กรมศิลปากรรับมอบเงินจากบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จำนวน 2 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนโครงการอนุรักษ์ประติมากรรมปูนปั้นวัดช้างรอบ อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร โดยมี ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ นายอนันต์ ชูโชติ และ นายนิติกร กรัยวิเชียร เป็นพยานรับมอบ ที่ห้องประชุมชั้น 5 กรมศิลปากร (อาคารเทเวศร์) โดยนายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่าการรักษาสืบทอดมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ จะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ตลอดจนประชาชน การสนับสนุนงบประมาณในโครงการอนุรักษ์ประติมากรรมปูนปั้นวัดช้างรอบ อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ของบริษัทไทยเบฟฯ ครั้งนี้ ถือเป็นตัวอย่างของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะเป็นพลังสำคัญในการร่วมกันอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติให้ยั่งยืนสืบไป
ส่วนแนวทางการรอนุรักษ์จะมุ่งเน้นไปที่การทำความสะอาดคราบไคลสิ่งสกปรกและวัชพืชต่าง ๆ รวมถึงการเสริมความมั่นคงของศิลาแลง อิฐ ดินเผา ลวดลายประดับตกแต่ง ชั้นปูนฉาบและชั้นปูนปั้น เป็นหลัก โดยใช้วัสดุดั้งเดิมที่ใช้สำหรับการอนุรักษ์หรือวัสดุทดแทนที่ได้รับการยอมรับตามหลักสากล ไม่เป็นอันตรายต่อโบราณสถาน ไม่ทำให้พื้นผิวของวัสดุเปลี่ยนสภาพไป และไม่ปิดกั้นการระบายความชื้นภายในเนื้อวัสดุ กรณีการปั้นซ่อมหรือเพิ่มเสริมให้ครบสมบูรณ์จะพิจารณาเฉพาะพื้นที่ที่จำเป็นเท่านั้น
สำหรับ “วัดช้างรอบ” เป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่บนเนินเขาลูกรัง นอกเมืองกำแพงเพชร ในพื้นที่เขตอรัญญิก แนวกำแพงวัดก่อด้วยศิลาแลง สิ่งก่อสร้างที่สำคัญคือ เจดีย์ประธานทรงระฆังขนาดใหญ่ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากเจดีย์ช้างล้อมในศิลปะสุโขทัย เจดีย์ประธานประกอบด้วยฐานประทักษิณสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ มีบันไดอยู่กลางด้านทั้งสี่เพื่อใช้ขึ้นไปยังลานด้านบน ส่วนของผนังฐานเจดียืประดับประติมากรรมรูป ช้างปูนปั้นจำนวน 68 เชือก ลักษณะของงานประติมากรรมของช้างปรากฏเฉพาะส่วนหัวและสองขาหน้าโผล่พ้นจากฐานประทักษิณ มีการประดับลวดลายปูนปั้นบริเวณแผงคอ มงกุฎที่ส่วนหัว กำไลโคนขาและข้อเท้า เรียกว่า “ช้างทรงเครื่อง” พื้นที่ผนังที่คั่นระหว่างช้างแต่ละเชือกมีปูนปั้นนูนต่ำลายพันธุ์พฤกษาประดับโดยรอบ
ลวดลายปูนปั้นรูปใบระกาที่ปรากฏบนแผงคอช้างมีความคล้ายคลึงกับลายชายผ้าของเทวรูปพระอิศวรสำริดที่พบยังเมืองกำแพงเพชร ซึ่งมีจารึกที่ระบุปี พ.ศ.2053 จึงสันนิฐานเปรียบเทียบอายุได้ว่าเจดีย์วัดช้างรอบนี้น่าจะสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 21
ขณะนี้ประติมากรรมรูปช้างและลวดลายปูนปั้นต่าง ๆ อยู่ในสภาพชำรุด เสี่ยงต่อการพังทลายในอนาคต จึงมีความจำเป็นต้องอนุรักษ์อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ กรมศิลปากร โดยอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย และกลุ่มอนุรักษ์จิตรกรรมประติมากรรม กองโบราณคดี จึงได้ร่วมกันจัดทำแนวทางการดำเนินงานอนุรักษ์ประติมากรรมรูปช้างและลวดลายปูนปั้นประดับวัดช้างรอบ อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จในปี 2565
อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี