น ชาวเมืองสุโขทัยรู้ว่าพระร่วงเป็นผู้มีบุญ เมื่อพระเจ้ากรุงสุโขทัยสิ้นพระชนม์ พวกเสนาอำมาตย์จึงพร้อมใจกันเชิญพระร่วงขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงพระนามว่า “พระเจ้าศรีจันทราธิบดี”

โดยในปัจจุบัน หินขอมดำดิน ถูกนำมาเก็บรักษาและจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง ส่วนบริเวณที่เชื่อกันว่าขอมดำดินโผล่ขึ้นมา ณ วัดมหาธาตุ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ก็ได้มีการทำเป็นแท่นปูนรอบไว้ให้เป็นหลักฐานของตำนานขอมดำดิน ทั้งนี้ได้มีการสร้างรูปขอมดำดินพบพระร่วง ซึ่งขณะกำลังออกผนวชไว้ ณ วัดตระพังทอง ตำบลเมืองเก่า จังหวัดสุโขทัย

เราจะได้เห็นว่าชื่อของพระร่วงนั้นเป็นนามของวีรบุรุษในตำนาน ตามความเชื่อของผู้คนในดินแดนของแคว้นสุโขทัยเดิม อีกทั้งยังปรากฏในหน้าประวัติศาสตร์อีกด้วย เช่น การเรียกชื่อของวงศ์กษัตริย์ที่สืบมาจากวงศ์พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ หรือวงศ์ตระกูลของสมเด็จพระมหาธรรมราชาก็มักถูกเรียกแบบลำลองว่า วงศ์พระร่วง นั่นเอง แม้ว่าแต่ละตำนานของพระร่วงจะแตกต่างกันออกไป แต่ชื่อของพระร่วงก็ยังเป็นที่เล่าสืบขานกันมาอย่างยาวนาน

อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี