ใครมีโอกาสผ่านไปยังมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ตรงข้ามพระบรมมหาราชวัง ถนนหน้าพระลาน จะเห็นว่าทางมหาวิทยาลัยทำการปรับปรุงพื้นที่ภายในอยู่หลายอาคาร หลายส่วนด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือ “สวนแก้ว” สวนประติมากรรมกลางแจ้งที่จัดแสดงผลงานของเหล่าศิลปินชั้นครู ตั้งแต่อาจารย์ศิลป์ พีระศรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากรคนแรก ไปจนถึงอาจารย์เขียน ยิ้มศิริ, มีเซียม ยิบอินซอย, อาจารย์ชลูด นิ่มเสมอ เป็นต้น
หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า “สวนแก้ว-พิพิธภัณฑ์ศิลปะกลางแจ้ง” มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระแห่งนี้ จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์มาตั้งแต่ พ.ศ.2532 เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมและบรรยากาศศิลปะอันงดงามในบริเวณมหาวิทยาลัยนี้ ฉะนั้น ผลงานประติมากรรมที่ติดตั้งอยู่ในบริเวณสวนแก้วจึงล้วนเป็นผลงานศิลปกรรมของศิลปินชั้นครูคนสำคัญของไทย เพื่อให้สมศักดิ์ศรีความเป็นมหาวิทยาลัยด้านศิลปะของประเทศ
สำหรับ “วังท่าพระ” อันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยศิลปากร เดิมเป็นวังของเจ้านายคือเริ่มแรกนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 โปรดให้สร้างวังนี้พระราชทานให้พระราชนัดดา คือ เจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรานุชิต หรือ เจ้าฟ้าเหม็น พระราชโอรสในพระเจ้าตากสินมหาราช ต่อมาเป็นที่ประทับของรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ก่อนจะเป็นที่ประทับของพระราชโอรสทั้งสามพระองค์ของรัชกาลที่ 3 กระทั่งสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 4 ประทับที่วังนี้เป็นองค์สุดท้าย ก่อนจะย้ายไปประทับที่พระตำหนักบ้านปลายเนิน แล้วโปรดให้ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ใช้พื้นที่สร้างเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากรขึ้น ฉะนั้น จึงเป็นคำสร้อยที่เรียกกันว่า มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ
ส่วน “สวนแก้ว” นั้น เป็นสวนเล็กๆ เก่าแก่มาตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 3 ปลูกพันธุ์ไม้หลากหลายชนิด แต่จะมีต้นแก้วปลูกมากกว่าพันธุ์อื่นจึงเรียก สวนแก้ว ในอดีตที่ผ่านมาบรรดาเจ้านายโปรดเสด็จประทับชมการแสดง หรือการประชันดนตรีไทยเดิมที่มีชื่อเสียง ซึ่งจัดขึ้นในสวนนี้ที่ศาลาในสวนแก้ว เรียก “ศาลาดนตรี” วังท่าพระเองก็มีวงดนตรีประจำวังและยังมีชื่อเสียงโด่งดังอีกด้วย
เมื่อล่วงมาถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยศิลปากรได้พัฒนาสวนแก้วเป็นสถานที่แสดงงานศิลปะกลางแจ้ง โดยรวบรวมผลงานประติมากรรมชั้นเยี่ยมอันทรงคุณค่าของศิลปินชั้นครูมาจัดแสดงเป็นการถาวรในสวนแห่งนี้ อาทิ งานชิ้นเอก “แม่กับลูก” โดยอาจารย์เขียน ยิ้มศิริ ถ่ายทอดความรู้สึกผูกพันระหว่างแม่ผู้ให้กำเนิดกับลูกของตัวเอง ด้วยการบรรจงสร้างให้วงแขนที่โอบอุ้มลูกเป็นสัญลักษณ์ของความอบอุ่นและการปกป้อง หรือ ประติมากรรม “เริงระบำ” เป็นท่วงท่าการร่ายรำแบบไทยกับตะวันตกได้อย่างกลมกลืนและมีชีวิตชีวา
ในสวนแก้วยังมีงานประติมากรรมอีกหลายชิ้นงานที่ล้วนแต่เยี่ยมยอด ทรงคุณค่า ถ้ายังไม่เคยเข้าไปชม ต้องไป! โดยเฉพาะคนรักงานศิลปะ ห้ามพลาด!!
อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี