สำหรับคนที่ต้องตื่นเช้าเพื่อไปทำงาน ไปเรียน หรือทำกิจกรรมต่างๆ ในตอนเช้า จะต้องเคยตั้งนาฬิกาปลุกกันมาแล้วแน่ๆ แล้วก็เชื่อได้เลยว่าส่วนมากจะไม่ได้ตื่นเพราะนาฬิกาปลุกเพียงแค่ครั้งเดียว แต่จะชอบตั้งปลุกไว้ห่างกันประมาณ 10 นาที เพื่อที่จะได้นอนต่อ ถึงแม้ว่าจะดูเหมือนได้นอนนานขึ้น แต่จริงๆ แล้วมีผลเสียต่อสุขภาพมากทีเดียว
การที่เราไม่ยอมตื่นโดยการตั้งนาฬิกาปลุกเพียงแค่ครั้งเดียว แต่กลับขอต่อเวลาการนอนไปเรื่อยๆ โดยการกด Snooze เพื่อเลื่อนปลุกต่อไปอีก พฤติกรรมแบบนี้นอกจากจะติดเป็นนิสัยแล้ว ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพอีกด้วยค่ะ โดยปกติแล้วระบบการทำงานของร่างกายนั้นมีเวลาทำงานของตัวมันเองอยู่แล้ว ซึ่งสิ่งที่ควบคุมการทำงานในร่างกายก็คือฮอร์โมนต่างๆ เช่น ในเวลากลางคืน ร่างกายจะหลั่งสารเมลาโทนิน (Melatonin) ออกมา ซึ่งสารเมลาโทนินนี้ก็คือฮอร์โมนที่สมองของเราสร้างขึ้นมาโดยธรรมชาติ เพื่อช่วยควบคุมการนอนและเป็นนาฬิกาชีวภาพ (Circadian Rhythm) ของร่างกาย โดยสมองจะหลั่งฮอร์โมนชนิดนี้ขึ้นมาในช่วงเวลากลางคืน ทำให้ร่างกายรู้สึกง่วงและทำให้หลับ
และก่อนที่เราจะตื่นร่างกายก็จะเตรียมความพร้อมก่อน 1 ชั่วโมง โดยที่ร่างกายจะค่อยๆ ปรับฮอร์โมนให้สูงขึ้นและหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ออกมา ซึ่งคอร์ติซอลเป็นฮอร์โมนที่ช่วยให้ร่างกายรู้สึกสดชื่น มีพลังต่อสู้ พร้อมรับมือกับปัญหาระหว่างวัน การอดนอนจะทำให้ร่างกายอ่อนแอและอยู่ในภาวะตึงเครียด ร่างกายก็จะผลิตคอร์ติซอลออกมามากเกินความจำเป็น ซึ่งส่งผลเสียต่อร่างกาย เพราะฮอร์โมนชนิดนี้มีฤทธิ์สลายกลูโคส กรดไขมัน และโปรตีนด้วย จึงทำให้ร่างกายเสื่อมเร็ว และดูแก่กว่าวัย
ดังนั้น วิธีแก้พฤติกรรมการกด Snooze นาฬิกาปลุกก็คือ เมื่อเราเริ่มรู้สึกง่วง แสดงว่าร่างกายของเราต้องการการพักผ่อนแล้ว เราควรรีบนอนพักผ่อนทันที อย่าเล่นมือถือเพลินจนรู้สึกหายง่วง ควรปิดไฟ เข้านอน เพื่อให้ร่างกายของเราได้รับการพักผ่อนอย่างเต็มที่ ไม่ต้องงัวเงียเมื่อได้ยินเสียงนาฬิกาปลุกในตอนเช้า และหากเราจำเป็นต้องตื่นเวลานี้ แต่รู้สึกว่านอนไม่พอ ไม่อยากตื่นในตอนเช้า ลองเข้านอนให้เร็วขึ้น โดยการคำนวณเวลานอนให้ได้ประมาณ 7-8 ชั่วโมง เพื่อให้เราสามารถพักผ่อนได้อย่างเพียงพอ และตื่นขึ้นมาพร้อมกับความสดชื่นกระปรี้กระเปร่านั่นเองค่ะ