เป็นงานศึกษาของ “ประกาศิต ประกอบผล” และ “จิระศักดิ์ สังเมฆ” คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จังหวัดปทุมธานี และได้ตีพิมพ์ในวารสารวไลยอลงกรณ์ปริทัศน์ (มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์) ความว่า… ในเทศกาลวันสงกรานต์หรือวันขึ้นปีใหม่ไทย มีเรื่องเล่าเป็นตำนานสงกรานต์ที่มีคติแฝงเป็นเนื้อในไว้ให้ได้เรียนรู้เรื่องราวชีวิตของคนที่อยู่ร่วมกันในสังคม ผ่านตัวละครและกิจกรรม ดังนี้…
ตำนานสงกรานต์กล่าวถึง “ธรรมบาลกุมาร” (ลูกของมหาเศรษฐีที่รู้ภาษานก เรียนจบไตรเพท ถูกท้าวกบิลพรหมองค์หนึ่งลงมาถามปัญหาธรรม 3 ข้อ ถ้าแก้ปัญหาได้ ท้าวกบิลพรหมจะตัดศีรษะของตนบูชา ถ้าแก้ไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมาร ในที่สุดท้าวกบิลพรหมแพ้ ถูกตัดศรีษะ)
ปริศนาธรรมที่ซ่อนอยู่
“ธรรมบาลกุมาร” คือ เด็กมีความเป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์ที่ผู้ใหญ่ควรให้ความคุ้มครอง ส่วน “ท้าวกบิลพรหม” คือ ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ หรือ พรหมวิหารธรรม 4 ประการ
นางสงกรานต์ คือ บุตรธิดาที่ต้องตอบแทนคุณบิดามารดา ทางกาย และทางใจ
น้ำ เป็นสิ่งแทนคุณธรรมหลายประการ เช่น ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความสามัคคี ความซื่อตรง เป็นต้น สังคมต้องมีน้ำใจ สาด ราด รดน้ำธรรมให้แก่กัน
ความหมายโดยรวมก็คือ…
ในเทศกาลวันสงกรานต์ หรือวันขึ้นปีใหม่ไทย มีคติแฝงเป็นเนื้อในไว้ให้ได้เรียนรู้เรื่องราวชีวิตของคนและการอยู่ร่วมกันในสังคมของคนแต่ละช่วงวัย
โดยผู้ใหญ่รู้จักให้ความสำคัญแก่เด็กและเยาวชน ส่วนเด็กเยาวชนและบุคคลทั่วไปก็ต้องให้ความเคารพบิดามารดาและผู้สูงอายุทั้งหลาย
บุคคลควรเข้าใจชีวิต ว่ามีส่วนประกอบมาจากธรรมชาติ ประสานกันเกิดเป็นความรู้สึก ความอยาก การกระทำ และยึดติด เป็นต้น
จึงควรดำเนินชีวิตบนฐานแห่งสติปัญญา เข้าใจกฎแห่งธรรมชาติ เข้าใจสังคมที่ต้องเอื้ออาทรพึ่งพาอาศัยกัน มีน้ำใจต่อกัน รู้จักสร้างประโยชน์ให้ส่วนรวม สร้างสรรค์สังคมให้น่าอยู่ ส่วนตนนั้นต้องเข้าใจชีวิต ประพฤติปฏิบัติธรรมอันถูกต้อง ประคับประคองชีวิตด้วยสติปัญญา ดับความเร่าร้อนภายในได้ พัฒนาชีวิตให้ดำเนินไปสู่เป้าหมายที่ควรเข้าถึง คือ พระนิพพาน
อัพเดตเรื่องราวทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้ที่ เพจเฟซบุ๊กทัวร์มติชนอคาเดมี